วิปัสสนา เป็นการปฏิบัติทางจิต เพื่อยกจิตให้สูงขึ้นขนาดที่ความทุกข์ใจครอบงำไม่ได้ จึงพ้นทุกข์ด้วยอำนาจของการรู้แจ้งว่าไม่มีอะไรที่น่ายึดถือ แล้วสิ่งต่างๆ ในโลกก็จะไม่มีอิทธิพลทำใจเรา ให้หลงรักหรือหลงชังอีกต่อไป เรียกว่าจิตอยู่เหนือวิสัยของชาวโลกขึ้นถึงฐานะอันใหม่ ที่ท่านเรียกว่า “โลกุตตรภูมิ” การที่จะเข้าใจโลกุตตรภูมิได้ชัดเจน เราจำเป็นต้องรู้เรื่องที่ตรงกันข้ามกล่าวคือ “โลกกิยภูมิ” ด้วยเหมือนกัน
๒๗๘
โลกิยภูมิ ก็คือระดับของจิตที่สิ่งต่างๆ ในโลกมีอิทธิพลเหนือจิต แบ่งโดยสรุปที่สุดออกเป็น ๓ พวกกล่าวคือ “กามาวจรภูมิ” หมายถึงระดับของจิตที่ยังพอใจอยู่ในกามทั้งปวง ถัดไปคือ รูปาวจรภูมิ ได้แก่ ฐานะของจิตที่ไม่ต่ำ จนถึงกับพอใจในกามคุณ แต่ว่ายังพอใจในความสุขซึ่งเกิดจากสมาบัติที่เพ่งรูปเป็นอารมณ์ อันไม่เกี่ยวกับกาม ภูมิที่ถัดไปอีกคือ รูปาวจรภูมิ นี้คือสถานะของจิตที่ยังพอใจในความสุขสงบที่สูงขึ้นไปกว่านี้อีกชั้นหนึ่ง เกิดความสงบโดยยึดสิ่งไม่มีรูปเป็นอารมณ์
๒๗๙
ถ้าจะจัดให้เป็นคู่ๆ ระหว่าง ภูมิกับภพ ก็มีทางที่จะทำได้ “ภูมิ” หมายถึงสถานะหรือระดับแห่งจิตใจของผู้นั้น ส่วน “ภพ” หมายถึงภาวะเป็นอยู่ที่เหมาะสมแก่ผู้ที่มีภูมิแห่งจิตใจเช่นนั้นๆ ฉะนั้นผู้ที่ติดอยู่ในกามาวจรภูมิ ก็คู่กับกามาวจรภพ รูปาวจรภูมิก็คู่กับรูปาวจรภพ และอรูปาวจรภูมิคู่กับอรูปาวจรภพ คำว่าภูมินั้นหมายถึงสถานะทางจิตใจ คำว่าภพหมายถึงภาวะเป็นที่อยู่ที่อาศัยของผู้ซึ่งมีจิตใจต่างๆ กัน จึงแบ่งได้เป็น ๓ ภูมิ ๓ ภพ
๒๘๐
โลกิยภูมิ คือสถานะทางใจของสัตว์สามัญทั่วๆ ไปแม้จะสมมติเรียกชื่อต่างกัน เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา พรหม สัตว์เดรัจฉาน หรือเป็นสัตว์นรก ก็ตาม ก็รวมอยู่ใน ๓ ภูมินั้น คนหนึ่ง ๆ ในโลกนี้อาจจะมีจิตใจอยู่ในภูมิใดภูมิหนึ่ง ในเวลาใดเวลาหนึ่งได้ด้วยกันทั้งนั้น ไม่เป็นการเหลือวิสัย แต่ส่วนมากจะต้องตกอยู่ในกามาวจรภูมิเป็นธรรมดา คือจิตของมนุษย์เราโดยปกตินั้น ตกอยู่ใต้อิทธิพลของความเอร็ดอร่อยทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
๒๘๑
แต่ในบางคราวบางโอกาส อาจจะพ้นออกมาได้จากอิทธิพลของสิ่งยั่วยวนเหล่านี้ได้ เพราะอาศัยจิตให้ไปจดจ่ออยู่ที่ความสงบอันเกิดจากการเพ่งที่รูปธรรมหรืออรูปธรรมเป็นอารมณ์แล้วแต่การเพ่ง ฉะนั้น ในบางคราวจิตของมนุษย์เราจึงอยู่ในลักษณะที่เป็น รูปาวจรภูมิ หรืออรูปาวจรภูมิก็มี สำหรับในอินเดีย ครั้งสมัยพุทธกาลนั้นนับว่ามีมาก เพราะว่าผู้ที่ออกแสวงหาความสงบสุขชั้นรูปาวจรภูมิ หรืออรูปาวจรภูมินั้น อาจจะกล่าวได้ว่ามีอยู่ทั่วๆ ไปในป่า สำหรับบัดนี้มีน้อย แต่ถึงอย่างนั้นก็กล่าวได้ว่า เป็นฐานะที่คนทั่วๆ ไปจะเข้าถึงได้อยู่นั่นเอง
๒๘๒
ทั้งยังกล่าวได้อีกว่า เมื่อใดจิตของผู้ใดตั้งอยู่ในภูมิใด เมื่อนั้นภาวะที่เขากำลังอาศัยอยู่นั้น ก็จะกลายเป็นภพที่มีชื่อนั้นไปทันที เช่นใครคนหนึ่งในโลกนี้กำลังเป็นสุขอยู่ด้วยรูปาวจรสมาบัติโลกนี้ ก็กลายเป็นรูปาวจรภพสำหรับเขาไป เพราะเขาไม่รู้สึกในสิ่งอื่นใดนอกจากรูปาวจรภูมิ โลกนี้ขณะนั้นและสำหรับเขาผู้นั้น ก็มีค่าเท่ากับรูปาวจรภพไป จนกว่าฐานะแห่งจิตใจของเขาจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น
๒๘๓
ผู้ที่อยู่ในภูมิทั้ง ๓ นี้ ถึงแม้ว่าจะได้รับความสุขความสงบชนิดที่เหมือนกับว่าเป็นก้อนหินก้อนดินหรือท่อนไม่ไปแล้ว แต่ก็ยังมีความยึดถือตัวตน ยังอาศัยตัณหาต่างๆ ชนิดตลอดถึงตัณหาชนิดที่ละเอียดที่สุด เช่นไม่ชอบภาวะที่ตนอยู่ตนเป็น จนทำให้ต้องแสวงหาภาวะใหม่ มีการประกอบกรรมต่างๆ ด้วยอำนาจของความอยากนั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่เรียกว่าอยู่เหนือวิสัยโลก ไม่ใช่โลกุตตรภูมิ จึงจัดไว้เป็นโลกิยภูมิ
๒๘๔
