วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การปฏิบัติธรรมแบบพึ่งตัวเอง

การปฏิบัติธรรมแบบพึ่งตัวเอง ดูตัวเอง
มีสติกำหนดในการทำงานทุกชนิด
เรื่องโดย... สมิลา สุทธิศีลธรรม
แปลโดย...แม่ชีมณีวรรณ์ วีระศิลป์
วัดโดยส่วนมาก จะต้องจ้างช่างมาก่อสร้างศาสนสถานต่างๆ ภายในวัด จากความเชื่อที่ว่า การใช้แรงงานเป็นงานที่ไม่สมควรแก่สมณเพศ แต่วัดแห่งหนึ่งบนเกาะสีชัง ไม่เคยต้องจ่ายเงินเลยสักบาทเพื่องานก่อสร้างด้วยความศรัทธาที่ว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิสติสัมปชัญญะ ดังนั้นพระและแม่ชีที่วัดถ้ำยายปริกแห่งนี้ จึงได้สร้างวัดจากที่ไม่มีอะไรเลย ด้วยแรงงานของพวกท่านเหล่านั้นเอง
“ที่จริงแล้ว งานที่อาศัยแรงงานทุกชนิดที่นี่ พวกเราพระ ชี จะทำกันเอง” แม่ชีศรีสุดา ท้วมสมบูรณ์ วัย 48 ปี กล่าว
“และถ้ามีงานก่อสร้าง ทุกๆ คนจะร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือกันทำงานจนสำเร็จ”
เริ่มแรกที่หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร มาอยู่ที่นี่ เมื่อปี พ.ศ.2514 มีเพียงถ้ำซึ่งเป็นหินปูน อันเป็นที่วิเวก โดดเดี่ยว และต้องอาศัยความเสียสละ กล้าหาญ อดทน วัดได้เจริญเติบโตขึ้นพร้อมๆ กับกิตติศัพท์ของหลวงพ่ออาจารย์ผู้นำในด้านการเจริญภาวนากรรมฐาน ปฏิบัติธรรม ผู้ซึ่งสามารถดึงดูดผู้มีจิตใจใฝ่ในธรรม ให้ได้เข้ามาในชีวิตแบบสมณเพศ ภายใต้การควบคุมดูแล แนะนำแนวทางการปฏิบัติธรรมจากท่าน ปัจจุบันมีพระภิกษุ 23 รูป และ แม่ชี 22 คน ซึ่งล้วนมาจากสารอาชีพหลายแขนงระดับมืออาชีพ
“บ้างก็เคยเป็นช่างไฟฟ้า ผู้มากด้วยประสบการณ์ ช่างก่อสร้าง ช่างไม้” แม่ชีศรีสุดา ผู้เคยผ่านชีวิตการเป็นครูกล่าว “จากความถนัดและความชำนาญต่างๆ กันเช่นนี้ ทำให้วัดเราสามารถที่จะพึ่งตัวเองได้ด้วยพลังสามัคคีธรรมอย่างกลมกลืน”
นอกจากอุโบสถ ศาลาปฏิบัติกรรมฐาน และกุฏิพระแล้ว วัดถ้ำยายปริกยังมีสวนผัก ผลไม้ขนาดใหญ่ พอที่จะเลี้ยงดูพระและแม่ชีภายในวัดได้อย่างพอเพียง และสิ่งที่เป็นเครื่องเชิดหน้าชูตาสำหรับที่นี่ก็คือ บ่อเก็บน้ำฝนใต้ดินขนาดความจุต่างๆ กัน จำนวนถึง ๓๗ บ่ออีกด้วย
ทำไมต้องมีบ่อเก็บน้ำฝนมากมายขนาดนั้น..
