วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555

๗ การทำให้รู้แจ้งตามวิธีธรรมชาติ

ในบทนี้ จะบอกให้ทราบต่อไปว่า สมาธิอาจจะมีได้โดยทางธรรมชาติอย่างหนึ่ง และจากการปฏิบัติตามหลักวิชา โดยเฉพาะอีกอย่างหนึ่ง มีผลอย่างเดียวกันคือเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ก็นำไปเพ่งพิจารณา (วิปัสสนา)
๑๙๗
แต่มีข้อควรสังเกตอย่างหนึ่งว่า สมาธิที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินั้น มันมักจะพอเหมะพอสมแก่กำลังของปัญญาที่จะให้ทำการพิจารณา ส่วนสมาธิที่เกิดจากการฝึกตามหลักวิชาการนั้น มันมักจะเป็นสมาธิที่มากเกินไป หรือเหลือใช้และยังเป็นเหตุให้คนหลงผิดพอใจเพียงแค่สมาธินั้นก็ได้ เพราะว่าในขณะที่จิตเป็นสมาธิเต็มที่นั้น ย่อมเป็นความสุข ความสบายชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดความพอใจจนถึงกับหลงติดหรือหลงคิดว่าเป็นมรรคเป็นผล โดยเหตุนี้ สมาธิที่เป็นไปตามทางธรรมชาติที่พอเหมะพอสมกับการใช้พิจาณานั้นจึงไม่เสียหลายไม่เสียเปรียบสมาธิตามแบบที่ฝึกตามแนววิธีเทคนิคนัก ขอแต่เพียงให้รู้จักประคับประคองทำให้สมาธิเกิดและให้เป็นไปด้วยดีก็แล้วกัน
๑๙๘
ข้อความต่างๆ ในพระไตรปิฎก ก็มีเล่าถึงแต่เรื่องการบรรลุมรรคผลทุกชั้นตามวิธีธรรมชาติ ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเอง หรือต่อหน้าท่านที่สั่งสอนคนอื่นๆ โดยไม่ได้ไปสู่ป่านั่งทำความเพียรอย่างมีพิธีรีตองกำหนดเพ่งอะไรต่างๆ ตามอย่างในคัมภีร์ต่างกันใหม่ในชั้นหลังๆ โดยเฉพาะในกรณีแห่งการบรรลุอรหัตตผลของภิกษุปัญจวัคคีย์ หรือฤๅษี ๑,๐๐๐ รูป ด้วยการนั่งฟังอนัตตลักขณสูตร และอทิตตปริยายสูตรด้วยแล้ว จะยิ่งเห็นว่าไม่มีการพยายามตามหลักวิชาใดๆ เลย แต่เป็นการเห็นแจ้งแทงตลอดตามวิธีของธรรมชาติแท้ๆ
๑๙๙
นี่เป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเข้าใจได้ดีว่า สมาธิตามธรรมชาตินั่น ย่อมเกิดขึ้นเอง ในระหว่างที่ทำความพยายามเพื่อจะเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ให้แจ่มแจ้ง และต้องมีอยู่มากในขณะที่มีความเห็นอันแจ่มแจ้งติดแนบแน่นอยู่ในตัวอย่างไม่แยกจากกันได้ ทั้งยังเป็นไปได้ตามธรรมชาติ ในทำนองเดียวกันกับตัวอย่างที่ว่า พอเราตั้งใจคิดเลขลงไปเท่านั้น จิตก็เป็นสมาธิขึ้นมาเอง พอเราจะยิงปืน จิตก็เป็นสมาธิบังคับให้แน่วแน่ขึ้นมาเองในเวลาเล็ง
๒๐๐
นี่แหละเป็นลักษณะของสมาธิ ที่เป็นไปเองตามธรรมชาติซึ่งตามปกติถูกมองข้ามไปเสีย เพราะมีลักษณะดูมันไม่ค่อยจะขลังจะศักดิ์สิทธิ์ ไม่ค่อยจะเป็นปาฏิหาริย์เป็นที่น่าอัศจรรย์ แต่โดยที่แท้แล้ว คนเรารอดตัวมาได้เป็นส่วนใหญ่ ก็โดยอำนาจของสมาธิตามธรรมชาตินี้เอง แม้การบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระอรหันต์ ก็อาศัยสมาธิตามธรรมชาติ ทำนองนี้เป็นส่วนมาก
๒๐๑
ฉะนั้น ขอท่านทั้งหลายอย่าได้มองข้ามเรื่องของสมาธิที่เป็นไปตามธรรมชาติ มันเป็นเรื่องที่เราอาจทำได้ก่อนหรือทำได้อยู่แล้วเป็นส่วนมาก ควรจะประคับประคองมันให้ถูกวิธีให้มันเป็นไปด้วยดีถึงที่สุด ก็จะมีผลเท่ากัน เหมือนกับผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ไปแล้วเป็นส่วนมาก ซึ่งไม่เคยรู้จักนั่งทำสมาธิแบบใหม่ๆ อย่างที่กำลังตื่นๆ กันอยู่ในขณะนี้เลย
๒๐๒