ส่วนโลกุตตรภูมินั้น มีจิตอยู่เหนือวิสัยชาวโลก มองเห็นสภาพของโลกเป็นของไม่มีสาระตัวตนที่เป็นแก่นสาร ใจไม่ต้องการสิ่งใดๆ ในโลก พวกที่ตั้งอยู่ในโลกุตตรภูมินี้ยังแบ่งออกเป็นชั้นๆ ตามหลักพุทธศาสนา เป็นมรรค เป็นผล ๔ ชั้นด้วยกันคือ ชั้นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ความเป็นพระอริยบุคคล ๔ จำพวกนี้ หมายถึงโลกุตตรภูมิ
๒๘๕
คำว่า “โลกุตตร” แปลว่า “อยู่เหนือโลก” หรือ “ยิ่งไปกว่าโลก” หมายถึงจิตใจ มิได้หมายถึงร่างกาย ร่างกายนั้นอยู่ที่ไหนก็ได้ ขอให้เป็นภาวะที่พอพักอาศัยของผู้ที่มีจิตใจอันตั้งอยู่ในโลกกุตตรภูมิได้ก็แล้วกัน ส่วนโลกที่ต่ำไปกว่านั้นเช่น นรกอบาย หรือที่ทนทุกข์ทรมาน เช่น คุกตะราง จึงไม่เป็นภพที่สมควรแก่อริยบุคคล
๒๘๖
โลกุตตรภูมิแบ่งออกเป็น ๔ ชั้น และสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างเป็น ๔ ชั้นก็คือ กิเลสต่างๆ ที่จะพึงละให้ขาดไป กิเลสในหมวดนี้ท่านจำแนกไว้เป็น ๑๐ อย่าง เรียกว่า สังโยชน์ แปลว่า เครื่องผูกพันอย่างพร้อมพรั่ง เครื่องผูกพันทั้ง ๑๐ นี้ ผูกพันคนหรือสัตว์ทั้งหลายให้ติดอยู่ในโลก คนจึงตกอยู่ในวิสัยนี้ และเป็นโลกิยภูมิ ฉะนั้น ถ้าตัดเครื่องผูกพันเหล่านี้ออกเสียได้จิตก็จะค่อยๆ หลุดออกไปจากภาวะวิสัยของชาวโลกตามลำดับ เมื่อตัดได้หมดก็ถือว่าจิตหลุดออกไปสู่ความอยู่เหนือโลก เป็นโลกุตตรภูมิโดยสมบูรณ์
๒๘๗
ในกิเลสชั้นละเอียดที่ผูกพันคนเรา ๑๐ ประการแรกเรียกว่า สักกายทิฏฐิ แปลว่าความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นของตน ได้แก่ความเข้าใจผิดหรือสำคัญด้วยอุปาทาน เช่น คิดว่า “ตัวเรา” มีอยู่ นั่นแหละคือความสำคัญผิดในที่นี้ โดยที่คนเราทั่วๆ ไปไม่รู้จักอะไรมากไปกว่าร่างกาย และจิตที่เนื่องอยู่กับร่างกายจึงเหมาเอาของ ๒ อย่างนี่เป็นตัวตน โดยมีความเข้าใจว่ากายพร้อมทั้งจิตนี้เป็นตัวตนเป็นข้าพเจ้า สัญชาตญาณว่ามีตัวเรานี้เอง เป็นไปหนักแน่นมากถึงกับใครๆ ก็ย่อมคิดว่ามีตัวตนของตนอยู่ทั้งนั้น เพราะเป็นมูลฐานที่ทำให้ชีวิตทรงอยู่ได้ ทำให้รู้จักป้องกันตัว ทำให้แสวงหาอาหาร หรือสืบพันธุ์ เป็นต้น แต่ที่เรียกว่าสักกายทิฏฐิในที่นี้ ประสงค์เอาเพียงชั้นหยาบๆ ที่เป็นเหตุให้ เห็นแก่ตัวจัด ถือเป็นกิเลสตัวแรกที่จะต้องละให้ได้ก่อนตัวอื่นๆ
๒๘๘
สังโยชน์ข้อที่ ๒ เรียกว่า วิจิกิจฉา หมายถึงความสงสัยเป็นเหตุให้ลังเลไม่แน่ใจ ส่วนใหญ่ที่สุดประสงค์เอาความสงสัยในเรื่องการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ลังเลเพราะไม่รู้จริง เช่น สงสัยว่าเรื่องนี้มันอย่างไรกันแน่ การปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์ มันเป็นของที่เหมาะสมแก่ตนหรือไม่ ทำได้หรือไม่ มันดีกว่าสิ่งอื่น จริงหรือไม่ ทำได้จริงหรือเปล่า พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลที่ตรัสรู้ถูกต้องจริงหรือ เป็นบุคคลที่หลุดพ้นจากความทุกข์จริงหรือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหรือการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ จะนำไปสู่ความดับทุกข์จริงหรือ พระอริยสงฆ์ปฏิบัติพ้นทุกข์ได้จริงหรือ
๒๘๙
มูลเหตุของความลังเลก็คือ ความไม่รู้อันได้แก่อวิชชาเหมือนกับปลาที่เคยอาศัยอยู่แต่ในน้ำถ้าใครเล่าให้ฟังถึงเรื่องบนบกมันคงไม่เชื่อ ถ้าเชื่อก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง คนเราที่จมอยู่ในกามารมณ์ก็เหมือนกัน เคยชินกับกามเหมือนปลาอยู่ในน้ำ เมื่อพูดถึงเรื่องอยู่เหนือกาม เหนือโลก ก็เข้าใจไม่ได้ ที่เข้าใจได้บ้างก็ยังลังเล ความรู้สึกฝ่ายต่ำมีอยู่ในสันดาน ส่วนความรู้สึกฝ่ายสูงนั้นเพิ่งจะก่อรูปขึ้นใหม่ การโต้แย้งกันระหว่างความรู้สึกฝ่ายสูงกับฝ่ายต่ำนั่นแหละ คือการลังเล ถ้ากำลังใจไม่เพียงพอ ความรู้สึกฝ่ายต่ำมักชนะ วิจิกิจฉาหรือความลังเลในความดี เป็นของมีประจำอยู่ในคนทุกคนมาตั้งแต่เกิด คนที่ได้รับการอบรมมาผิดๆ อาจจะมีมากขึ้น จะต้องพิจารณาให้เห็นโทษของความลังเลใจ ซึ่งมีอยู่ในการงาน มีอยู่ในชีวิตประจำวัน จนเป็นผู้ไม่อาจมั่นใจในความดี ความถูกต้อง หรือความพ้นทุกข์ เป็นต้น
