วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

อื่นๆ จากในเล่่ม

สิ่งที่รู้จักยากที่สุด
สิ่งรู้จักยากที่สุดกว่าสิ่งใด ไม่มีสิ่งไหนไหนได้ยากเท่า
สิ่งนั้นคือตังเองหรือตัวเรา ที่คนเขลาหลงว่ากูรู้จักดี
ที่พระดื้อเณรดื้อและเด็กดื้อ ไม่มีรื้อมีสร่างอย่างหมุนจี๋
เพราะความรู้เรื่องตัวกูมันไม่มี หรือมีอย่างไม่มีที่ถูกตรง
อันตัวกูของกูที่รู้สึก เป็นตัวลวงเหลือลึกให้คนหลง
ส่วนตัวธรรมเป็นตัวจริงที่ยิ่งยง หมดความหลงรู้ตัวธรรมล้ำเลิศตน ฯ

ตัวกู – ตัวสู
อันความจริง “ตัวกู” มีได้มี แต่พอเผลมันเป็นผีโผล่มาได้
พอหายเผลอ “ตัวกู” ก็หายไป หมด “ตัวกู” เสียได้ เป็นเรื่องดี
สหายเอ๋ยจงถอนซึ่ง “ตัวกู” และถอนทั้ง “ตัวสู” อย่างเต็มที่
มีกันแต่ปัญญาและปราณี หน้าที่ใครทำให้ดีเท่านี้เอย ฯ

เรียนธรรมะ
เรียนธรรมะอย่างตะกละให้เกินเหตุ จะเป็นเปรตหิวปราชญ์เกินคาดหวัง
อย่างเรียนอย่างปรัชญามัวบ้าดัง เรียนกระทั่งตายเปล่าไม่เข้ารอย
เรียนธรรมะต้องเรียนอย่างธรรมะ เรียนเพื่อสละทุกข์ใหญ่ไม่ท้อถอย
เรียนที่ทุกข์ที่มีจริงยิ่งเข้ารอย ไม่เลื่อนลอยมองให้เห็นตามเป็นจริง
ต้องตั้งต้นการเรียนที่หูตา ฯลฯ สัมผัสแล้วเกิดเวทนาตัณหาวิ่ง
ขึ้นมาอยากเกิดผู้อยากเป็นปากปลิง “เรียนรู้ยิง ตัณหาดับ นับว่าพอ ฯ”

แนวทางทำให้รู้แจ้งตามวิธีธรรมชาติ (ความหมายของคำจากธรรมะ)
ติและปราโมทย์ ความอิ่มใจในธรรม
ปัสสัทธิ ความรำงับ
สมาธิ จิตสงบ
ยถาภูตญาณทัสสนะ รู้ความเป็นจริงต่อโลก
นิพพิทา ความเบื่อหน่าย
วิราคะ ความคลายออก
วิมุตติ ความหลุดออก
วิสุทธิ ความบริสุทธิ์ไม่เศร้าหมอง
สันติ ความสงบเย็น
นิพพาน ภาระที่ปราศจากความทุกข์

สีลวีสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล
จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต
ทิฏฐิวิสุทธิ์ ความหมดจดแห่งความเห็น
กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความรู้เป็นเครื่องข้ามความสงสัย
มัคคามัคคญาณทัสสนวิทสุทธิ ความหมดจดแห่งความรู้ความเห็นที่ว่าเป็นทางหรือไม่ใช่ทาง
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความรู้ความเห็นทาง ทางปฏิบัติ
อุทยัพพยนุปัสสนาญาณ เห็นความเกิดและความดับสลาย
ภังคานุปัสสนาญาณ เห็นความสลายโดยส่วนเดียว
ภยตุปัฏฐานญาณ เห็นภาวะทั้งหลายเต็มไปด้วยความน่ากลัว
อาทีนวนุปัสสนาญาณ เห็นควมมเต็มไปด้วยโทษทุกข์ภัย
นิพพิทานปัสสนาญาณ เห็นความเบื่อหน่ายใสสิ่งทั้งหลายทั้งปวง
มุญจิตุกัมมยตาญาณ ความรู้ซึ้งทำให้เกิดความใครอย่างแรงกล้าที่จะพ้นทุกข์
ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ความรู้ทางพ้นทุกข์นั้นๆ
สังขารุเปกขาญาณ ความรู้เป็นเครื่องปล่อยวางเฉย
สัจจานุโลมิกญาณ ความรู้ควรแก่การรู้อริยสัจจ์
ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความรู้ ความเห็นที่ถูกต้อง -อริยมรรค -อริยผล