เพราะเกาะสีชังเป็นเกาะหิน และไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติแหล่งอื่นๆ เลย จึงจำเป็นจะต้องมีบ่อสำหรับกักเก็บน้ำฝน เพื่อจะได้มีน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี
“เมื่อครั้งที่หลวงพ่ออาศัยอยู่องค์เดียวภายในถ้ำ มีเพียงตุ่มแดงใบเดียวเพื่อใช้สำหรับเก็บน้ำฝน” แม่ชีกล่าว “ในช่วงนั้นท่านใช้น้ำเพียงวันละขันทั้งดื่ม ล้างมือ ล้างเท้าและเช็ดตัว”
หลวงพ่อ มีความเมตตากรุณาต่อเหล่าพระและแม่ชี มากกว่าที่ท่านปฏิบัติต่อตนเองมาแล้วในอดีต
“พวกเราน้อมรับมาปฏิบัติตาม โดยใช้น้ำเพียงวันละ ๖ ขัน เพื่อชำระล้างร่างกาย” แม่ชีกล่าว พร้อมทั้งยิ้มในความตะลึงของผู้มาเยือน
ในการมองและเห็นด้วยสติปัญญาของหลวงพ่อว่า ธรรมชาติให้อะไรแก่เรา และการให้อย่างเกิดประโยชน์สูงประหยัดสุด ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพต่อธรรมชาตินั้น ทำให้บารมียิ่งเพิ่มพูน และวัดก็ได้พัฒนาแผ่ขยาย เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป
บ่อเก็บน้ำฝนจึงถูกสร้างอยู่ใต้เกือบทุกๆ อาคารภายในวัด
“เมื่อฝนตก น้ำฝนจะไหลจากหลังคาลงสู่รางน้ำ ผ่านท่อแล้วไหลลงสู่บ่อเบื้องล่าง” แม่ชีอธิบาย
แผนผังโครงสร้างของวัด แสดงให้เห็นถึงสติปัญญาของหลวงพ่อดังนั้นเมื่อบ่อเก็บน้ำฝนด้านบนสุดถูกบรรจุด้วยน้ำฝนจนเต็ม น้ำจะไหลผ่านท่อไปยังบ่ออื่นๆ ด้านล่าง จนกระทั่งเต็มทุกบ่อ น้ำที่ล้นจะถูกปล่อยลงสู่ทะเล
น้ำฝนที่กักเก็บไว้จะใช้ทำประโยชน์ทุกอย่าง ตั้งแต่ใช้ดื่มไปจนกระทั่งถึงการใช้รดให้แก่พืชผักในสวน ต้องขออนุโมทนาสำหรับการใช้น้ำอย่างประหยัดของชาววัด จึงทำให้มีน้ำเหลือ พอที่จะแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านได้อีกด้วย
“ชาวบ้านต้องซื้อน้ำปริมาตร 1 ลูกบาศก์เมตร ในราคา 90-100 บาท ซึ่งถือว่าแพงมาก” แม่ชีกล่าว
ในวันแจกจ่ายน้ำ ชาวบ้านจะนำเอาถังบรรจุใส่รถมารับน้ำจากวัดได้ฟรี ไม่เพียงแต่น้ำเท่านั้นที่วัดถ้ำยายปริกให้แก่ชาวเกาะสีชัง ผักจำนวนมากที่ปลูกภายในวัดซึ่งมีพื้นที่ 19 ไร่ ก็ได้ให้ผลผลิตอันมาก ไม่ว่าจะเป็นมะเขือเทศ มะเขือเปราะ มะเขือยาว ผักกาดขาว ผักกะเฉด ถั่วต่างๆ ฟักทองและอื่นๆ ผลผลิตจำนวนมากเกินความจำเป็นสำหรับพระและแม่ชีผู้ที่ฉันเพียงวันละมื้อเดียว จึงได้นำไปจ่ายแจกเพื่อเป็นทานให้แก่ชาวบ้านต่อไป
แม้ว่าพระและแม่ชีที่วัดถ้ำยายปริก จะต้องใช้แรงงานของตนเอง แต่ท่านเหล่านั้นก็ไม่เคยคิดว่าเป็นชีวิตที่ลำบาก “มันเป็นตบะในการพึ่งตนเอง ดูตัวเอง” แม่ชีกล่าว
“ชีวิตที่สันโดษ พึ่งตัวเองเช่นนี้ เป็นเฉกเช่นเดียวกับชีวิต สมณะในครั้งสมัยพุทธการโน้น พวกท่านเหล่านั้นไม่ได้มีเครื่องนุ่งห่มใส่อย่างสบาย และนั่นพวกเรามีเจตนาที่จะเดินตามรอยดั่งนั้นเช่นกัน”