๒๙๐
ทีนี้มาถึงสังโยชน์ข้อที่ ๓ เรียกว่า สีลัพพตปรามาส แปลว่าการจับฉวยศีลและวัตรผิดจากความมุ่งหมายที่ถูกต้อง โดยใจความก็คือ การติดแน่นยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเคยประพฤติปฏิบัติมาด้วยความเข้าใจผิด ส่วนมากเกี่ยวกับลัทธิประเพณี ตัวอย่าง เช่น การเชื่อพิธีไสยศาสตร์และการปฏิบัติทางไสยศาสตร์ต่างๆ นับเป็นสีสัพพตปรามาสโดยไม่ต้องสงสัย
๒๙๑
แม้ในเรื่องของพระพุทธศาสนา ถ้าปฏิบัติไปด้วยความเข้าใจผิด ว่าจะเกิดความขลังความศักดิ์สิทธิ์ เกิดฤทธิ์อำนาจมาคุ้มครองเราได้ อย่างนี้ก็เป็นการปฏิบัติโดยหวังผลผิดทางและไร้เหตุผลอยู่นั่นเอง ตัวอย่างเช่น การสมาทานศีล หรือประพฤติพรหมจรรย์ซึ่งที่แท้ก็เพื่อกำจัดกิเลส แต่ถ้าไปเข้าใจว่าจะทำให้เกิดอำนาจขลังศักดิ์สิทธิ์ แล้วใช้ความขลังนั้นตัดกิเลสได้ อย่างนี้ก็เป็นความยึดถือซึ่งผิดความมุ่งหมายเดิม การปฏิบัติอย่างเดียวกันแท้ๆ แต่ถ้าเข้าใจผิด โดยยึดมั่นในทำนองไร้เหตุผล หรือเห็นเป็นของขลัง ของศักดิ์สิทธิ์ไปแล้วก็เป็นสีลัพพตปรามาสไปทั้งสิ้น
๒๙๒
แม้ที่สุดสมาทานศีล ปฏิบัติสิกขาบท ด้วยความคิดว่าตนจะได้ไปเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ อย่างนี้ก็ไม่ต้องสงสัยเลย ย่อมเป็นการจับฉวยศีลและวัตร ผิดความมุ่งหมายของพุทธศาสนาไป ทำให้การรักษาศีลและพรหมจรรย์ของตนเศร้าหมอง เพราะว่าความมุ่งหมายของพระวินัยนั้น ก็เพื่อกำจัดกิเลสในส่วนหยาบๆ ทางกายและวาจาเพื่อให้เป็นรากฐานของสมาธิและต่อไปถึงปัญญาเป็นลำดับๆ ไป หาใช่มุ่งหมายเพื่อให้ไปเกิดในสวรรค์ไม่ นี้ได้ชื่อว่า ทำศีลของตนให้สกปรกเศร้าหมองไปด้วยความยึดถือที่ผิด ด้วยอำนาจของความคิดที่ผิด เรื่องให้ทานก็ดี เรื่องรักษาศีลก็ดี เรื่องเจริญสมาธิภาวนาก็ดี ซึ่งถ้าทำไปด้วยความสำคัญผิดต่อความมุ่งหมายที่แท้จริงของการกระทำเหล่านั้นแล้ว จะต้องเป็นการกระทำนอกลู่นอกทาง ของพระพุทธศาสนาทั้งนั้น
๒๙๓
ฉะนั้น ขอให้เข้าใจว่า แม้การปฏิบัติในวงของพุทธบริษัทเรา ถ้าทำไปด้วยความสำคัญผิดจนกิเลสตัณหาเข้าครอบงำ เช่น หวังในทางขลังทางศักดิ์สิทธิ์เมื่อใดแล้ว ก็จะกลายเป็นสีลัพพตปรามาสไป แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ชาวบ้านเราชอบทำกันอยู่ทั่วๆ ไป เช่น การสวดมนต์ทำบุญบ้าน หรืออะไรก็ตาม จะต้องเอาข้าวสุกและสำรับคาวหวานชุดหนึ่ง มาตั้งไว้หน้าพระพุทธรูปเป็นทำนองเซ่นวิญาณพระพุทธเจ้า หรือเป็นการถวายข้าวพระ เชื่อกันว่าวิญญาณของพระพุทธเจ้า จะได้ฉันข้าวที่จัดทำมาถวาย ถ้าทำด้วยความรู้สึกหรือเข้าใจเช่นนี้แล้ว ก็ย่อมเป็นการปฏิบัติผิดความมุ่งหมายเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องสงสัย
๒๙๔
เรื่องการประพฤติผิดต่อความประสงค์ที่ถูกต้องนั้นนับว่ามีดาษดื่นอยู่ทั่วๆ ไปในวงพุทธบริษัท เป็นการทำไปอย่างงมงายไร้เหตุผล ทำให้ข้อปฏิบัติหรือระเบียบที่ดีงามอยู่แล้ว ต้องสกปรกไปด้วยความโง่เขลาและความหลงผิดของคนเหล่านั้นเอง นี่คือความหายของคำว่า “สีลัพพตปรามาส”
๒๙๕
เราจะเห็นได้ว่ากิเลสข้อนี้มีมูลมาจากโมหะ คือความเขลาเข้าใจผิด คนเราเคยถือของขลังถือของศักดิ์สิทธิ์มาแต่เดิมเพราะได้รับการสอนกันมาผิดๆ อบรมกันมาผิดๆ จึงเป็นสิ่งที่มีกันอยู่เกือบทุกๆ คน อย่าต้องระบุรายละเอียดให้มากไปเลย มันจะเป็นเรื่องกระทบกระเทือนใจกันแต่ว่าขอให้ท่านทั้งหลาย จงเอาหลักเกณฑ์อันนี้ไปสอบสวนตัวเองดูก็แล้วกัน
๒๙๖
กิเลส ๓ อย่างในพวกเรา คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิฉา และ สีลัพพตปรามาสนี้ ถ้าละได้เด็ดขาดลงไปจริงๆ ก็เรียกว่าได้ตั้งอยู่ในโลกุตตรภูมิอันดับที่หนึ่ง คือ เป็นพระโสดาบัน ไปแล้ว
๒๙๗
