วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กรรมลิขิต


             กรรม แปลตามตัวอักษร การกระทำ ทำดี เรียก กุศลกรรม ทำไม่ดี หรือทำชั่ว เรียก อกุศลกรรม ทำดีย่อมให้ผล เป็นความดี ทำไม่ดีย่อมให้ผลเป็นความไม่ดี เพราะการกระทำ และผลของการกระทำ ย่อมสอดคล้องกันเสมอ เปรียบเสมือนการเพาะปลูก พืชพันธุ์ เช่น ปลูกขนุน ปลูกมะม่วง เมื่อออกดอกออกผล ก็ต้องเป็นขนุน เป็นมะม่วงอย่างแน่นอน อุปกรณ์ หรือเครื่องมือ ที่ใช้ก่อสร้างกรรมดีและกรรมไม่ดี มี ๓ อย่าง คือ ๑. กายกรรม กระทำด้วยกาย หรือการกระทำทางกาย ๒. วจีกรรม กระทำด้วยวาจา หรือการกระทำทางวาจา ๓. มโนกรรม กระทำด้วยใจ หรือการกระทำทางใจ

             รูปแบบหรือตัวอย่างของกรรมดีหรือกรรมไม่ดีจัดเป็นคู่ๆ ดังนี้ กายกรรมที่ดี คือ ไม่ฆ่า ไม่ขโมย ไม่ประพฤติผิดทางกาม กายกรรมที่ไม่ดีคือ ฆ่า ขโมย ประพฤติผิดทางกาม วจีกรรมที่ดี คือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ วจีกรรมที่ไม่ดีคือ พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มโนกรรมที่ดี คือ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น มีความเห็นถูกต้องตามครรลองคลองธรรม มโนกรรมที่ไม่ดี คือ อยากได้ของผู้อื่น คิดเบียดเบียนผู้อื่น เห็นผิดเป็นชอบ ไม่อายชั่ว กลัวบาป ขี้อิจฉาริษยา เป็นต้น

             แหล่งเกิดของกรรมดีท่านเรียกว่า กุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ คือ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง แหล่งเกิดของกรรมไม่ดี ท่านเรียกว่า อกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ คือ โลภ โกรธ หลง

             เมื่อทราบความหมายของกรรมดี กรรมไม่ดี อุปกรณ์หรือเครื่องมือทำกรรมและแหล่งของกรรม ครบถ้วนแล้ว ขอให้ลองพิจารณาถึงความเป็นจริงในชีวิตประจำวันว่าการกระทำทางกาย วาจา ใจส่วนใหญ่เป็นความดี หรือความไม่ดี ถ้าดีมากกว่าไม่ดี ก็จะมีความสุขใจ สบายใจ ไม่เดือดร้อน ในสิ่งที่ไม่น่าจะเดือดร้อนใจเรียกว่า ได้ภพภูมิที่ดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ดีมากกว่าดี ก็จะมีแต่ความไม่สบายใจ เดือดร้อนใจ เรียกว่า ได้ภพภูมิที่ไม่ดี ความสุขหรือความทุกข์   จึงเป็นเรื่องของกรรมลิขิต ให้เป็นไปตามที่ เจ้าของชีวิตกระทำเอง หากต้องการให้กรรมลิขิตในทางดีก็ต้องทำดี กรรมลิขิตให้ไม่ดีก็เพราะทำไม่ดี จะเลือกทางดี หรือทางไม่ดี ก็ย่อมให้กรรมลิขิตได้ตามประสงค์