หลวงพ่อท่านจะไม่เห็นด้วยกับการนำเอาพุทธศาสนา มาทำเป็นพุทธพาณิชย์ ดังนั้นที่วัดยายปริก จึงไม่มีการผูกดวงชะตา จำหน่าย หรือแจกเครื่องรางของขลัง หรือแม้แต่การพรมน้ำมนต์ ดังเช่นนิยามทำกันโดยทั่วไปในวัดอื่นๆ
ขณะที่วัดโดยทั่วไปไม่ค่อยใส่ใจดูแลและให้ความอุปการะแก่แม่ชีแต่ที่วัดถ้ำยายปริกแห่งนี้ หลวงพ่อได้ให้การอุปการะ เกื้อกูลแก่แม่ชีหรืออุบาสิกาผู้มุ่งปฏิบัติธรรม โดยก่อตั้งมูลนิธิขึ้น นอกจากนี้ยังได้จัดทำเทปบันทึกธรรมและหนังสือธรรมะแจกเป็นธรรมทานอีกด้วย
คำสอนและแนวทางในการปฏิบัติธรรม ของหลวงพ่อประสิทธิ์ถาวโร ที่ใช้แนะนอบรมพระ แม่ชี อุบาสก อุบาสิกา ผู้มาปฏิบัติธรรม ภายในวัดนั้น มีลักษณะเดียวกันกับแนวคำสอนของท่านพุธทาส พระนักปฏิบัติรูปของวัดสวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี โดยเน้นความสำคัญของสติว่า การทำกิจใดๆ หน้าที่ใดๆ ด้วยสติ หรือการกำหนดสติในทุกอิริยาบถ นั้นก็คือการปฏิบัติธรรมนั่นเอง
“และนั่นคือคำตอบที่ว่า ทำไมพวกเราจึงไม่เคยรู้สึกว่า งานที่ทำกันอยู่ในชีวิตประจำแต่ละวันนั้น เป็นงานที่ยากลำบาก” แม่ชีศรีสุดาอธิบายต่อ “พวกเราได้พิจารณาเห็นว่า เป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาจิตใจของตนเองสมกับความตั้งใจเช่นนั้น พระและแม่ชีจึงได้ฝึกสมาธิและปลุกสติให้ตื่นอยู่เสมอ ในทุกอิริยาบถนั่นเอง”
ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่ตีหินเพื่อทำบ่อเก็บน้ำฝน จะใช้สมาธิและสติสัมปชัญญะในการกำหนดดูจังหวะการตีแต่ละครั้งๆ และได้นำมาปฏิบัติในทำนองเดียวกันนี้กับการฝึกจิต โดยการเฝ้าดูลมหายใจเข้าและออก”
หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร ได้นำเอาธรรมชาติที่มีปรากฏให้เห็นในวัดมาใช้ในการสอนธรรมะ
“หลวงพ่อแนะนำให้เพ่งดูที่เส้นขอบฟ้า (คือเส้นที่ท้องฟ้าจรดกับผืนน้ำ) แล้วมองย้อนกลับมาดูภายในชีวิตของพวกเราเอง” แม่ชีกล่าว
“หลวงพ่อได้ชี้แนะว่า เส้นขอบฟ้ามีเพียงแค่ตาเราที่มองเห็นความจริงมันเป็นเพียงภาพลวงตา เราคิดกันเอาเองว่า มันอยู่ที่ตรงนั้นแต่เมื่อเดินทางข้ามทะเลเพื่อไปหา ณ ที่นั่น เรากลับได้พบเพียงแค่ความว่างเปล่า แต่เราก็ยังใช้ชีวิตหลงใหลไปในทะเลแห่งเพลิงทุกข์แสนสาหัส น่าสังเวชใจ ด้วยหวังว่า จะมี จะเป็น จะได้ ในสิ่งที่แท้จริงแล้ว ไม่มี”
หลวงพ่อเปรียบเส้นขอบฟ้า เหมือนกับความทะเยอทะยานดิ้นรนในทางโลก โดยอาศัยความหวังเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจว่า คงจะมีอะไรบางอย่างให้เราสมหวังรอคอยเราอยู่ข้างหน้า แต่กลับพบว่า ไม่เป็นจริงเช่นนั้นไม่มีสิ่งใดๆ เลยสำหรับพวกเราที่จะค้นพบและได้มา นอกเสียจากความว่างเปล่าเท่านั้นเอง
................