การละกิเลส ๓ ประการนี้ได้เด็ดขาด ไม่ควรดูเป็นของยากเลย เพราะกิเลสทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นของป่าเถื่อนที่คนป่าเถื่อนเขาถือกัน เป็นของสำหรับคนป่าเถื่อนที่ไร้ความเจริญ คนที่เรียกว่ามีการศึกษาดีหรือเจริญแล้ว ไม่ควรจะมีของ ๓ อย่างนี้ ถ้ายังมีอยู่ก็ต้องถือว่าจิตใจของคนนั้นยังป่าเถื่อนอยู่ ผู้ใดละกิเลส ๓ ประการนี้ได้ จึงจะเป็นอริยชนได้ ถ้ายังละไม่ได้ก็ยังเป็นคนโง่เขลา เป็นคนหลงหรือที่เรียกอย่างดีที่สุดว่า ปุถุชน แปลว่าคนที่มีผ้าปิดบังลูกตาหนาทึบ ปุถุ แปลว่าหนา ปุถุชน จึงแปลว่าคนหนาคือหนาด้วยเครื่องปิดบังลูกตาแห่งปัญญา
๒๙๘
เมื่อบุคคลใดละกิเลส ๓ ประการนี้ได้ ย่อมจะมีจิตใจที่เริ่มอยู่เหนือความผูกพันของโลก เพราะกิเลสทั้ง ๓ นี้ เป็นเครื่องผูกพันจิตให้ติดอยู่กับโลก เป็นความโง่เขลาที่ปิดบังความจริง และผูกพันจิตใจให้คนติดอยู่กับโลก ครั้นเมื่อละได้ ๓ ขั้นก็เหมือนกับเพิกถอนสิ่งที่ผูกพันหรือปิดบังเสียได้ ๓ อย่าง จึงหลุดลอยขึ้นอยู่เหนือโลกในระดับที่หนึ่ง แล้วเรียกว่าพระอริยเจ้าในอันดับแรก จัดไว้เป็นโกกุตตรภูมิอันดับแรกเรียกบุคคลนั้นว่าเป็น พระโสดาบัน คือผู้แรกถึงกระแสแห่งพระนิพพาน คือจะถึงนิพพานในอนาคตแน่ๆ
๒๙๙
โลกุตตรภูมิอันดับที่ ๒ นั้น ท่านหมายถึงการละเครื่องผูกพัน ๓ อย่าง ที่กล่าวหมดสิ้นไปแล้ว และยังสมารถทำ โลภะ โทสะ โมหะบางส่วน ให้จางไปอีก จนถึงกับมีจิตใจสูงมีความผูกพันอาลัยอยู่ในกามภพแต่เพียงเล็กน้อยที่สุด ถือกันว่าจะเวียนมาสู่โลกนี้เพียงครั้งเดียว จึงได้ชื่อว่า พระสกิทาคามี
๓๐๐
ตอนนี้ควรทำความเข้าใจคำว่า พระโสดาบัน เสียก่อนจะช่วยให้เข้าใจคำว่า สกิทาคามี ง่ายขึ้น คำว่า “โสดาบัน” แปลว่าผู้แรกถึงกระแส ถ้าถามว่ากระแสแห่งอะไร ก็ตอบว่ากระแสแห่งนิพพานนั่นเอง พระโสดาบันเป็นผู้ถึงเพียงกระแสของนิพพานยังไม่ถึงตัวนิพพาน กระแสนี้คือเกลียวที่ไหลไปสู่นิพพาน กระแสของนิพพานย่อมมีความลาดเอียงไปทางนิพพาน เหมือนอย่างลำแม่น้ำที่มีความลาดเอียงไปสู่ทะเล ถ้าจิตตกไปในกระแสนี้แล้ว แน่นอนย่อมไปถึงนิพพาน
๓๐๑
การถึงกระแสนี้หมายถึงว่า จะต้องบรรลุนิพพานแน่ๆ ในอนาคต แต่อาจจะยังอีกหลายเวลา เอาแต่ใจความว่าจะต้องถึงนิพพานอย่างแน่นอน ส่วนพวกที่ ๒ ที่เรียกว่าสกิทาคามีนั้นใกล้ชิดนิพพานยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก จนถึงกับมีอาลัยเหลืออยู่น้อยในความเป็นอยู่ในโลกนี้ ถ้าจะกลับมาสู่อารมณ์แบบมนุษย์อีกก็เพียงหนเดียว เพราะ โลภะ โทสะ โมหะ เบาบางลงมากแต่ยังไม่หมดไปโดยสิ้นเชิง
๓๐๒
อันดับที่ ๓ เรียกว่า พระอนาคามี พระอริยบุคคลชั้นนี้นอกจากจะละกิเลสชั้นต้นได้อย่างพระสกิทาคามีแล้ว ยังละสังโยชน์ ข้อที่ ๔ ที่ ๕ ได้อีกด้วย สังโยชน์ข้อที่ ๔ เรียกว่า กามราคะ ข้อที่ ๕ เรียกว่า ปฏิฆะ กามราคะนั้นหมายถึงของรักของใคร่ที่พระโสดาบันและพระสกิทาคามีละไม่หมด ยังมีความพอใจ ในของรักของใคร่เหลืออยู่ทั้งๆ ที่ท่านและสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้แล้ว แต่ก็ไม่สามารถละความติดในกามราคะได้ทั้งหมด ยังเหลืออยู่เป็นบางส่วน แต่พอมาถึงดันดับที่ ๓ คือ พระอนาคามีนี้ท่านย่อมละออกได้หมดไม่มีเหลือ ส่วนกิเลสที่ เรียกว่า ปฏิฆะ (ความรู้สึกโกรธหรือความขัดเคืองใจ) พระสกิทาคามีล้างออกไปได้เป็นส่วนมาก เหลืออยู่เพียงความหงุดหงิดความขัดข้องอยู่ภายใน ส่วนพระอนาคามีนั้น เอาออกได้หมดจึงเรียกว่า ผู้ละกามราคะและปฏิฆะได้
๓๐๓
ที่เรียกว่า กามราคะ หรือการติดความพอใจในกามนั้นได้อธิบายไว้อย่างมากแล้วในเรื่องกามุปาทาน กิเลสนี้เป็นสิ่งที่เกิดประจำอยู่ในใจ อยู่อย่างเหนี่ยวแน่นราวกะว่ามันแนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน ยากที่จะเข้าใจได้ ยากที่จะล้างออกได้สำหรับคนธรรมดา สิ่งใดเป็นที่ตั้งแห่งความรักใคร่ จะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ชั้นไหน ประเภทไน ลักษณะอย่างไรก็ตาม ก็เรียกว่ากามทั้งนั้น ความที่จิตยังติดอยู่ด้วยความพอใจในสิ่งที่รักใคร่เช่นนี้ เรียกว่า กามราคะ ได้ทุกกวิถีทาง
๓๐๔