ทีนี้เราก็มาถึง ความลับของธรรมชาติ ที่เกี่ยวกับลำดับแห่งความรู้สึกต่างๆ ภายในใจ จนกระทั่งเกิดการเห็นแจ่มแจ้ง ตามที่เป็นจริงต่อโลก หรือต่อขันธ์ห้า ลำดับแรกได้แก่ปีติและปราโมทย์หมายถึงความชุ่มชื่นใจหรือความอิ่มเอมใจในทางธรรม การที่เราทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้การให้ทาน ซึ่งถือกันว่าเป็นบุญชั้นต้นๆ ก็เป็นการทำให้เกิดปีติปราโมทย์ได้ ถ้าเป็นถึงขั้นศีล คือมีความประพฤติทางกายวาจา ไม่ด่างพร้อยจนถึงกับเคารพนับถือตัวเองได้ ปีติปราโมทย์ก็มากขึ้น ถ้าหากไปถึงขั้นสมาธิจะเห็นได้ว่าในองค์ของสมาธิ อันดับแรกที่เรียกว่าปฐมฌานนั้น ก็มีปีติอยู่องค์หนึ่งด้วยโดยไม่ต้องสงสัย
๒๐๓
ปีติปราโมทย์ นี้ มีอำนาจอยู่ในตัวมันเองอย่างหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดความรำงับ (ปัสสัทธิ) ตามปกติจิตของคนเราไม่ค่อยจะรำงับ เพราะว่าจิตตกเป็นทาสของความคิดความนึกจากสิ่งยั่วยวนภายนอก หรือจากความรู้สึกในอะไรต่างๆ อยู่ตลอดเวลาเป็นความฟุ้งอยู่ภายในไม่เป็นความสงบ แต่ถ้าหากมีปีติปราโมทย์ในทางธรรมมาประจำใจอยู่และมากพอสมควรแล้ว ความสงบรำงับนั้นจะต้องมีขึ้น จะมีมากหรือน้อย ตามอำนาจของปีติปราโมทย์ที่มีมากหรือน้อย
๒๐๔
เมื่อมีความรำงับแล้ ว ก็ย่อมเกิดอาการที่เรียกว่า “สมาธิ” คือใจสงบนิ่ง และอยู่ในสภาพที่คล่องสะดวกเบาสบายพร้อมที่จะไหวไปตามความต้องการ โดยเฉพาะก็เพื่อตัดกิเลส ไม่ใช่ทำจิตใจให้นิ่งเงียบ ตัวแข็งทื่อเป็นก้อนหินอะไรทำนองนี้ก็หาไม่ ร่างกายจะต้องให้มีความรู้สึกอยู่อย่างปกติ แต่ว่าจิตสงบเป็นพิเศษเหมาะสมที่จะใช้นึกคิดพิจารณา มีความผ่องใสที่สุดเยือกเย็นที่สุด สงบรำงับที่สุด เรียกว่า “กมุมนีโย” คือพร้อมที่จะรู้ นี่คือลักษณะของสมาธิที่เราต้องการ ไม่ใช่อยู่ในฌานสมาบัติตัวแข็งทื่อ เหมือนตุ๊กตาหินไม่รู้สึกตัวเลย
๒๐๕
การอยู่ในฌานทำนองนั้น จะพิจารณาอะไรไม่ได้เลย จิตที่ติดฌานจะพิจารณาธรรมไม่ได้ มีแต่จะตกลงสูภวังค์เสียเรื่อยไปไม่สามารถนำมาใช้ในการพิจารณา จัดว่าเป็นอุปสรรคของการทำวิปัสสนาโดยตรงทีเดียว ผู้จะพิจารณาธรรมได้จะต้องออกจากฌานแล้วจึงพิจารณาโดยใช้อำนาจของการที่จิตมีสมาธิ ขนาดได้ฌานมาแล้วนั่นเองเป็นเครื่องมือ
๒๐๖
ในการทำให้รู้แจ้งตามวิธีธรรมชาตินี้ เราไม่ต้องเข้าฌานชนิดที่ทำตัวเองให้แข็งทื่อ แต่ว่าต้องการจิตที่สงบ เป็นสมาธิ ที่มีคุณสมบัติ “กมุมนีโย” ครบถ้วนพร้อมที่จะรู้แจ้งจนเกิดความรู้ตามที่เป็นจริงต่อโลกทั้งหมด (ยถาภูตญาณทัสสนะ) โดยอาการตามธรรมชาติ ทำนองเดียวกันกับผู้รู้แจ้งขณะที่นั่งฟังพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงธรรม หรือนำไปคิดพิจารณา ในที่เหมาะสมจนรู้แจ้ง ไม่มีพิธีรีตองหรือปาฏิหาริย์อันเป็นเรื่องความเห็นผิดเป็นชอบ หรือหลงใหลต่างๆ แต่อย่างใด
๒๐๗
แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะเกิดการเห็นแจ้งอย่างถูกต้องรวดเร็ว เป็นพระอรหันต์ไปทันทีก็หามิได้ ในบางกรณีอาจจะเกิดความรู้ขั้นต้นๆ ก็ได้ แล้วแต่กำลังของสมาธิอีกเหมือนกัน ในบางกรณีอาจจะไม่เกิดเป็นความรู้ความเห็นตรงตามที่เป็นจริงก็ได้ เพราะว่าตนได้ศึกษามาอย่างผิดๆ หรือถูกแวดล้อมอยู่ด้วยความเห็นที่ผิดๆ มากเกินไป แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้ความแจ่มแจ้งที่เกิดนั้นจะต้องพิเศษกว่าธรรมดา เช่นว่าใสแจ๋วลึกซึ้งหากความรู้นั้น เป็นไปถูกต้องตามความเป็นจริง คือเป็นไปตามทางของธรรมะแล้ว ก็ย่อมจะก้าวหน้าไปจนกระทั่งเป็นความรู้ ความเห็นในสังขารทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริง ถ้าเกิดขึ้นเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้เป็นอริยบุคคลชั้นต้นได้ หรือถ้าน้อยลงไปอีกก็เพียงแต่เป็นกัลยาณชน คือคนธรรมดาที่เป็นชั้นดีคนหนึ่ง