ธรรมะจากต้นพริกที่วัดถ้ำยายปริก
ธรรมะของพระพุทธเจ้า จากภูมิปัญญาธรรมของพระอริยสงฆ์ หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร เป็นธรรมะที่เผ็ดร้อน แต่ดับกระหาย สำหรับผู้แสวงธรรมะของแท้ ที่ไม่ต้องอาศัยเปลือกของพระศาสนา เพราะแก่นของพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อยู่ที่การปฏิบัติ ซึ่งผู้ปฏิบัติสามารถน้อมเข้ามาใส่ตน จนเห็นผลได้ด้วยตนเอง
ไม่ง่ายนัก ที่ผู้แสวงธรรมจะได้พบครูบาอาจารย์ ซึ่งมีหลักการสอนที่ถูกจริต ธรรมะแท้ของพระพุทธเจ้า ไม่ได้แบ่งแยกการปฏิบัติ หากผลการปฏิบัติเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ นั่นล้วนแล้วเป็นธรรมะ แต่จริตของผู้ปฏิบัติแตกต่างกัน ตามขันธสันดานของนานาจิต ที่ได้รับการสั่งสมอบรมมาแต่อดีตชาติ สำหรับผู้เขียน ซึ่งเคยปฏิบัติในสายการปฏิบัติที่แตกต่างจากอานาปานสติแบบหลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร ได้ค้นพบด้วยจิตตนเองว่า การฝึกสติแบบธรรมชาติ โดยใช้สติตามติดทุกอิริยาบถหรือสติปัฏฐาน 4 แบบ อัตโนมัติ ได้ผลกับผู้เขียนเอง ซึ่งเป็นคนมักไม่อยู่นิ่งและค่อนข้างรักอิสระในการเคลื่อนไหว การนั่งหรือยืนเดิน ในรูปแบบที่จำกัดเวลาและสถานที่ ค่อนข้างเป็นเรื่องทุกข์ทรมานไม่น้อยในอดีต
การเดินทางไปถึงวัดถ้ำยายปริกไม่ยาก จากท่าเรือศรีราชา ค่าเรือข้ามฟากไปเกาะสีชังเพียง 30 บาท และรถสองแถวอีก 30 บาท ท่านก็สามารถพาตนเองไปสัมผัสกับธรรมะของแท้ อันเป็นอมตรสจากหลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร ได้ หลวงพ่อไม่ใช่พระดัง ท่านไม่โฆษณาเชิญชวนใคร ไม่มีของแจกของแถม ไม่มีพระเครื่องวัตถุมงคลให้คนสับสนไขว้เขวไปจากหนทางดับทุกข์ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ไว้ ฉะนั้นหากถามทางไปวัดกับคนเมืองชลฯ คนศรีราชาหรือคนเกาะสีชังเอง ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถบอกทางไปวัดถูก
ธรรมะจากหลวงพ่อ นอกจากจะฉ่ำเย็นสนิทใจราวน้ำฝนหน้าแล้งหลวงพ่อยังมีลีลาการแสดงธรรม ที่ให้รสชาติธรรมะแบบถึงๆ หากจะเปรียบกับการกินอาหาร ก็เทียบได้กับอาหารรสเผ็ดที่มีรสพริกนำ ดังที่ตั้งหัวเรื่องไว้ ธรรมะเป็นสิ่งที่ต้องโอปนยิโกหรือน้อมเข้ามาใส่ตน คือ ต้องชิมเอง ต้องรู้รสเองจึงจะซาบซึ้งในการปฏิบัติ อาจารย์ชา พระอริยะ เคยเปรียบธรรมะเหมือนรสหวานของผลมะม่วง ซึ่งยิ่งบ่มยิ่งหอมยิ่งหวาน แต่ธรรมะของหลวงพ่อประสิทธิ์หรือหลวงตาในวัย 81 เป็นธรรมะที่มีรสเผ็ดและได้ผลทันใจ เหมือนพริกขึ้นหนูวัดถ้ำยายปริก ที่พระสงฆ์และแม่ชีที่วัดร่วมแรงร่วมใจกันปลูกเอง โดยใช้ศีลเป็นผืนดินให้รากต้นพริกได้หยั่งสมาธิคือน้ำฝนฉ่ำเย็นที่ประพรมให้ชื่นฉ่ำใจ และปัญญาเปรียบดังปุ๋ยที่พรวนดินให้เจริญงอกงาน จนต้นพริกให้ผลคือเม็ดพริกขึ้นหนูเผ็ดถึงใจ