ที่เรียกว่า ปฏิฆะ นั้น เป็นความกระทบกระทั่งแห่งจิตที่รู้สึกไม่พอใจ ถ้าพอใจก็จัดเป็นกามราคะ ไม่พอใจจึงจะเป็นปฏิฆะ ความรู้สึกส่วนมากของคนเรามีอยู่อย่างนี้ ปฏิฆะอาจจะเกิดได้แม้ต่อสิ่งที่ไม่มีวิญญาณ และถ้ามากไปกว่านั้น ก็ไม่พอใจ แม้แต่สิ่งที่ทำเองหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในใจเอง ส่วนที่ มีอาการโกรธ เกลียด พยาบาทคนอื่นนั้น เป็นปฏิฆะที่รุนแรงเกินไป ซึ่งพระอริยบุคคลชั้นต้นๆ กว่านี้ก็พอจะละได้ตามสมควร ที่เหลืออยู่สำหรับให้พระอริยเจ้าชั้นที่ ๓ ละ นี้หมายถึงความกระเพื่อมแห่งจิตชั้นละเอียด จนบางทีก็ไม่ปรากฏอะไรออกมา เป็นความขุ่นอยู่ข้างใน ดูสีหน้าจะไม่ทราบ ว่ามีความไม่พอใจอยู่ข้างใน เป็นต้น เช่น ความหงุดหงิด รำคาญ ขัดใจในคนหรือสิ่งต่างๆ ที่ไม่เป็นไปตามปรารถนา ถ้าผู้ใดละปฏิฆะทุกชนิดได้สิ้นเชิงท่านทั้งหลายลองคิดดูว่า จะอยู่ในฐานะที่น่าบูชาสักเพียงไร หรือเป็นบุคคลพิเศษสักเพียงไร
๓๐๕
กิเลสทั้ง ๕ ข้อ ที่กล่าวมาแล้วนี้ ท่านจัดไว้ว่าเป็นขั้นต่ำนับตั้งแต่สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ จนถึง ปฏิฆะ พระอริยบุคคลประเภทที่ ๓ ละได้หมด เพราะไม่มีกามราคะเหลืออยู่เลย พระอริยเจ้าประเภทนี้จึงไม่เวียนมาสู่กามภพอีกต่อไป เป็นเหตุให้ได้นามว่า อนาคามี แปลว่าผู้ไม่มีการกลับมาอีก มีแต่จะรุดหน้าสูงขึ้นไปเป็นพระอรหันต์และนิพพาน หรือในภาวะอื่นที่ไม่เกี่ยวกับกามคือภพของรูปพรหมอันดับปลายๆ ส่วนกิเลสที่ยังเหลืออีก ๕ อย่างข้างปลายนั้นอริยบุคคลประเภทที่ ๔ คือ พระอรหันต์ จึงจะละได้ทั้งหมดทั้งสิ้น
๓๐๖
กิเลสถัดไปอีกคือ รูปราคะ อันเป็นสังโยชน์ข้อที่ ๖ นั้น หมายถึงความรักใคร่ ความพอใจในความสุขที่เกิดมาจากรูปสมาบัติ เหมือนที่เป็นแก่พวกโยคีที่เพ่งรูปเป็นอารมณ์ พระอริยเจ้า ๓ ชั้นแรก ยังไม่สามารถละความสุขความพอใจที่เกิดจากรูปฌานได้ แต่จะถอนได้ในเมื่อเลื่อนมาถึงพระอริยเจ้าชั้นสุดท้ายคือ พระอรหันต์ ทั้งนี้ก็เพราะความสงบสุขเยือกเย็น อันเกิดมาแต่รูปบริสุทธิ์ก็มีรสชาติที่จับอกจับใจ จนถึงกับพอจะเรียกได้ว่าเป็นพระนิพพาน ชิมลองดูก่อน เป็นพระนิพพานล่วงหน้าแล้วมีรสอย่างเดียวกัน หรือทำนองเดียวกับรสของพระนิพพานที่แท้จริงหากแต่เป็นเรื่องชั่วคราว เป็นเรื่องที่เป็นไปในระหว่างที่กิเลสสงบรำงับ เพราะอำนาจของฌาน ไม่ใช่กิเลสสูญหายเหือดแห้งไปจริง เมื่อหมดกำลังของฌาน กิเลสก็กลับมาปรากฏอีก ขณะที่กิเลสสงบ รำงับ อยู่ด้วยอำนาจของฌาน จิตนี้ก็ว่างโปร่งเป็นอิสระ มีรสชาติคล้ายกันกับรสของนิพพานที่แท้จริงเหมือนกัน ฉะนั้น จึงเป็นสาเหตุให้หลงติดได้เหมือนกัน บางยุคเคยบัญญัติว่าเป็นนิพพานก้นมาแล้ว
๓๐๗
กิเลสอันละเอียดข้อที่ ๗ ที่เรียกว่า อรูปราคะ นั้นหมายถึงความพอใจติดใจในความสุขที่เกิดมาแต่อรูปสมาบัติเป็นเรื่องคล้ายกับข้อที่ ๖ ผิดกันแต่ว่าชั้นนี้ละเอียดประณีตขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งการเจริญฌานโดยมีสิ่งที่มีรูปเป็นอารมณ์สำหรับเพ่ง นั้นย่อมได้ความสงบที่เนื่องอยู่กับรูปนั้นๆ เพราะฉะนั้นจึงหยาบกว่าการเจริญฌานอันกำหนดเพ่งสิ่งที่ไม่มีรูป เช่น อาการหรือความว่างเปล่ามาเป็นอารมณ์ ได้ผลเป็นความสงบเงียบสุขุม ลึกซึ้งกว่าความสงบที่เป็นรูปฌาน ท่านจึงจัดไว้ในลำดับหลังจากรูปฌานและเรียกว่าอรูป ความพออกพอใจติดใจในความสุขสงบชนิดนี้เรียกว่าอรูปราคะ ฉะนั้น สำหรับผู้ที่จะเป็นพระอรหันต์ จะหลงใหลในสุขเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้เลย ไม่ว่าสุขเวทนานั้นจะเกิดมาจากอะไร
๓๐๘
เพราะตามธรรมดาของพระอรหันต์ จะมองเห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของความรู้สึกทุกชนิด จึงไม่อาจจะมีความติดใจในความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงละรูปราคะและอรูปราคะได้โยคี ฤๅษี อื่นๆ ที่บำเพ็ญรูปฌานหรืออรูปฌานตามป่านั้น มองไม่เห็นความลี้ลับของสุขเวทนา จึงติดแน่นอยู่ในรสของฌานหรือสมาบัติอย่างหลงใหล เช่นเดียวกับคนหนุ่มคนสาวตามธรราดาๆ ที่มีจิตติดแน่นหลงใหลอยู่ในรสของกามคุณ ท่านจึงใช้คำว่า “ราคะ” อย่างเดียวกันหมด ถ้าท่านทั้งหลายพิจารณาให้เข้าใจในเรื่องนี้จริงๆ แล้ว ก็จะพอใจหรือจะเลื่อมใสบูชา ในบุคคลที่เรียกว่าพระอริยเจ้านั้นอย่างยิ่ง
