วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ตักบาตร


                การตักบาตร คือการเอาข้าวและกับข้าวใส่ลงไปในบาตรของพระภิกษุสามเณร เราจะตักบาตรเป็นประจำทุกวันหรือเฉพาะวันพระหรือวันคล้ายวันเกิดของตนก็แล้วแต่ศรัทธา กำลังทรัพย์และความสะดวกของตน
                การทำบุญตักบาตร เป็นกิจที่ชาวพุทธนิยมทำกัน เป็นการช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เพราะพระภิกษุสามเณรเป็นผู้สละโลก ไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากจะปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อขัดเกลาตนเองและนำความรู้ไปแนะนำสั่งสอนพุทธศาสนิกชนให้ประพฤติดีละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้สะอาดผ่องใส
                การทำบุญตักบาตรที่ถือว่าได้บุญมากนั้นจะต้องมีองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ
                ๑. วัตถุสิ่งของสำหรับทำบุญต้องบริสุทธิ์ หมายความว่า เงินทองที่นำมาจับจ่ายซื้อสิ่งของมาทำบุญต้องได้มาด้วยความสุจริต ไม่คดโกงหรือขโมยใครมา เป็นของบริสุทธิ์ ไม่ได้เบียดเบียนชีวิตสัตว์ คือไม่ได้ฆ่าสัตว์มาทำบุญ และวัตถุที่นำมาทำบุญนิยมคัดเลือกของที่มีคุณภาพดี อย่างน้อยก็ไม่เลวกว่าที่เรากินเราใช้อยู่เป็นปกติ ชาวพุทธเมื่อจะใส่บาตรจึงนิยมตักบาตรด้วยข้าวปากหม้อ ถ้าเป็นแกงก็แกงถ้วยแรกที่ตักจากหม้อ
                ๒. เจตนาของผู้ถวายต้องบริสุทธิ์ หมายความว่า เจตนาต้องบริสุทธิ์ทั้ง ๓ ขณะ คือ ก่อนให้ก็ต้องมีจิตศรัทธา เลื่อมใส กำลังให้ก็มีจิตใจผ่องใส ให้ด้วยความเคารพ และหลังจากให้แล้วก็มีจิตใจแช่มชื่น ไม่นึกเสียดาย
                ๓. ผู้รับเป็นผู้มีศีล หมายความว่า บริจาคให้แก่ผู้มีศีลมีคุณธรรม เรานิยมถวายอาหารและสิ่งของแก่พระภิกษุสามเณร เพราะท่านเป็นผู้ทรงศีล พระพุทธเจ้าทรงเปรียบพระภิกษุสามเณรผู้มีศีลว่า เป็นบุญเขต แปลว่า นาบุญ ดังบทสรรเสริญพระสังฆคุณว่า อนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของชาวโลก
                การทำบุญด้วยการตักบาตรหรือบริจาคทานในโอกาสใดๆ ก็ตาม ถ้าบริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการ ดังกล่าวมานี้ ก็จะได้บุญเต็มเปี่ยม คือผู้ให้ก็สบายใจ ชื่นใจ นอกจากจะได้สงเคราะห์ผู้รับให้มีกำลังทำความดีต่อไปแล้ว ยังเป็นการขัดเกลาขจัดความตระหนี่ของตนเองด้วย ฝ่ายผู้รับเมื่อได้รับการสนับสนุนเช่นนี้ ก็จะมีกำลังในการทำความดีได้โดยสะดวก เป็นอันว่าได้ช่วยกันสร้างสรรค์ความดีงามให้เกิดขึ้นและแผ่ขยายในวงกว้างต่อๆ ไปด้วย

........................................