วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ข้อคิดจากตราสัง


                เวลาคนตายก่อนที่จะนำศพเข้าโลง สัปเหร่อจะผูกศพให้เป็นเปลาะๆ ด้วยด้ายดิบ เรียกว่า “ตราสัง” โดยทั่วไปจะมัดศพเป็น ๓ เปลาะ คือ ที่คอ ที่มือ และที่เท้า ขณะที่มัดศพ สัปเหร่อจะร่ายคาถา ซึ่งคนส่วนมากเข้าใจว่าเพื่อเป็นการสะกดวิญญาณคนตายไม่ให้ดุร้ายหรือมาหลอกหลอนผู้คน เมื่อเริ่มมัดศพที่คอ สัปเหร่อจะร่ายคาถาว่า ปุตโต คีเว  มัดศพที่มือจะร่ายคาถาว่า ภริยา หัตเถ และมัดศพที่เท้าจะร่ายคาถาว่า ธนัง ปาเท ความจริงแล้ว คาถาที่สัปเหร่อร่ายนั้น เมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ความหมายไม่เกี่ยวกับการสะกดวิญญาณแต่อย่างใด แต่จุดประสงค์ของคนโบราณท่านต้องการสอนปริศนาธรรมแก่คนเป็นต่างหาก กล่าวคือ
                ๑.ปุตโต คีเว แปลว่า ลูกเป็นบ่วงผูกคอ คือเริ่มผูกตั้งแต่รู้ว่าลูกมาปฏิสนธิ ทั้งพ่อและแม่ก็ พยายามประคับประคองทุกอิริยาบถ จะกลืนอะไรลงคอสักคำก็เป็นห่วงลูก คอยระวังไม่ให้กระทบกระเทือนลูกในท้องคลอดออกมาก็ยิ่งเป็นห่วง แม้จะเติบโตแล้วก็ยังไม่หมดห่วง คือจะทำอะไรก็ต้องคล้อยตามกันแบบจูงกันไป และต้องคอยเหนี่ยวรั้งกันและกันไว้ด้วยกลัวลูกจะคบเพื่อนเลว ติดยาเสพติด เป็นต้น
                ๒. ภริยา หัตเถ แปลว่า สามีภรรยาเป็นบ่วงผูกมือ คือจะทำอะไรก็ต้องคล้อยตามกันแบบจูงกันไปและต้องคอยเหนี่ยวรั้งกันและกันไว้ด้วย มีปัญหาเกิดขึ้นก็ต้องปรึกษากัน บางครั้งอาจจะขัดแย้งกระทบกระทั่งกันบ้างเหมือนลิ้นกับฟัน ก็ให้ยึดหลักว่า อย่าให้เจ็บตัว อย่าให้เจ็บใจ อย่าให้เสียของ และอย่าให้เสียงาน เรียกว่า ทะเลาะกันอย่างมีหลักการ
                ๓. ธนัง ปาเท แปลว่า ทรัพย์สมบัติเป็นบ่วงผูกเท้า คือทรัพย์ที่เราหามาได้ด้วยหยาดเหงื่อและแรงงานแสนจะลำบาก เมื่อได้มาแล้วก็ต้องรักต้องห่วง จะย่างเท้าห่างบ้านไปไหน ก็อดห่วงหน้าพระวงหลังไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าห่วงมากจนเกินไป สุขภาพจิตย่ำแย่ก็ต้องปล่อยวางเสียบ้าง จิตใจจะได้ปลอดโปร่ง ดังนั้น บ่วงทั้ง ๓ คือ บุตรธิดา สามีภริยา และทรัพย์สมบัติ จึงเป็นบ่วงของคนที่ยังข้องเกี่ยวอยู่กับโลก ใครปลดบ่วงทั้ง ๓ นี้ได้หมด ก็สบายแต่เมื่อยังมีบ่วงอยู่ หรือยังปลดไม่หลุด ก็ต้องปฏิบัติต่อบ่วงทั้ง ๓ ให้ถูกต้อง จึงจะหาความสุขได้ตามควรแก่วิสัยของชาวโลก

........................................