๓๐๙
เครื่องผูกคนให้ติดอยู่ในโลกข้อที่ ๘ เรียกว่า มานะ ได้แก่ความรู้สึกสำคัญตัวว่าเป็นนั่น เป็นนี้ เป็นชั้นเป็นเชิงว่าเราเลวกว่าเขา เราเสมอเขา เราดีหรือสูงกว่าเขา ถ้ารู้สึกว่าตนเลวกว่าก็น้อยใจ รู้สึกว่าตนดีกว่าก็ทะนงใจ รู้สึกว่าเสมอๆ กัน ก็นึกไปในทางที่จะแข่งขันหรือทำตนให้ก้าวหน้ากว่าเขา ทำนองนี้เป็นต้น ข้อนี้ไม่ได้หมายถึงมานะทิฏฐิด้วยความเย่อหยิ่งจองหองตามธรรมดา ย่อมเป็นการยากมากที่จะไม่ให้ใครๆ ตามปกติรู้สึกว่าตัวดีกว่าเขา เลวกว่าเขา ในทำนองนี้ กิเลสชนิดนี้มาอยู่ในอันดับที่ ๘ เกือบสุดท้ายเช่นนี้ ย่อมหมายความว่ามันละยาก จึงมาอยู่แทบจะรั้งสุดท้าย ซึ่งพระอริยเจ้าชั้นสูงสุดเท่านั้นที่จะละได้ชั้นเราๆ ตามธรรมดาจึงยังละไม่ได้
๓๑๐
ความรู้สึกว่าตนดีกว่าหรือเสมอกัน หรือตนเลวกว่าเขานี้ย่อมมาจากความยึดติดชนิดหนึ่งนั่นเอง แต่ท่านไม่ใช้ชื่อว่าอุปาทาน ใช้ชื่อว่ามานะ แต่ถ้าจิตใจอยู่เหนือความดี ความชั่วเสียแล้ว ความรู้สึกต่างๆ เช่นนี้จะมีอยู่ไม่ได้ แต่เพราะจิตใจของเรายังแพ้ต่อค่าของความดีความชั่ว ฉะนั้นเราจึงมีความรู้สึกว่าใครดี ใครชั่ว หรือใครเสมอกัน เป็นเหตุให้ใจหวั่นไหวไปบ้าง เพราะเหตุที่รู้สึกเช่นนั้นอยู่ จึงยังไม่เป็นความสบสุขจริงๆ
๓๑๑
สังโยชน์ข้อที่ ๙ เรียกว่า อุทธัจจะ แปลว่า ความกระเพื่อมความฟุ้ง หรือความไม่สงบนิ่ง เช่นความรู้สึกที่กระพือขึ้นในเมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่น่าสนใจผ่านมา คนเรามีความต้องการอะไรๆ ประจำอยู่ในใจ โดยเฉพาะก็คือความอยากได้อยากเป็น อยากไม่เอา อยากไม่เป็น เมื่อมีสิ่งใดผ่าน ตา หู จมูก ลิ้น กาย มาในลักษณะที่ตรงกับความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งของตนเข้าแล้ว ความกระพือขึ้นของใจย่อมจะมีได้อย่างที่เราเรียกกันว่า “ความทึ่ง” ทึ่งในแง่ดีก็ได้ ทึ่งในแง่ร้ายก็ได้ ถ้าดูแปลกประหลาดแล้วเป็นต้องเกิดความสงสัยทึ่งขึ้นมาทีเดียว เพราะเรายังมีสิ่งที่เราต้องการ ยังมีสิ่งที่เราหวดกลัววิตกกังวลระแวงอยู่ ฉะนั้น ใจจึงทนไม่ได้ต้องทึ่งต่อสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาคนธรรมดาเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นสิ่งที่ถูกกับตัณหาแล้วก็ยากที่จะระงับได้ ย่อมสนใจจนเนื้อเต้น ดีใจจนลืมตัว ถ้าเป็นเรื่องเศร้าก็ทำให้ใจแฟบเหี่ยวแห้งจนหมดความสุข นี่คือลักษณะของสิ่งที่เรียกว่า อุทธัจจะ
๓๑๒
พระอริยเจ้า ๓ ประเภทข้างต้น ก็ยังมีความทึ่งและมีความสนใจในบางสิ่งบางอย่าง แต่พระอรหันต์ไม่มีความทึ่ง ไม่มีความสนใจในสิ่งใดเลย เพราะจิตใจของท่านหมดความกระหายในสิ่งทั้งปวง หมดความกลัว หมดความเกลียด หมดความวิตกกังวล หมดความระแวงสงสัยอยากรู้อยากเห็นในสิ่งต่างๆ ท่านมีจิตใจเป็นอิสระ ไม่มีอะไรมาล่อหรือยั่วให้เกิดความทึ่งหรือความสนใจ เพราะหมดความต้องการนั่นเอง จึงหมดความสนใจหรือข้อสงสัยทั้งปวง ขอให้เข้าใจไว้ด้วยว่า ความสงสัยในปัญหาต่างๆ นั้นมันมีอยู่หรือมันเกิดขึ้นก็เพราะความอยากอย่างใดอย่างหนึ่ง นับตั้งแต่อยากรู้ไปทีเดียว
๓๑๓
ครั้นหมดความอยากเพราะเห็นสิ่งทั้งปวงเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีอะไรที่น่าเอา น่าเป็น จึงไม่มีความทึ่งในสิ่งใดๆ ฟ้าผ่าลงมาข้างๆ ท่านก็ไม่มีความทึ่ง เพราะไม่มีความรู้สึกกลัวตาย หรืออยากอยู่หรืออะไรทำนองนั้น แม้จะมีอะไรๆ ที่ร้ายแรงชนิดไหน หรือว่าเกิดมีความรู้ความคิดสิ่งใหม่ๆ ในโลก ท่านก็ไม่มีความทึ่งความสนใจ เพราะมันไม่มีความหมายอะไรเลยสำหรับท่าน ท่านไม่ต้องการทราบถึงสิ่งใดในลักษณะที่ว่ามันจะอำนวยอะไรให้ท่านได้บ้าง เพราะท่านไม่ต้องการอะไร ฉะนั้นจึงไม่มีความทึ่งในลักษณะใดๆ หมด จิตของท่านจึงบริสุทธิ์หรือสงบอย่างที่คนเราตามธรรมดาคาดไม่ถึงเอาทีเดียว