ธรรมะของหลวงพ่อเผ็ดร้อนและได้ผลเชิงปฏิบัติ เช่นไร หลายท่านอาจจะสงสัยว่าหลวงตาวัย 81 ท่านนี้ มีประวัติความเป็นมาเช่นไร ประวัติส่วนตัวหลวงพ่อก่อนบวชน่าอัศจรรย์ ของน้อมนมัสการหลวงพ่อเพียงย่นย่อประวัติก่อนบวช 7 ปี ในคุก อันเนื่องมาจากกรรมตัดรอนชีวิตที่หลวงพ่อก่อกับภรรยาซึ่งคงจะเป็นคู่กรรม ความทุกข์ยากในคุกให้ดวงตาเห็นธรรมแก่หลวงพ่อ เมื่อออกมาตอนอายุ 46 ปี หลวงพ่อจึงตัดสินใจมอบกายถวายชีวิตแด่พระพุทธเจ้า การบำเพ็ญบารมีก่อนจะได้บรรลุธรรม และการเนรมิตถ้ำร้าง ซึ่งมีเพียงตุ่มน้ำแห้งขอด 1 ใบ อันเกิดจากนิมิตหมายให้กลายเป็นอารามสมบูรณ์แบบ พร้อมอุโบสถ หอปฏิบัติธรรม กุฏิพระสงฆ์และแม่ชี บ่อเก็บน้ำฝน เหล่านี้ล้วนรวมอยู่ในหนังสือ เล่มใหญ่ แก่นพุทธศาสนา ซึ่งรวบรวมประวัติการเทศน์ตลอด 34 ปี แห่งสมณเพศของหลวงพ่อ
นักปฏิบัติผู้คาดหวังจะมาปฏิบัติกรรมฐาน แบบนั่ง นอน ยืน เดิน ตามระเบียบวิปัสสนาที่จัดกันในรูปแบบกำหนดตารางเวลา 7 วัน 7 คืน อาจพบว่าการปฏิบัติที่วัดถ้ำยายปริก ไม่มีรูปแบบอย่างที่คาดหมาย ธรรมะของหลวงพ่อจะกลมกลืนกับธรรมชาติ จนผู้ที่ไม่ใช่นักปฏิบัติ หรือบุคคลภายนอกอาจตั้งคำถามว่า ทำไม ไม่เห็นผู้ปฏิบัติเดินจงกรม นั่งสมาธิ เห็นแต่พระสงฆ์ แม่ชีทำงานตั้งรุ่งสางตราบตะวันตกดิน
วันคืนที่วัดถ้ำยายปริก เริ่มต้นด้วยเสียงระฆังปลุกทำวัตรเช้าตั้งแต่ตีสี่ สวดมนต์แปลจนเกือบตี5 เปลี่ยนเสื้อผ้าจากชุดขาวเป็นชุดเข้าครัวทุกคนฝึกสติด้วยการกำหนดสติในการทำงานตามถนัดและตามกำลัง ไม่ว่าจะเป็นงานหั่นผัก ปอกผลไม้ เด็ดพริก ตำเครื่องแกง ปั้นสาคู ห่อแป้งข้าวเหนียว ล้วนแล้วแต่เป็นการปฏิบัติธรรม อันแนบสติกับสมาธิเข้าด้วยกัน หลวงพ่อให้หลักการปฏิบัติคือ การติดตามดูรูปนามตามจริงที่อาการปัจจุบัน กำหนดสติติดตามดูอาการเคลื่อนไหวของกาย เอื้อม หยิบ จับ หั่น วาง ล้าง อาการเคลื่อนไหวของจิต คิด ชอบใจ ไม่ชอบใจ เบื่อ น้อยใจ เกลียด โกรธ คือตั้งฐานของจิตตามแนวสติปัฏฐาน 4 ตามดูกาย เวทนา จิตธรรม อันได้แก่ความไม่เที่ยง และการเกิดดับของสรรพสิ่ง
