วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ปัจจัย ๕


                คำว่า “ปัจจัย” มีความหมายหลายอย่าง เช่น หนทาง หรือเหตุให้เกิดผลก็ได้ เช่น การศึกษา เป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ความสามารถ หมายถึงเครื่องอาศัยยังชีพที่จำเป็นก็ได้ เช่น ปัจจัยสี่ คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค หรือโดยปริยาย หมายถึงเงินตรา
                คำว่า “ปัจจัย” ที่หมายถึงเครื่องอาศัยยังชีพนั้น แต่เดิมคำสอนที่มุ่งประสงค์สำหรับผู้บวชในพระพุทธศาสนา ได้ถือเป็นหลักปฏิบัติโดยตรง เพื่อตัดภาระในการดำรงชีพให้มีน้อยที่สุด มิได้สอนสำหรับคฤหัสถ์หรือชาวบ้านซึ่งต้องครองเรือน มีครอบครัว ทำธุรกิจการงานต่างๆ แต่อย่างใด เพราะฉะนั้นการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน จึงสามารถมีเครื่องอาศัยยังชีพที่สำคัญซึ่งเป็นปัจจัยที่ ๕ ของชีวิตได้
                ปัจจุบันมีเครื่องอุปโภคบริโภคนานาชนิด ที่ผู้ขายพยายามโฆษณาให้เห็นสรรพคุณว่าเป็นสิ่งจำเป็น สมควรยอมรับว่าเป็นปัจจัยที่ ๕ ของชีวิต เช่น รถยนต์ โทรศัพท์ โทรทัศน์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันว่าเครื่องอุปโภคบริโภคประเภทใดสมควรได้รับการยอมรับว่าเป็นปัจจัยที่ ๕ ของชีวิตอย่างแท้จริง
                แม้ในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาจะไม่ได้ระบุว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ ๕ สำหรับชีวิตคฤหัสถ์ หรือชาวบ้านแต่ท่านพุทธทาสภิกขุ พระนักคิด นักเขียน นักปรัชญา และเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาได้ให้ข้อคิดว่า “ธรรมะ” ถือเป็นปัจจัยที่ ๕ ของชีวิตทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ เพราะธรรมะทำให้คนไม่เบียดเบียนกัน ธรรมะทำให้คนสงเคราะห์เกื้อกูลกันในทางที่ถูก ธรรมะทำให้คนดำรงตนอยู่ในแนวทางที่ไม่ผิดพลาด กล่าวโดยรวบยอด ธรรมะทำให้คนประเสริฐกว่าสัตว์เดรัจฉาน ธรรมะจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นแก่ทุกคนทุกครอบครัว ทุกสังคม ทุกชาติภาษา และทุกยุคทุกสมัย ทั้งในการดำรงชีวิต การดำเนินธุรกิจการงาน และการใช้สอยเครื่องอุปโภคบริโภคประจำวัน หากขาด “ธรรมะ” เสียแล้ว ย่อมส่งผลให้เป็นทุกข์ วุ่นวาย และเดือดร้อนทั่วไป อย่างปฏิเสธไม่ได้
                แม้เราจะมีปัจจัย ๔ อย่างสมบูรณ์เหลือเฟือ แต่ถ้าไม่มีธรรมะเป็นปัจจัยที่ ๕ เสียแล้ว ปัจจัย ๔ หรือปัจจัยอีกกี่ร้อยกี่พันก็ไร้ค่า เพราะเราจะหาความสุขจากปัจจัยเหล่านั้นไม่ได้เลย

.............................................