๒๐๘
ถ้าหากว่ามีสิ่งแวดล้อมเหมาะสมและมีความดีต่างๆ ที่ได้เคยสร้างสมมาเต็มที่ อาจเป็นพระอรหันต์เลยก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่เหตุการณ์ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในขณะที่จิตเป็นสมาธิตามธรรมชาติ สิ่งที่เรียกว่า “ญาณทัสนะ” จะต้องเกิดและจะต้องตรงตามที่เป็นจริงไม่มากก็น้อย เพราะเหตุว่าพุทธบริษัทเรา ย่อมเคยได้ยินได้ฟัง ได้เคยศึกษาเรื่อง โลกขันธ์ สังขารทั้งหลายด้วยความอยากจะเข้าใจตามที่เป็นจริงมาแล้ว เพราะฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นในขณะที่จิตสงบเป็นสมาธินั้น จึงไม่มีทางเสียหลายเลย ย่อมจะได้ประโยชน์เสมอโดยแน่นอน
๒๐๙
คำว่า “ยถาภูตญาณทัสสนะ” ในที่นี้ หมายถึงการรู้การเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง คือ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นว่า “ไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีอะไรที่น่าเป็น” ไม่ว่าอะไรๆ ไม่ควรเข้าไปยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน ว่าของตัวของตน ว่าดี ว่าชั่ว น่ารักหรือน่าชังอย่างนี้เป็นต้น ถ้ามีความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นไปในทางพอใจก็ตาม ไม่พอใจก็ตามแม้เพียงแต่รู้สึกนึกคิดหรือระลึกถึงเท่านั้น ก็ยังถือว่าเป็นความยึดถือในที่นี้ ที่ว่าไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น ก็มาจากหลักที่ว่า ไม่มีอะไรที่น่ายึดถือนั่นเอง
๒๑๐
ตัวอย่างในเรื่อง “เอา” ก็คือการปักใจในทรัพย์สมบัติเงินทองสัตว์สิ่งของ อันเป็นที่พอใจต่างๆ การ “เป็น” ก็คือการถือว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่ เป็นสามีภรรยา เป็นคนมั่งมี คนเข็ญใจ เป็นคนแพ้ คนชนะ กระทั้งเป็นมนุษย์ หรือเป็นตัวเอง ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้ง แม้ความเป็นคนนี้ก็ไม่น่าสนุกน่าเอือมระอา เพราะเป็นที่ตั้งของความทุกข์ ถ้าไม่ยึดถือว่าเป็นคนเสียได้ ก็จะไม่เป็นทุกข์ นี้เรียกว่าเป็นความไม่น่าเป็น ซึ่งมีใจความสำคัญอยู่ตรงมี่ว่าไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ต้องมีความทุกข์ ตามแบบของความเป็นชนิดนั้นๆ เพราะว่าความเป็นอะไรๆ นี้ มันต้องทนเป็น ทนดำรงอยู่ ต้องมีการต่อสู้เพื่อให้ได้เป็นหรือเป็นอยู่ต่อไป อย่างน้อยที่สุดก็คือการต่อสู้ทางใจ ในการที่ยึดถือเอาความเป็นอะไรๆ ของตนไว้ให้ได้
๒๑๑
เมื่อมีตน ก็จะต้องมีอะไรเป็นของๆ ตน ภายนอกตนออกไปอีกทอดหนึ่ง ฉะนั้นจึงมีลูกของตน เมียของตน อะไรๆ ของตนอีกหลายอย่าง กระทั่งมีหน้าที่แห่งความเป็นผัวเป็นเมีย ความเป็นนายเป็นบ่าว ความเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ของตนขึ้นมา ทั้งหมดนี้เป็นการชี้ให้เห็นความจริงในข้อที่ว่า ไม่มีความเป็นชนิดไหน ที่จะไม่ต้องอาศัยความดิ้นรนต่อสู้เพื่อดำรงความเป็นนั้นๆ ไว้ ความลำบากดิ้นรนต่อสู้นั้น ก็คือผลของการหลงใหลยึดถือสิ่งต่างๆ ด้วยความไม่รู้นั่นเอง