หกโมงเช้า อาหารจากบาตรพระสงฆ์ซึ่งออกบิณฑบาตตั้งตีห้า ก็ถูกลำเลียงมาสู่โถงด้านหน้า ซึ่งจัดเป็นที่ฉันอาหารเช้าของพระสงฆ์และแม่ชีรวม 50 รูป หลวงพ่อจะเทศน์ตั้งแต่ 6 โมงเช้าจนถึง 7 โมงเช้า ธรรมะของหลวงพ่อก็เรื่องเดิม นี่หลวงพ่อพูดเอง อาหารที่กินเข้าไปเป็นอาหารเก่าเคยกินมาแล้วทั้งนั้น ผักหญ้าก็ของเก่า มนุษย์เกิดมาจากของสกปรก ต้องทำความสะอาดทุกวัน พึงสำรวจตนเองที่ล้วนหลอกกันเองว่าสวยงาม ไม่แก่ ไม่เน่า ไม่เหม็น
อย่างไรก็ตาม อาหารคาวหวานที่ถูกลำเลียงใส่รถเข็นมีล้อเลื่อนผ่านหน้าจากหวงพ่อไปจนถึงพระลูกวัดและแม่ชี ล้วนแลดูน่ารับประทานตามความต้องการของกิเลส ขั้นตอนกว่าอาหารที่เราแลดูด้วยอาการน้ำลายสอ จะผ่านจากพระและแม่ชีมาถึงผู้ปฏิบัติซึ่งนั่งอยู่หางแถว กินเวลาเกือบ 20 นาที แล้วแต่จำนวนอาหาร ทำเอาความยากหดหาย การฝึกสติด้วยการตามดูจิตขณะจะกิน ได้ผลในการสังเกตกิเลสตัวโลภ และฝึกจิตขณะมองตนและมองผู้อื่น พระฉันอาหารคาวหวานรวมในบาตร แม่ชีและะผู้ปฏิบัติก็เช่นกัน อาหารจะสวยงามน่ารับประทานเพียงใด ก็ไหลลงคอไปรวมอยู่ในกระเพาะ และหมักหมมในลำไส้ ถ่ายมาเป็นของเสีย สมดังคำบูชาข้าวพระที่ว่า “เราฉันเพื่อดับความหิว ล้วนแล้วแต่อนิจจัง” ก่อนรับประทาน พระจะสวดให้ศีลให้พรและกรวดน้ำ บรรยากาศศักดิ์สิทธิ์และสงบเย็น
หลังอาหารเช้า แม่ชีก็ช่วยกันเก็บสำรับ ล้างจาน ชุดขาวถูกเปลี่ยนเป็นชุดทำงานอีกครั้ง นอกจากงานเบาๆ และสนุกสนาน อย่างงานปั้นสาคูในครัว ซึ่งอาจเป็นงานน่าเบื่อ ถ้าไม่กำหนดจิตตามอาการเคลื่อนไหวของมือ งานของวัดล้วนเป็นงานที่ทำได้บุญ ไม่ว่าจะเป็นงานกวาดใบไม้ซึ่งแม่ชีจะกระโดดขึ้นท้ายรถกะบะ พร้อมหมาวัด 3 ตัว ซึ่งมักตามขึ้นไปบนเขา หรืองานสวนผัก รดน้ำ พรวนดิน ปลูกต้นไม้ จนถึงงานหนักๆ ที่ต้องใช้กำลังตามถนัด เช่นงานยกหิน ตีหินเพื่อใช้ในการก่อสร้าง งานทุกงาน ทุกรูป ทุกคนช่วยกันอย่างสามัคคีในพลังสติและสมาธิที่ฝึกไว้ดีแล้ว
ในสายตากระแสโลก ผู้คนที่แวะเวียนไปเยี่ยมชมวัดถ้ำยายปริกโดยไม่ได้มีเจตนาจะเข้าพักปฏิบัติธรรม อาจมองเห็นว่า ชีวิตและงานของแม่ชีเป็นชีวิตที่น่าเบื่อหน่าย หรือเป็นชีวิตที่สูญเปล่าหมดไปวันๆ แต่สำหรับผู้เข้ากระแสธรรม จะสรรเสริญชีวิตผู้ถือพรหมจรรย์ และอุทิศกายถวายชีวิตให้กับการตอบแทนบูชาคุณพระพุทธเจ้า ว่าเป็นชีวิตที่อิสระแล้วจากเครื่องพันธนาการทั้งปวง ชีวิตที่ดูเหมือนไม่มีอะไรตื่นเต้น การงานที่ดูเหมือนซ้ำซาก เหน็ดเหนื่อยและหนักหนา สำหรับผู้ไม่เคยผ่านงานหนัก นั่นแหละคือบททดสอบการมีชีวิตอยู่โดยเป็นอิสระจากอำนาจกิเลส ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตเรามาโดยตลอด กิเลสซึ่งบงการให้จิตเราเร่าร้อน ทะยานอยาก ในลาภ ยศ สรรเสริญ ซึ่งล้วนเป็นของไม่เที่ยง ไม่ว่าเราจะเป็นใคร มาจากไหน การได้สัมผัสกับงานระดับติดดิน (ที่ไม่น่าจะใช่เรา ที่ต้องทำงานในครัว รดน้ำพรวนดิน เก็บผักเก็บผลไม้กิน) ทำให้เราลดละความยิ่งใหญ่ ตำแหน่งหน้าที่การงาน เกียรติยศ ชื่อเสียง เงินทอง ซึ่งเคยเป็นตัวเสริมกิเลสโดยเราไม่รู้ตัว ถูกกระทบจนบางครั้ง ถ้าจิตใครไม่ตั้งมั่นที่จะทำความเพียร ลด ละกิเลส อาจแอบจัดกระเป๋าเก็บของกลับบ้านได้ง่ายๆ แต่ถ้าใครสามารถต้านกระแสกิเลส อยู่จนครบตามจำนวนวันที่อธิษฐานไว้ซึ่งไม่ควรน้อยกว่า 8 คืน 9 วัน ท่านจะได้พบกับหนทางพ้นทุกข์ในเบื้องหน้า ตัวกิเลสซึ่งเคยคิดว่าตัวเราใหญ่ ตัวกิเลสที่เคยทำให้เราเสียนิสัยติดสุขติดสบาย ตัวกิเลสซึ่งคอยนึกหาเหตุผลมาอ้างว่า ยังไม่ถึงเวลาต้องหาทางพ้นทุกข์ ตัวไม่รู้ที่เคยคิดแทน พูดแทนเรามาตลอด จะลดน้อยถอยกำลังลงจนหมดความหมายไปในที่สุด
ชีวิตเราที่เคยหมุนวนเป็นเกลียวเชือก ร้อยรัดตัวเราเองจนยากจะสลัดหลุดด้วยกรรม คือการกระทำที่เราสร้างบ่วงขึ้นมาเอง เริ่มคลายเกลียวและเริ่มหาหนทางออก เราเริ่มมองเห็นสัจธรรมที่ว่า ชีวิตที่ล้วนมองว่าสุขนั้นมีทุกข์แทรกอยู่ทุกขณะ ถ้ามองด้วยดวงตาอวิชชา ชีวิตคืออาหารคาวรสเด็ดที่รอของหวานอยู่ตลอด แต่ถ้ามองด้วยตาปัญญา ชีวิตที่กำลังถูกกลืนกินด้วยเวลา และยังถูกอวิชชาคือความไม่รู้หลอกทุกวันที่ลืมตาตื่นคือชีวิตที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง มนุษย์ทั่วไปในกระแสโลก มักคิดในทำนองเดียวกันว่า ทางสายกลางคือทำดี ไม่ทำร้ายใคร คือทำดีพอดีๆ ก็พอแล้ว ทำไมจะต้องทำตัวให้ลำบาก ด้วยการจากบ้านหลังใหญ่มานอนวัดจากเตียงสุขสบาย จากพ่อแม่ลูกหลาน มานอนโดดเดี่ยวบนฟูกบางๆ หรือนอนบนเสื่อผืนเล็กเท่าตัว ทำไมจะต้องฝืนกิเลสตื่นก่อนไก่ขึ้นมาสวดมนต์ทำไมต้องทดอด หิวโหยอาหารมื้อเย็นซึ่งเคยกินจนชินท้อง ทุกคำถามหลวงพ่อมีคำตอบให้
แต่สำหรับผู้เขียนเอง มิใช่บิดเบือนพระวาจาของพระตถาคตเรื่องทางสายกลาง หากยังใช้ชีวิตฆราวาสครองเรือนอยู่ ใช่ ทางสายกลางคือทางสายพอดี ที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน แต่ถ้าถามว่าทางสายกลางคือทางสายพอดี ที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน แต่ถ้าถามว่าทางสายกลางตามกระแสโลก จะช่วยทำให้ใครเดือดร้อน แต่ถ้าถามว่าทางสายกลางตามกระแสโลก