วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559

วิธีอยู่กับโลก


                มีสิ่งแวดล้อมอยู่ชนิดหนึ่งที่วนเวียนอยู่กับโลกนี้ และส่งผลกระทบต่อมนุษย์โดยตรง ยากที่ใครจะหลีกเลี่ยงได้ สิ่งแวดล้อมชนิดนี้เรียกว่า “โลกธรรม” แปลว่า สิ่งที่มีอยู่ประจำโลกซึ่งมีอยู่ด้วยกัน แปดอย่าง ได้แก่ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข และทุกข์ สำหรับมนุษย์เรานั้น เมื่อกระทบกับโลกธรรมแล้วก็มักจะตั้งรับด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ อย่างนี้
                ๑. ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือเมื่อได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ และได้สุข ก็ปล่อยใจให้เพลิดเพลิน กับสิ่งที่ได้รับ และเมื่อประสบกับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา และได้รับทุกข์ ก็ปล่อยให้จิตใจห่อเหี่ยวเศร้าสร้อย ไม่ได้คิดที่จะทำจิตให้เข้มแข็งแต่อย่างใด การตั้งรับแบบนี้ จะต้องตกอยู่ในวงเวียนแห่งความดีใจและเสียใจตลอดเวลา และถ้าผู้ประสบกับโลกธรรมนั้นเป็นหัวหน้าคนด้วยแล้ว ก็ย่อมจะพลอยทำให้คนอื่นวุ่นวายไปด้วย
                ๒. ปล่อยไปตามธรรมชาติแต่ตีกรอบเฉพาะที่จิตใจตนเอง การตั้งรับโลกธรรมวิธีนี้ย่อมให้โลกธรรมครอบงำใจได้คือยังดีใจเสียใจอยู่ เพียงแต่ไม่แสดงความรู้สึกออกมา คงรักษาอากัปกิริยาไว้ด้วยท่าทีหนักแน่นสงบนิ่ง ผู้ตั้งรับโลกธรรมด้วยวิธีนี้อาจจะวุ่นวายไปกับโลกบ้าง แต่ไม่มากนัก ซึ่งก็น่าชมเชยกว่าบุคคลในข้อแรก
                ๓. ปรับจิตใจให้ยอมรับความจริง การตั้งรับโลกธรรมโดยวิธีนี้สอดคล้องกับหลักธรรมที่ว่า โลกธรรมนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเอง ไม่จีรังยั่งยืน ไม่ใช่ของที่ควรยึดมั่นถือมั่น เมื่อปรับจิตใจได้เช่นนี้โลกธรรมก็ไม่สามารถครอบงำได้อีกต่อไป เขาจึงสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขในทุกสถานการณ์ และพลอยทำให้คนอื่นได้ปกติสุขนั้นไปด้วย บุคคลในประเภทนี้ย่อมมีคุณค่าน่าชมเชยมากกว่าบุคคลในสองประเภทข้างต้น
                คนที่ปรับจิตใจให้ยอมรับความจริงได้เช่นนี้ จะพบแต่ความปลอดโปร่ง ความเป็นอิสระทางจิตใจ อันเป็นมงคลของชีวิตประการหนึ่ง ดังมีคำพระท่านว่า
                “จิตของผู้ใด กระทบโลกธรรมแล้ว ไม่เศร้าโศก ไม่เศร้าหมอง มีความปลอดโปร่ง นั่นแหละคือ อุดมมงคล”

....................................