เรียนธรรมะ กับ เรียนปรัชญา
เรียนอะไรถ้าเรียนอย่างปรัชญา ที่เทียบกับคำว่า ฟิโลโซฟี่
ยิ่งพลาดจากธรรมะที่ควรมี เพราะเหตุที่ยิ่งเรียนไปยิ่งไม่ซึม
เพราะเรียนอย่างคำนวณสิ่งไม่มีตัว สมมติฐานเอาในหัวอย่างครื้มครื่ม
อุปมานอนุมาฯสร้านทึมทึม ผลออกมางึมงึมงับเอาไป
เรียนธรรมะมีวิถีวิทยาศาสตร์ มีตัวธรรมที่สามารถเห็นชัดใส
ไม่คำนวณหาแต่มองลองด้วยใจ ส่องลงได้ตามที่อาจฉลาดมอง
จะส่วนเหตุหรือส่วนผลยลประจักษ์ เห็นตระหนักว่าอะไรอย่างไรสนอง
แก่คำถามแจ้งถนัดซัดทำนอง ตามที่ต้องปฏิบัติซัดลงไป ฯ

ยาระงับสรรพทุกข์
ต้น “ไม่รู้-ไม่ชี้” นี่เอาเปลือก ต้น “ชั่งหัวมัน” นั้นเลือกเอาแก่นแข็ง
“อย่างนั้นเอง” เอาแต่ราก ฤทธิ์มันแรง “ไม่มีกู-ของกู” แสวงเอาแต่ใบ
“ไม่น่าเอา-น่าเป็น” เฟ้นเอาดอก “ตายก่อนตาย” เลือกออกลูกใหญ่ๆ
หกอย่างนี้อย่างละชั่งตั้งเกณฑ์ไว้ “ดับไม่เหลือ” สิ่งสุดท้ายใช้เมล็ดมัน
หนักหกชั่งเท่ากับยาทั้งหลาย เคล้ากันไปเสกคาถาที่อาถรรพ์
“สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย” อัน เป็นธรรมชั้นหฤทัยในพุทธนาม
จัดลงหม้อใส่น้ำพอท่วมยา เคี่ยวไฟกล้าเหลือได้หนึ่งในสาม
หนึ่งช้อนชาสามเวลาพยายาม กินเพื่อความหมดสรรพโรคเป็นโลกอุดรฯ

ผู้ดับไม่เหลือ
อย่างเข้าใจ ไปว่า ต้องเรียนมาก ต้องปฏิบัติ ลำบาก จึงพ้นได้
ถ้ารู้จริง ส่งเดียว ก็ง่ายดาย รู้ดับให้ ไม่มีเหลือ เชื่อก็ลอง
เมื่อเจ็บไข้ ความตาย จะมาถึง อย่างพรั่นพรึง หวดไหว ให้หม่นหมอง
ระวัง ดีดี นาทีทอง คอยจดจ้อง ให้ตรงจุด หลุดให้ทัน
ถึงนาที สุดท้าย อย่าให้พลาด ตั้งสติ ไม่ประมาท เพื่อดับขันธ์
ด้วยจิตว่าง ปล่อยวาง ทุกสิ่งอัน สารพัน ไม่ยึดครอง เป็นของเรา
ตกกะได พลอยโจน ให้ดีดี จะถึงที่ มุ่งหมาย ได้ง่ายเข้า
สมัครใจ ดับไม่เหลือ เมื่อไม่เอา ก็ดับ “เรา” ดับตน ดลนิพพาน

เป็นมนุษย์หรือเป็นคน
เป็นมนุษย์ เป็นได้ เพราะใจสูง เหมือนหนึ่งยูง มีดี ที่แววขน
ถ้าใจต่ำ เป็นได้ แต่เพียงคน ย่อมเสียที ที่ตน ได้เกิดมา
ใจสะอาด ใจสว่าง ใจสงบ ถ้ามีครบ ควรเรียก มนุสสา
เพราะทำถูก พูดถูก ทุกเวลา เปรมปรีดา คืนวัน สุขสันติ์จริง
ใจสกปรก มืดมัว และร้อนเร่า ใครมีเข้า ควรเรียก ว่าผีสิง
เพราะพูดผิด ทำผิด จิตประวิง แต่ในสิ่ง นำตัว กลั้วอบาย
คิดดูเถิด ถ้าใคร ไม่อยากตก จงรีบยก ใจตน รีบขวนขวาย
ให้ใจสูง เสียได้ ก่อนตัวตาย ก็สมหมาย ที่เกิดมา อย่าเชือนเอย ฯ

            --------------