๒๑๒
ถ้าไม่ให้เอา ไม่ให้เป็นกันแล้ว จะอยู่กันได้อย่าง นี่คงจะเป็นที่สงสัยอย่างใหญ่หลวง ของผู้ที่ไม่เคยคิดไม่เคยนึกในเรื่องนี้ คำว่า “เอา” คำว่า “เป็น” ในที่นี้หมายถึงการเอาหรือการเป็นด้วยกิเลส ด้วยตัณหา ด้วยอุปาทาน ด้วยความยึดมั่นว่าน่าเอา น่าเป็น และใจก็เอาจริงเอาจังเป็นจริงเป็นจัง เพราะฉะนั้นมันก็ต้องหนักใจ ร้อนใจ เจ็บใจ ช้ำใจ หรืออย่างน้อยก็เป็นภาวะหนักทางใจ นับตั้งแต่แรกไปและตลอดเวลาทีเดียว เมื่อเรารู้ความจริงข้อนี้แล้ว ก็จะมีสติสัมปชัญญะคุ้มครองจิต ไม่ให้ตกไปเป็นทาสของความมีความเป็น ด้วยอำนาจความยึดติด มีสติปัญญาอยู่เหนือสิ่งต่างๆ
๒๑๓
เมื่อเรารู้สึกอยู่ว่าโดยที่แท้ มันเป็นสิ่งที่ไม่น่าเอาน่าเป็น หากแต่เรายังไม่สามารถถอนตัว ออกไปเสียจากความมีความเป็นนั้นได้เราก็จำต้องมีสติรู้ตัวให้พอเหมาะสม ถ้าจะต้องเข้าไปเอา ไปเป็น เราก็จะไม่เดือดร้อนเหมือนคนที่หลับหูหลับตาเข้าไปเอาหรือเข้าไปเป็น อย่างโง่เขลางมงาย ซึ่งผลสุดท้ายก็ตกหลุมตกบ่อ ความโง่เขลาและอุปาทานของตัวเอง จนถึงกับต้องฆ่าตัวตาย สมมติตัวอย่าว่า เสือหรืองูร้ายเป็นสิ่งที่ขายได้แพง ในเมื่อเราไม่มีทางอื่นจะประกอบอาชีพ เราจะต้องเข้าไปจับเสือมาขายอย่างนี้ มันก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่เราจะต้องเข้าไปจับเสือให้ถูกวิธี เราจึงจะได้เสือมาขายและได้เงินมาเลี้ยงชีวิต ถ้าผิดวิธีเราก็จะต้องตายเพราะเสือ
๒๑๔
โลกหรือสิ่งทั้งปวงมีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์และไม่เป็นตัวตนของใคร มันจะเล่นงานบุคคลผู้ที่เข้าไปยึดถือด้วยตัณหา อุปาทานนับแต่วาระแรก คือตั้งแต่เมื่ออยากได้ อยากเป็น กำลังได้ กำลังเป็น และได้แล้ว เป็นแล้ว ตลอดเวลาแห่งกาลทั้งสาม ใครเข้าไปยึดถืออย่างหลับหูหลับตาแล้วก็จะมีความทุกข์อย่างเต็มที่ เหมือนอย่างที่เราเห็นปุถุชนคนเขลาทั้งหลาย เป็นๆ กันอยู่โดยทั่วไปในโลก
๒๑๕
แม้ที่สุด “ความดี” ที่ใครๆ บูชากัน ถ้าหากว่าใครเข้าไปเกี่ยวข้องกับความดีในอาการที่ผิดทางและยึดถือมากเกินไป ก็จะได้รับความทุกข์จากความดีนั้นๆ เช่นเดียวกัน เว้นไว้แต่เราจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับมัน โดยรู้ว่าธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้นเอง
๒๑๖
อาจจะมีผู้สงสัย ต่อไปว่า “ถ้าไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็นแล้วก็จะไม่มีใครประกอบการงานอะไรๆ หรือไม่สามารถรักษาทรัพย์สมบัติสิ่งของที่ตนมีอยู่ได้” ข้อนี้ถ้ามีความเข้าใจแล้ว ก็จะรู้ว่าเราควรมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเสียก่อนแล้วจึงทำสิ่งต่างๆ ดีกว่าที่จะทำสิ่งต่างๆ ด้วยความมักมากอยากใหญ่ โง่เขลางมงายไม่เข้าใจอะไรเลย ใจความสั้นๆ ก็คือ ให้เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ด้วยสติปัญญาอย่างเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยกิเลสตัณหาอุปาทาน มันจะมีผลมันเป็นคนละอย่าง
๒๑๗
พระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานไม่มีกิเลสตัณหาอุปาทานเลย ท่านก็ยังทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ได้มากกว่าพวกเราเสียอีก ดูจากพุทธประวัติว่าวันหนึ่งคืนหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงทำอะไรบ้าง ก็จะพบว่าท่านมีเวลานอนพักผ่อนเพียง ๔ ชั่วโมง นอกนั้นทำงานตลอดหมด พวกเรานั่งพักเล่นเสียก็มากกว่า ๔ ชั่วโมงแล้ว นี่ท่านทรงทำไปเพราะ อำนาจของอะไรในเมื่อกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้อยากเป็น อยากเอาสิ่งต่างๆ ก็หมดไปแล้ว นั่นท่านทำไปด้วยอำนาจของสติปัญญาบวกกับเมตตา
๒๑๘
แม้สิ่งที่เป็นไปตามความต้องการของร่างกายตามธรรมชาติ เช่นท่านจะต้องไปบิณฑบาต อาหารเหล่านี้ท่านก็ยังคงทำไปด้วยอำนาจของปัญญา ไม่มีกิเลสไม่มีตัณหาว่าจะมีชีวิตอยู่ เพื่อเป็นอย่างนั้น เพื่อเอาอย่างนี้ แต่มีปัญญา ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เป็นกำลังส่งร่ายกายให้ออกไปแสวงหาอาหาร หาได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
๒๑๙
ในกรณีเจ็บไข้ ก็มีปัญญารู้ว่า ควรจะแก้ไขอย่างไรท่านก็แก้ไขเท่าที่ปัญญามี ถ้าเป็นมากเกินไป ก็จำต้องตายเป็นธรรมดา เพราะว่าท่านมีความขวนขวายน้อย ความอยู่หรือความตายไม่มีความหมายสำหรับท่านเลย หรือมันมีค่าเท่ากัน นับว่าเป็นความคิดเห็นอันถูกต้องที่สุด สำหรับจะไม่ให้มีความทุกข์เลย ไม่ต้องมีตัวตนเป็นเจ้าของ มีแต่ สติปัญญา นำร่างกายให้เป็นไปตามอำนาจของธรรมชาติ
๒๒๐
นี่เราจะเห็นได้ว่า เพียงอำนาจของปัญญาบริสุทธิ์เมตตา บริสุทธิ์เท่านั้น ก็ทำให้พระอรหันต์ทั้งปลายมีชีวิตอยู่ในโลกได้ และทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นอย่างบริสุทธิ์ได้มากกว่าคนที่ยังมีกิเลสตัณหาเสียอีก คนที่มีกิเลส ย่อมทำแต่สิ่งที่จะได้อะไรแก่ตัว เพราะความเห็นแก่ตัว ส่วนท่านทำไปด้วยความไม่เห็นแก่ตัวเลย ฉะนั้นมันจึงมีผลมากกว่ากัน บริสุทธิ์กว่ากันทำนองนี้
๒๒๑
ความอยากเอา อยากเป็นนี้ เป็นความโง่อย่างยิ่งชนิดหนึ่ง เป็นความหลงผิด ไม่รู้ตามที่เป็นจริงว่า อะไรเป็นอะไรจนกระทั่งไปคว้าเอากงจักรมาเป็นดอกบัว เพราะฉะนั้นขอให้เราทุกคนปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยสติปัญญา ที่รู้ตัวอยู่เสมอว่าไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็นหรือน่าหลงใหลยึดถือดังกล่าวแล้ว จงทำไปให้พอเหมะพอสมกับที่รู้ว่า สิ่งเหล่านั้น มีความไม่น่าเอาหรือไม่น่าเป็นอยู่ตามธรรมชาติ เราจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องให้ถูกวิธี และให้พอเหมาะพอสมในเมื่อเรายังต้องเกี่ยวข้องอยู่ ข้อนี้เป็นการทำใจของเราให้สะอาด สว่างไสว แจ่มแจ้ง สงบเย็นอยู่เสมอ แล้วเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลก หรือสิ่งทั้งปวงด้วยอาการที่จะไม่เป็นพิษเป็นโทษแก่ตัวเรา
๒๒๒
ความไม่น่าเอาไม่น่าเป็นนี้ ชาวโลกธรรมดาผังดูแล้วชวนให้ไม่น่าเชื่อไม่น่าเลื่อมใส แต่ถ้าใครเข้าใจความหมายที่แท้จริงของมันแล้ว กลับจะทำให้เกิดความกล้าหาญร่าเริง คือมีจิตเป็นนาย เป็นอิสระต่อสิ่งทั้งปวง ทำให้สามารถเข้าไปหาสิ่งต่างๆ ด้วยความมั่นใจว่า จะไม่ตกเป็นทาสมัน คือไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอำนาจของกิเลสตัณหาหน้ามืดจนกลายเป็นทาสของมัน
๒๒๓