จะช่วยทำให้ใครเดือดร้อน แต่ถ้าถามว่าทางสายกลางตามกระแสโลก จะช่วยทำให้เราพื้นทุกข์ถาวร พ้นจากการกลับมาเวียนว่ายหาอยู่ หากิน หาเงินทองมารักษาพยาบาลตัวเองยามแก่ยามเจ็บ พ้นจากการเวียนกลับมาร่ำไรโหยไห้กับการจากเป็น จากตาย ของบุคคลอันเป็นที่รัก พ่อ แม่ ลูก เมีย สามี เพื่อน และญาติ คำตอบที่ผู้เขียนคิดเองคือ ไม่น่าจะพ้น
มิใช่พูดให้ทุกคนทิ้งบ้านมาอยู่วัด เพราะมนุษย์แต่ละคนสร้างบารมีมาไม่เท่ากัน ถึงทางพ้นทุกข์ไม่พร้อมกัน แต่เพียงแต่ปรารถนา ที่จะให้ทุกท่านได้รับรู้ก่อนจะหมดเวลาในชีวิตนี้ ไปในทางที่ไม่ช่วยให้ไปสู่หนทางพ้นทุกข์ว่า หนทางอันประเสริฐคือมรรคมีองค์แปด ซึ่งต้องเริ่มจากสัมมาสังกัปปะคือดำริชอบ นั้นมีอยู่จริง และการเริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ให้ก้าวสู่มรรคคือหนทางอันประเสริฐนี้ ทำได้ด้วยการรักษาศีลห้า ซึ่งจะพัฒนาไปสู่สมาธิและสติปัญญานั้น เป็นการเปลี่ยนแปลง ที่จะนำพาชีวิตท่านไปสู่หนทางอันประเสริฐสุด และคนธรรมดาๆ อย่างเราและญาติของเราทำได้ ถ้ามีศรัทธาและความเห็นถูกต้อง ในเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด
ผู้เขียนได้เคยผ่านเหตุการณ์ประทับใจ จากการทำงานเก็บซากขยะ ณ วัดป่าสาขาหลวงพ่อชาที่ Wellington ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งอยากจะฝากไว้เป็นอุทาหรณ์แก่ผู้รักธรรมว่า เรามีทางเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างหนูตัวเล็กน่ารัก ที่ผู้เขียนพบขณะโกยขยะจากถังหลอมขยะระบบธรรมชาติคือหลอมด้วยเศษไม้จนมองไม่เห็นซากขยะ และไม่มีกลิ่นเหม็นเช่นขยะสดทั่วไป โดยระเริงอยู่กับซากขยะแบบโลกๆ โดยแยกไม่ออกระหว่างของดีกับของเสีย และวนเวียนอยู่ในกองขยะตลอดไป หรือเราจะเลือกที่จะเดินออกจากสิ่งที่เคยหลอมเรากับกิเลสเป็นเนื้อเดียวกัน และเลือกที่จะเดินสู่เส้นทางสายเดี่ยวแต่ไม่เปลี่ยว ที่นำเราไปสู่อิสรภาพที่แท้จริง อันเป็นหนทางเกษม ที่มนุษย์ทุกคนไม่ควรทิ้งโอกาสอันประเสริฐ ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนา
ขอพ่อแม่พี่น้อง ลูกรักทั้งสอง ปวงญาติ สรรพสัตว์ และกัลยาณมิตร ในชีวิตทุกท่าน จงได้ดวงตาเห็นธรรมอันจะนำไปสู่หนทางพ้นทุกข์ทุกท่านทุกคนเทอญ.
ด้วยความรักในสรรพสัตว์
สินจิรา อภัยทาน
พ.ศ.2547



คติเตือนใจ
พัฒนาถาวรวัตถุพร้อมทั้งกายใจ
ทำไม่เอาคือ เสียสละแกพุทธศาสนา
ตามวันเวลาที่มันล่วงไหลไป
ไม่ติดยึดเวลาของกูตัวกู ไม่มี
...............