๓๑๔
กิเลสข้อ ๑๐ อันเป็นข้อสุดท้าย ท่านเรียกว่า อวิชชา เป็นที่รวมของบรรดากิเลสทั้งหลาย ที่ไม่ได้ระบุชื่อไว้เป็นอย่างอื่น คำว่า อวิชชา แปลว่า ภาวะที่ปราศจากความรู้ ความรู้ในที่นี้หมายถึงความรู้จริงความรู้ถูกต้อง ตามธรรมดาสัตว์ทั้งหลายจะอยู่โดยไม่มีความรู้อะไรเลยนั้น เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าความรู้นั้นเป็นความรู้ผิด ก็มีค่าเท่ากับไม่รู้ คนจึงมีอวิชชาหรือรู้ผิดอยู่เป็นประจำ จึงมืดมน ปัญหาสำคัญที่สุดของมนุษย์ก็คือ ปัญหาที่ว่า อะไรเป็นความทุกข์ที่แท้จริง อะไรเป็นต้นเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นความไม่มีทุกข์ที่แท้จริง และอะไรเป็นหนทางอันแท้จริงซึ่งจะให้ได้มาซึ่งความไม่มีทุกข์นั้นๆ ถ้าใครมีความรู้จริงๆ แล้วเรียกว่าคนนั้นไม่มีอวิชชา จัดเป็นผู้มีวิชชาในที่นี้
๓๑๕
บรรดาความรู้ทั้งหลาย มีมากมายเหลือที่จะกล่าวได้แต่พระพุทธเจ้าท่านจัดไว้ในจำพวกที่ไม่จำเป็นต้องรู้ ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเอง ก็มีขอบเขตอยู่แต่ในวงเรื่องที่ควรรู้ ในบรรดาสิ่งที่ควรรู้แล้วพระองค์ทรงรู้ทั้งหมด คำว่า “สัพพัญญู” (รู้ทั้งหมด) ก็คือการรู้แต่ในขอบเขตที่ควรรู้ ไม่ใช่ว่าจะครอบคลุมไปถึงสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องรู้ สำหรับการดับทุกข์
๓๑๖
อวิชชาทำให้คนสำคัญผิด ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นความสุขจนถึงกับพอใจยอมเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ และสำคัญผิดในเหตุของความทุกข์ จนไปคว้าเอาสิ่งที่ผิดไว้ หรือเกิดความโง่เขลาใหม่ๆ ขึ้นมาเช่น การโทษผีสางเทวดา โทษอะไรต่างๆ ว่าเป็นเหตุให้เกิดเจ็บไขหรือเคราะห์ร้าย แทนที่จะรักษาหรือแก้ไขโดยวิธีที่ถูกต้อง ก็ไปนั่งบนบานผีสางเทวดาอยู่อย่างนี้ นี่เรียกว่าอวิชชาเป็นต้นเหตุของความทุกข์ขั้นต่ำที่สุด นี้เป็นตัวอย่าง
๓๑๗
สำหรับอวิชชาในเรื่องความดับสนิทของทุกข์นั้นคือไม่รู้เรื่องการดับกิเลสดับตัณหา ซึ่งเป็นต้นเหตุของการดับทุกข์โดยตรงไปหลงเอาความสงบสุข หรือความไม่รู้สึกตัวชนิดที่เกิดมาจากสมาธิ หรือฌานสมาบัติว่า เป็นความดับทุกข์สิ้นเชิง ซึ่งมีดกดื่นในสมัยพุธกาลและยังคงส่งเสริมทำกันจนถึงบัดนี้ บางครั้งยังอาจถึงกับยึดเอากามารมณ์เป็นเครื่องดับทุกข์ อย่างที่บางคนได้ยึดเป็นหลักไว้ว่ากามารมณ์เป็นของจำเป็นมาก หรือเป็นอาหารสำหรับชนิดหนึ่งของชีวิตแทนที่จะมีปัจจัยเพียง ๔ อย่าง คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ก็เพิ่มเอากามารมณ์เข้าไปอีกอย่างหนึ่งรวมเป็นปัจจัย ๕ อย่าง อย่างนี้ก็มี บางลัทธินิกายได้เอากามารมณ์เป็นเครื่องดับทุกข์ จึงเกิดเป็นลัทธินิกายที่มีการกระทำอันน่าบัดสีลามกอนาจารขึ้น ที่วิหารของเขานั่นเอง
๓๑๘
สำหรับอวิชชาความไม่รู้ในหนทาง ที่จะให้ได้มาซึ่งความดับทุกข์นั้น คนที่ไมรู้ก็ย่อมทำไปตามความเขลาหรืออำนาจกิเลสตัณหา ตามความต้องการของตนเอง เช่น หลงเชื่อในสิ่งภายนอกคอยแต่พึ่งผีพึ่งเทวดาไปตามประสาของคนที่ไม่มีศาสนา แม้จะเป็นพุทธบริษัทโดยกำเนิดอยู่แล้ว ก็ยังหลงไปได้ถึงขนาดนั้น เพราะอำนาจของอวิชชานั่นเอง ทำให้ไม่เข้าใจหรือยินดีในการดับทุกข์ โดยปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ แต่ไปดับทุกข์ของตนด้วยการจุดธูปเทียนนั่งบนบานสิ่งที่ตนเองเชื่อถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ตามปกติคนต้องการมีความรู้ แต่ถ้าความรู้นั้นเป็นความรู้ผิด เมื่อยิ่งรู้มากก็ยิ่งผิดมาก เลยกลายเป็นความรู้ชนิดที่บังลูกตา
๓๑๙