คนเรากำลังเอาอะไรอยู่ก็ตาม กำลังเป็นอะไรอยู่ก็ตามขอให้รู้สึกตัวอยู่เสมอว่า เรากำลังเอาหรือเป็น ในสิ่งซึ่งที่แท้แล้วเอาไม่ได้ เป็นไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรที่เอาได้จริงเป็นได้จริง ตามต้องการของเรา เพราะมันไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเราของเราอยู่ตลอดเวลา เราเองเข้าไปยึดมั่นด้วยกิเลสตัณหาบ้าๆ บอๆ ของเราเองต่างหาก ฉะนั้นเราจึงทำกับสิ่งเหล่านี้ไม่ถูกตรงกับที่มันเป็นจริง นี่เพราะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยความไม่รู้ตามที่เป็นจริงนั่นเอง จึงต้องเกิดความทุกข์ยุ่งยากขึ้นทุกอย่างทุกประการ
๒๒๔
คนแต่ละคน ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ก็เพราะมันอยากเอาอะไร อยากเป็นอะไรเกินขอบเขตเพราะอำนาจของกิเลสตัณหาของตนเองเสียเรื่อยจึงไม่สามารถดำรงตน ให้อยู่ในสภาพที่เป็นความดี ความงาม ความถูกต้องและความยุติธรรม มูลเหตุแห่งความหายนะของทุกคน มันอยู่ที่การตกเป็นทาสของตัณหาเพราะฉะนั้น การรู้จักสิ่งทั้งปวงให้ถูกต้องตามที่มันเป็นจริง (ยถาภูตญาณทัสสนะ) จึงเป็นใจความสำคัญที่สุด ของพระพุทธศาสนา นี้เป็นทางให้เราเอาตัวรอดกันได้โดยมากไม่ว่าในเรื่องผลประโยชน์ทางโลกๆ ซึ่งหวังผลเป็นทรัพย์สมบัติชื่อเสียง หรือว่าเพื่อหวังประโยชน์ในโลกหน้า เช่น สวรรค์ หรือเรื่องที่พ้นจากโลกขึ้นไป คือเรื่องมรรคผล นิพพานก็ตาม ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ต้องอาศัยความรู้ความเห็นอันถูกต้องทำนองนี้ทั้งนั้น
๒๒๕
เราทุกคนจะรุ่งเรืองได้ด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าได้ตรัสอยู่บ่อยๆ ว่า คนเราบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ไม่ใช่บริสุทธิ์ด้วยอย่างอื่น ทางรอดของเราอยู่ที่ปัญญา เห็นแจ่มแจ้งในสิ่งทั้งปวงว่า ไม่มีอะไรที่น่ายึดถือ คือน่าเอาน่าเป็นด้วยการมอบกายถวายชีวิตเลย ที่มีอยู่แล้วที่เป็นอยู่แล้ว ก็ขอให้เป็นไปตามสมมติของทางโลกๆ ที่สมมติว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่กัน ก็เพื่อจะให้รู้จักชื่อรู้จักเสียง รู้จักแบ่งหน้าที่การงานกัน เพื่อความสะดวกในสังคม
๒๒๖
เราอย่าไปหลงยึดถือว่า ตัวเราเป็นนั่นเป็นนี่ไปตามที่เขาสมมติให้เลย มันจะมีลักษณะเหมือนกับการถูกมอมดังสัตว์เล็กๆ เช่น จิ้งหรีด เป็นต้น ซึ่งเมื่อถูกมอมหน้า ถูกทำให้มึนงงแล้ว มันก็จะกัดกันเองจนตาย คนเรานี่แหละถ้าถูกมอมหรือถูกหลอกมากๆ ก็จะมึนเมาจนทำสิ่งที่ตามปกติมนุษย์ธรรมดาสามัญทำไม่ได้ เช่น ฆ่ากัน เป็นต้น ฉะนั้นเราอย่าไปหลงติดสมมติแต่พึงรู้สึกตัวว่านั่นเป็นเรื่องสมมติ ซึ่งเป็นของต้องมีในสังคม เราจะต้องรู้สึกโดยแท้จริงว่า กายกับใจนี่คืออะไร ธรรมชาติที่แท้จริงของมันเป็นอย่างไร โดยเฉพาะก็คือ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง ส่วนเรานั้นจะต้องดำรงตนอยู่ในลักษณะที่เป็นอิสระอยู่เสมอ
๒๒๗
สำหรับทรัพย์สมบัติหรืออะไรๆ ที่เราจำเป็นจะต้องมี ก็ขอให้เห็นว่าเป็นของสมมติอีกเหมือนกัน จะปล่อยไว้ตามประเพณีที่มีอยู่ว่า นี่เป็นของคนนี้ นี่บ้านคนนี้ นี่นาคนนั้น เป็นต้น กฎหมายคุ้มครองกรรมสิทธิ์ไว้ให้ ไม่ใช่เพื่อมาเป็นนายอยู่เหนือใจเรา เมื่อเรามีความรู้แจ้งอย่างนี้ สิ่งต่างๆ ก็จะลงไอยู่เป็นบ่าวเป็นทาสเราและเราก็อยู่เหนือมัน
๒๒๘
