วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การขอที่ไม่น่าละอาย


                ธรรมชาติของคนที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ไม่ชอบให้ใครมาขอและตนเองก็ไม่ชอบขอใคร คนเราส่วนใหญ่ต้องการรับ ไม่ต้องการให้ หากมีใครมาขอจะหงุดหงิดรำคาญใจ รู้สึกว่านั่นหมายถึงการสูญเสีย หรือบางคราวก็ให้ด้วยความจำใจแบบเสียไม่ได้ โดยปกติคนเราหากไม่เหลือบ่ากว่าแรงหรือจำเป็นจริงๆ ก็จะไม่ขอใคร นั่นเป็นเพราะความละอาย กลัวผู้ถูกขอจะนึกตำหนิต่างๆ นานา อาจถูกว่ายากจนบ้างล่ะ ยากจนมากหรือ ไม่มีปัญญาหาเลี้ยงชีพแล้วหรือ อะไรประมาณนี้ จึงมีคำสอนเตือนใจเกี่ยวกับการขอไว้ว่า “จะยากจนเพียงใดก็ไม่ขอใครกิน หรืออดอย่าเสือดีกว่าอิ่มอย่างสุนัข ผู้ขอย่อมไม่เป็นที่พอใจของผู้ถูกขอ”
                แต่มีการขอชนิดหนึ่งที่เราไม่ควรมองข้าม ไม่ใช่สิ่งที่น่าละอาย และไม่เป็นเครื่องหมายของความยากจน คือการขออภัย การให้ที่ไม่ต้องสิ้นเปลืองสิ่งใด ก็คือการให้อภัย
                การขออภัย เป็นการสำนึกในความผิดพลาดของตนที่ได้พลาดพลั้งไปแล้ว การให้อภัย เป็นการรับรู้ความผิดของผู้อื่นแล้วไม่ถือโทษ ผู้ที่อยู่ร่วมกันก็ต้องมีความพลาดพลั้งล่วงเกินกันบ้างเป็นธรรมดา แต่เมื่อพลาดพลั้งไปแล้วก็ไม่ควรจะละเลยหรือถือเป็นเรื่องเล็กน้อย ควรรีบขออภัยหรือขอโทษทันที ส่วนผู้ถูกล่วงเกินก็เช่นเดียวกัน เมื่อรับการขออภัยหรือขอโทษแล้ว ก็ไม่ควรจะผูกโกรธ การให้อภัยในความผิดพลาดของกันและกันแสดงถึงความเป็นผู้มีจิตใจสูง ประกอบด้วยเมตตา เป็นสุภาพชน
                นอกจากนี้ การให้อภัยนั้น ยังถือเป็นการให้ทานอย่างหนึ่ง เรียกว่า อภัยทาน พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญว่า เป็นทานอย่างสูง เพราะเป็นการให้ที่ชำระใจให้บริสุทธิ์ ปราศจากความพยาบาทจองเวร เป็นอโหสิกรรม คือไม่มีเวรภัยต่อกันและกัน ให้ยุติลงแค่นั้น ฉะนั้นการขออภัยและการให้อภัยนี้จึงเป็นคุณธรรมที่ควรปฏิบัติสำหรับทุกๆ คน

........................................