คำว่า แสงสว่างๆ นี้ก็จะต้องระวัง อาจจะเป็นแสงสว่างของอวิชชาก็ได้ คือแสงที่ทำให้ตามืดบอดหลงผิดและทำให้เกิดความประมาท โดยไม่อาจสำนึกว่าตนกำลังถูกแสงของอวิชชานี้บังลูกตาอยู่ จึงไม่สามารถจะเอาชนะความทุกข์ได้ มัวแต่หลงในสิ่งเล็กน้อยไม่เป็นสาระอย่างเทิดทูนบูชา หลงใหลในกามารมณ์ต่างๆ ว่าเป็นสิ่งดีที่สุดของมนุษย์ ซึ่งทุกคนควรจะได้รับเสียก่อนที่จะตาย แล้วจะแก้ตัวว่า ทำเพื่ออุดมคติอันอื่นอย่างไรได้ การหวังไปเกิดในสวรรค์ โดยหมายเอากามารมณ์เป็นที่ตั้ง อะไรๆ ก็ไปติดอยู่แค่กามารมณ์ทั้งนั้น นี้เพราะอวิชชาได้หุ้มห่อจิตใจไว้อย่างไม่ให้ใครทะลุรอดออกไปได้
๓๒๐
ในพระบาลีบางแห่ง ได้อุปมาอวิชชาว่า เหมือนกับเปลือกหนาที่หุ้มโลกทั้งหมด ไม่ให้ใครได้เห็นแสงสว่างที่แท้จริง ท่านจัดอวิชชาไว้เป็นกิเลสข้อสุดท้าย เป็นอันว่าเมื่อเป็นพระอรหันต์จึงตัดกิเลส ๕ อย่างข้างท้ายได้หมด คือ ตัดรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา ซึ่งเป็นการตัดสังโยชน์ได้ทั้ง ๑๐ อย่างแล้วก็จะกลายเป็นพระอรหันต์ คือเป็นพระอริยเจ้าชั้นสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา
๓๒๑
พระอริยเจ้าทั้ง ๔ ประเภท กล่าวคือ พระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และอรหันต์ นี้จัดว่าเป็นผู้ที่อยู่ใน โลกุตตรภูมิ ตัวธรรมที่ได้บรรลุเรียกว่า “โลกุตตรธรรม” แยกออกเป็น ๙ อย่าง คือ ภาวะของพระโสดาบัน ในขณะที่กำลังตัดกิเลสนั้นเรียกว่า โสดาปัตติมรรค อย่างหนึ่ง เมื่อตัดกิเลสได้แล้วเรียกว่า โสดาปัตติผล อีกอย่างหนึ่ง จึงเป็นคู่ๆ คือ โสดาปัตติมรรค-โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค-สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค-อนาคามิผล อรหัตตมรรค-อรหัตตผล เป็น ๔ คู่ เติมนิพพานเข้าอีกหนึ่งจึงเป็น ๙ เรียกว่า โลกุตตรธรรม ๙
๓๒๒
บุคคลในโลกกุตตรภูมิ เป็นผู้มีความทุกข์น้อยลงตามสัดส่วนจนกระทั่งไม่มีทุกข์เลย เมื่อมีการกระทำให้รู้แจ้งชนิดที่ถูกต้องเหมือนสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริงจนระงับความอยากทั้งปวงได้จริงๆ แล้ว ก็จะเกิดผลเป็นโลกุตตรภูมิขึ้นมา ทำให้จิตใจของผู้นั้นอยู่เหนือวิสัยชาวโลก หลังจากนี้ สิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งของความพอใจ หรือไม่พอใจในโลก ก็ไม่สามารถจะครอบงำจิตใจหรือมีอิทธิพลเหนือจิตของท่านได้อีกต่อไป เพราะท่านละกิเลสทุกชนิดได้หมดจนสิ้นเชิง
๓๒๓
ส่วนที่เรียกว่า “นิพพาน” นั้น ถ้าเป็นเรื่องโลกกุตตรธรรมก็หมายถึง สภาพอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนกับสิ่งใดๆ หมดคือ ไม่เหมือนกับสิ่งทุกสิ่งในโลก ผิดจากทุกสิ่งในโลกเมื่อทางโลกหรือสิ่งทั้งหลายมีภาวะเป็นอย่างไร ถ้ายกเลิกภาวะและวิสัยเหล่านั้นทั้งหมดเสียได้ ก็จะเหลือสิ่งที่เรียกว่านิพพาน กล่าวคือสภาพตรงกันข้ามจากโลกโดยประการทั้งปวง เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งไม่ต้องอาศัยสิ่งใดปรุงแต่งและไม่ปรุงแต่งสิ่งใด เป็นที่ดับของการปรุงแต่งทั้งปวง แต่ถ้าจะกล่าวทางผล นิพพานก็หมายถึงภาวะ ที่ปราศจากการถูกเผาลนปราศจากการถูกตบตี ทิ่มแทงร้อยรัด ครอบงำผูกพันอะไรทั้งหมดเหล่านี้ เพราะว่า กิเลสทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุทำให้ร้อนอกร้อนใจต่างๆ นานาได้ถูกทำลายให้หมดไป ก่อนถึงภาวะที่เรียกว่านิพพาน
๓๒๔
นิพพาน เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ไม่มีขอบเขต ไม่ต้องอาศัยการกินเนื้อที่ ไม่ขึ้นอยู่กับการล่วงไปของเวลาหรือไม่เกี่ยวข้องกับกาลเวลา แต่อยู่ในลักษณะเป็นตัวของตัวเองชนิดหนึ่ง ไม่เหมือนอะไรๆ ในโลก แต่เป็นที่ดับของภาวะโลกๆ พูดในฐานะเป็นอุปมา ท่านให้นามว่าเป็นแดนที่ดับของสิ่งปรุงแต่งทั้งปวงจึงเป็นธรรมชาติที่อิสระปราศจากเครื่องผูกมัด ไม่มีการถูกทรมาน กระทบกระแทกทิ่มแทงโดยอะไรๆ ทั้งสิ้น นี่เป็นลักษณะของโลกุตตรธรรมข้อสุดท้าย เป็นจุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องสุดท้ายของการปฏิบัติธรรมทางพุทธศาสนา
๓๒๕