ถ้าเรารู้สึกไปในทางมีตัณหาอุปาทาน จะมีอะไร เป็นอะไรด้วยจิตใจที่ยึดถือเหนี่ยวแน่นแล้ว มันจะขึ้นมาอยู่เหนือศีรษะเรา แล้วเราก็จะกลับลงไปเป็นบ่าวเป็นทาสอยู่ใต้มัน มันกลับกันนอยู่อย่างนี้จึงเป็นสิ่งที่เราต้องระมัดระวัง ให้เป็นไปในลักษณะที่เรายังคงเป็นอิสระ อยู่เหนือสิ่งทั้งหลายทั้งปวง มิฉะนั้นแล้ว เราเองจะต้องตกอยู่ในสถานะที่น่าสงสารที่สุด เราควรสมเพชตัวของเราเองกันไว้บ้าง
๒๒๙
เมื่อเห็นจริงว่า ไม่มีอะไรที่น่าเอา น่าเป็นอย่างนี้แล้ว ความเบื่อหน่าย (นิพพิทา) ก็เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นติดตามมา ตามส่วนสัดของการเห็นแจ้ง นี่หมายความว่ามีการคลอนแคลนสั่นสะเทือนเกิดขึ้นแล้ว ในการเข้าไปหลงยึดถือ หรือเปรียบเหมือนเมื่อเราต้องตกเป็นทาสเขามานานจนมีความรู้สึกตัวเกิดขึ้น ก็มี การเคลื่อนไหวไปในทางที่จะต้องเปลื้องตนออกจากความเป็นทาส นี่เป็นลักษณะของนิพพิทา คือเบื่อหน่าย เกลียดความเป็นทาสขึ้นมาแล้ว หน่ายต่อความที่ตนหลงเข้าไปยึดเอาสิ่งต่างๆ ด้วยความเข้าใจว่า น่าเอา น่าเป็นนั่นเอง
๒๓๐
ครั้งพอมีความเบื่อหน่ายแล้ว โดยอัตโนมัติตามธรรมชาตินั่นเอง ย่อมจะมี ความจางหรือคลายออก (วิราคะ) เหมือนกับเชือกที่ผูกมัดไว้แน่น ถูกแก้ออกหรือเหมือนสีน้ำย้อมผ้าที่ติดแน่น เอาแช่น้ำยาบางอย่างทำให้มันหลุดออก ความยึดถือที่คลายออก จางออกจากโลกหรือจากสิ่งทั้งปวงที่เคยยึดถือนี้ ท่านเรียกว่า “วิราคะ” ระยะนี้ถือว่าสำคัญที่สุด แม้จะไม่ใช่ระยะสุดท้าย แต่ก็เป็นระยะที่สำคัญที่สุดของความหลุดพ้น เพราะว่าเมื่อมี่การคลายออก จางออกดังนี้แล้ว ไม่ต้องสงสัยเลย สิ่งที่เรียกว่าความหลุดออกจากทุกข์ (วิมุตติ) จะต้องมีโดยแน่นอน
๒๓๑
เมื่อหลุดออกมาได้จากความเป็นทาส ไม่ต้องเป็นทาสของโลกอีกต่อไปก็จะมีอาการบริสุทธิ์ (วิสุทธิ) ในที่นี้หมายความว่า ไม่เศร้าหมอง ก่อนนี้เศร้าหมองทุกทางเพราะการเข้าไปจมเป็นทาสของสิ่งทั้งหลาย เป็นความเศร้าหมองที่กายวาจาใจ หรือจะมองดูกันในแง่ไหนๆ ก็เป็นเรื่องความเศร้าหมองทั้งนั้น ต่อเมื่อหลุดพ้นออกมาจากความเป็นทาส ในรสอร่อยๆ ของโลกแล้ว จึงจะอยู่ในลักษณะที่บริสุทธิ์ คือไม่เศร้าหมองอีกต่อไป
๒๑๒
เมื่อมี ความบริสุทธิ์แท้จริง อย่างนี้แล้ว ก็จะเกิดความสงบสันติอันแท้จริงสืบไป เป็นความสงบเย็นจากความวุ่นวาย จากการรบกวนหรือจากการต่อสู้ดิ้นรนทนทรมานต่างๆ เมื่อปราศจากการเบียดเบียนวุ่นวายเหล่านี้แล้ว ท่านสรุปเรียกความเป็นอย่างนี้ว่า “สันติ” คือความสงบรำงับดับเย็นของสิ่งทั้งปวง มันแทบจะเรียกได้ว่าถึงขั้นสูงสุดหรือขั้นเดียวกันกับนิพพาน แท้ที่จริงสันติกับนิพพานนั้น เกือบจะไม่ต้องแยกกัน ที่แยกกันก็เพื่อจะให้เห็นว่าเมื่อสงบแล้ว ก็นิพพาน
๒๓๓
นิพพาน แปลว่าไม่มีเครื่องทิ่มแทง อีกอย่างหนึ่งแปลว่าความดับสนิทไม่มีเหลือ ฉะนั้น คำว่านิพพานจึงมีความหมายใหม่ๆ เป็น ๒ ประการ คือดับไม่มีเชื้อเหลือสำหรับจะเกิดมาเป็นความทุกข์อีกต่อไป นี่อย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งก็คือปราศจากความทิ่มแทง ความเผาลนปราศจากความผูกพัน ร้อยรัดต่างๆ ทุกอย่างทุกประการรวมความแล้ว ก็แสดงถึงภาวะที่ปราศจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง นิพพานยังมีความหมายที่มุ่งใช้ต่างๆ กันอีกหลายอย่าง เช่นหมายถึง การดับของความทุกข์ก็มี หมายถึงการดับของกิเลสอย่างหมดสิ้นก็มี หมายถึงธรรมหรือเครื่องมือหรือเขตแดน หรือสภาพอันใดอันหนึ่งที่ทุกข์ทั้งปวง กิเลสทั้งปวงสังขารทั้งปวง ดับไปหมดสิ้นก็มี
