วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2559

บันได


                ในการปลูกอาคารบ้านเรือน หรือตึกชั้นสูงๆ สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยนั่นก็คือ บันไดขึ้น-ลง ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าไปมาก การก่อสร้างอาคารหรือตึกชั้นสูงๆ มักจะติดลิฟต์เพื่อความสะดวกรวดเร็วและประหยัดเวลาในการขึ้น-ลงก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็แฝงไปด้วยอันตราย เช่น ถ้าไฟดับลิฟต์ค้างต้องติดอยู่ข้างใน ดีไม่ดีอาจถึงตายได้ เมื่อบันไดมีไว้สำหรับขึ้น-ลง ผู้ใช้บันไดก็ต้องมีความระมัดระวังในการใช้ คือถ้าเดินไม่ระมัดระวังมัวแต่ไปมองทางอื่นก็อาจจะสะดุดบันได้ทำให้ได้รับบาดเจ็บหรือตกบันได บางคนเกิดคึกคะนองแทนที่จะขึ้น-ลงทีละขั้น แต่กลับก้าวกระโดดข้ามขั้น จึงมีโอกาสถึงที่หมายได้เร็วเท่าๆ กับมีโอกาสตกบันไดได้ง่ายด้วย
                ในการดำเนินชีวิตของคนเราก็เหมือนกันการก้าวขึ้นสู่บันได พระพุทธศาสนาได้แบ่งชีวิตของคนออกเป็นสามขั้น สามวัยด้วยกันคือ
                ๑.ปฐมวัย กำหนดช่วงอายุตั้งแต่ ๑-๒๕ ปี เป็นวัยที่เน้นหนักไปในการแสวงหาวิชาความรู้ เพื่อเป็นหลักประกันในการประกอบอาชีพ ทำงานเลี้ยงชีวิต
                ๒. มัชฌิมวัย กำหนดช่วงอายุตั้งแต่ ๒๖-๕๐ ปี เป็นวัยที่เน้นหนักไปในการทำงานตั้งเนื้อตั้งตัวสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ชีวิต เพื่อเป็นหลักประกันในยามชรา
                ๓.ปัจฉิมวัย กำหนดช่วงอายุตั้งแต่ ๕๑-๑๐๐ ปี เป็นวัยที่เน้นหนักไปในการทำบุญทำกุศล สร้างคุณงามความดี เพื่อเป็นหลักประกันในสัมปรายภพ
                ถ้าเราปฏิบัติหน้าที่ของชีวิตแต่ละวัยไม่ถูกต้องตามขั้นตอนในทางพระพุทธศาสนา ไปข้ามขั้นหรือผิดขั้น เช่น ปฐมวัยไปเน้นหนักการทำงานแทนที่จะตั้งหน้าเรียนรู้ หาวิชา หรือปัจฉิมวัยร่างกายและสมองอ่อนล้าแล้ว แต่กลับไปมุ่งเรียนวิชาแทนที่จะตั้งใจสร้างบุญสร้างกุศล โอกาสที่จะพลัดตกบันไดชีวิตก็มีมาก แต่ทั้งหมดก็มิได้หมายความว่าห้ามทำหน้าที่ผิดวัยไปเสียทั้งหมด กล่าวคือ ปฐมวัยจะทำบุญกุศลก็ได้ แต่การแสวงหาวิชาความรู้ต้องเป็นหลัก มัชฌิมวัยจะเรียนวิชาก็ได้แต่การทำงานตั้งตัวต้องเป็นหลัก
                ถ้าเราดำเนินชีวิตถูกต้องตามขั้นตอนดังกล่าว ก็มั่นใจได้ว่า ชีวิตแต่ละวัยจะมีหลักประกันที่มั่นคง เหมือนการเดินขึ้นบันได้ด้วยความระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา

............................................