๒๓๔
แม้จะมีคำว่า “นิพพาน” ใช้กันอยู่ในลัทธิศาสนาหลายๆ ลักทธิก็ตาม แต่ความหมายไม่เหมือนกันเลย เช่น ลัทธิหนึ่งก็ถือเอาความสงบเย็น เพราะการที่ได้ฌาน ได้สมาบัติว่าเป็นนิพพาน บางลัทธิถือความมัวเมาอยู่ในกามารมณ์กันอย่างเพียบพร้อมว่าเป็นนิพพาน พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธนิพพานในความหายเช่นนี้ ทรงระบุความหมายของพระนิพพาน เพียงในลักษณะที่เป็นภาวะอันปราศจาก ความทิ่มแทงร้อยรัดแผดเผาของกิเลสและความทุกข์เพราะการได้เห็นสภาวะโลก เห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงจนหยุดความอยาก ความยึดติดในสิ่งต่างๆ เสียได้ ดังนี้
๒๓๕
เพราะฉะนั้น เราจึงควรเห็นคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของการที่เห็นสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามเป็นจริง และควรพยายามให้เกิดมีขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง กล่าวคือทางที่จะเป็นไปเองตามธรรมชาติโดยการประคับประคองให้ดี ทำจิตใจให้มีปีติปราโมทย์ มีการเป็นอยู่ที่บริสุทธิ์ทุกลมหายใจเข้าออกทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่เสมอ จนกระทั่งเกิดคุณธรรมต่างๆ ตามลำดับที่กล่าวแล้วนี้วิธีหนึ่ง ส่วนอีกวิธีหนึ่งนั้นเป็นการเร่งรัดด้วยอำนาจจิตบังคับ คือ ไปศึกษาและปฏิบัติตามหลักวิธีของการทำสมาธิ หรือการเจริญวิปัสสนาโดยเฉพาะ สำหรับผู้ที่มีอุปนิสัยเหมาะสม ก็อาจก้าวหน้าไปได้เร็ว ในเมื่อทำถูกวิธีและถูกกับสิ่งแวดล้อม
๒๓๖
แต่วิปัสสนาตามธรรมชาตินั้น เราทำได้ทุกโอกาสทุกขณะเพียงระวังให้การเป็นอยู่ประจำวันของเรา บริสุทธิ์ผุดผ่องจนเกิดความอิ่มใจในทางธรรมะ มีความสงบรำงับแห่งจิต มีความรู้ตามที่เป็นจริงต่อสิ่งทั้งหลาย เกิดความเบื่อหน่ายความคลายออกความหลุดออกมีความบริสุทธิ์ ไม่เศร้าหมอง ความสงบเย็น ถึงภาวะที่ปราศจากความทุกข์อย่างชิมลองน้อยๆ เรื่อยๆ ไปตามธรรมชาติ ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี ก็จะใกล้ชิดนิพพานอย่างแท้จริงได้มากขึ้นๆ
๒๓๗
สรุปความว่า สมาธิและวิปัสสนาตามธรรมชาติ ที่ทำให้บุคคลบรรลุมรรคผลนั้น ต้องอาศัยการพิจารณาความจริงในข้อที่ว่า “ไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีอะไรที่น่าเป็น” อยู่เป็นประจำวันทุกวัน ผู้หวังจะได้ผลอันนี้ จะต้องพยายามทำตนให้เป็นคนสะอาดมีอะไรเป็นที่พอใจตัว จนยกมือไว้ตัวเองได้ มีปีติปราโมทย์ตามทางธรรมอยู่เสมอ ไม่ว่าในเวลาปฏิบัติหน้าที่หรือเวลาพักผ่อนปีติปราโมทย์นั่นเองจะทำให้เกิดความแจ่มใส สดชื่น มีใจสงบ รำงับ เป็นเหตุให้จิตมีสมรรถภาพ ในการคิดค้นตามธรรมชาติ อยู่อย่างอันดนมัติเกิดความเห็นจริงว่า ม่ามีอะไรที่น่าเอา น่าเป็นอยู่เสมอ ขณะใดเป็นอย่างแรงกล้า จิตก็หน่ายคลายความอยากไปเอง ไม่มีความหลง อยากในสิ่งใดด้วยกิเลสตัณหาอีกต่อไป ความทุกข์ซึ่งไม่มีที่ตั้งอาศัยก็สิ้นสุดลง ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ถึงที่สุด แงการปฏิบัติ้เพื่อความพ้นทุกข์แล้ว นับว่าเป็ฯของวัญที่ธรรมชาติมีไว้หใ สำหรับคนทุกคนโดยกแท้จริง
๒๓๘