วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

๕ ขั้นของการปฏิบัติศาสนา (ไตรสิกขา)

ในบทนี้ จะบรรยายให้ทราบถึงวิธีที่จะตัดอุปาทาน หลักพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับกรณีนี้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ข้อปฏิบัติหมวดนี้เรียกว่า ไตรสิกขา
๑๓๖
สิกขาขั้นแรกที่สุด เราเรียกว่า “ศีล” ซึ่งหมายถึงการประพฤติดี ประพฤติถูกต้องตามหลักทั่วๆ ไป ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อน มีจำแนกไว้เป็น ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ หรืออื่นๆ อีก เป็นการปฏิบัติเพื่อความสงบเรียบร้อยปราศจากโทษขั้นต้นๆ ทางกาย ทางวาจาของตน ที่เกี่ยวกับสังคมและส่วนรวม หรือเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นแก่การเป็นอยู่
๑๓๗
สิกขาขั้นที่ ๒ เรียกว่า “สมาธิ” ข้อนี้ได้แก่การบังคับจิตใจของตัวเองไว้ให้อยู่ในสภาพที่จะทำประโยชน์ให้มากที่สุดตามที่ตนต้องการ ขอให้ตั้งข้อสังเกตความหมายของคำว่า “สมาธิ” ไว้ให้ถูกต้อง โดยมากท่านทั้งหลายย่อมจะได้ฟังมาว่า สมาธินั้นคือจิตที่ตั้งมั่นแน่วแน่นิ่งเหมือนท่อนไม้หรือมักว่าเป็นจิตที่สงบ เป็นจิตที่บริสุทธิ์แต่ลักษณะเพียง ๒ อย่างนั้น ไม่ใช่ความหมายอันแท้จริงของสมาธิ การกล่าวเช่นนี้มีหลักในพุทธวจนะนั่นเอง พระองค์ทรงแสดงลักษณะของจิต ด้วยคำอีกคำหนึ่งซึ่งสำคัญที่สุด คือคำว่า “กมุมนีโย” แปลว่า สมควรแก่การทำงาน และคำนี้เป็นคำสุดท้ายที่ทรงแสดงลักษณะจิตที่เป็นสมาธิ
๑๓๘
สิกขาขั้นที่ ๓ นั้นเรียกว่า “ปัญญา” หมายถึงการฝึกฝนอบรมทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจอันถูกต้องและสมบูรณ์ถึงที่สุดในสิ่งทั้งปวงตามที่มันเป็นจริง คนเราตามปกติไม่สามารถรู้อะไรๆ ให้ถูกต้องตามที่เป็นจริงได้ คือมันถูกแต่เพียงตามที่เราเข้าใจเอาเองหรือตามโลกสมมติ มันจึงไม่ใช่ตามความจริง ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาจึงมีระเบียบปฏิบัติเรียกว่า ปัญญาสิกขานี้ขึ้นอีกส่วนหนึ่ง เป็นส่วนสุดท้ายสำหรับจะได้ฝึกฝนอบรมให้เกิดความเข้าใจ ให้เห็นแจ้งในสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริงโดยสมบูรณ์
๑๓๙
คำว่า “ความเข้าใจ” กับคำว่า “ความเห็นแจ้ง” นั่นในทางธรรมะแล้วไม่เป็นอันเดียวกัน “ความเข้าใจ” นั้นอาศัยการคิดคำนึงด้วยการใช้เหตุผลบ้าง หรือการคาดคะเนเอาตามเหตุผลต่างๆ บ้าง ส่วน “ความเห็นแจ้ง” ไปไกลกว่านั้น คือต้องเป็นสิ่งที่เราได้ซึมซาบมาแล้ว ด้วยการผ่านผจญสิ่งนั้นๆ มาด้วยตนเอง หรือด้วยการมีจิตใจจดจ่อต่อเนื่องอยู่กับสิ่งนั้นๆ โดยอาศัยการเฝ้าเพ่งดูอย่างพินิจพิจารณา จนเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายไม่หลงใหลในสิ่งนั้นๆ ด้วยน้ำใสใจจริง ไม่ใช้ด้วยการคิดเอาตามเหตุผล เพราะฉะนั้นปัญญาสิกขาตามหลักของพุทธศาสนา จึงไม่ได้หมายถึงปัญญาที่ได้มาจากหลักของเหตุผล เหมือนที่ใช้กันอยู่ในวงการศึกษาวิชาการสมัยปัจจุบัน แต่เป็นคนละอย่างทีเดียว
๑๔๐
ปัญญาในทางพุทธศาสนา ต้องเป็นการรู้แจ้งเห็นแจ้งด้วยน้ำใสใจจริง ด้วยการผ่านผจญสิ่งนั้นๆ มาแล้ว โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง จนฝังใจแน่วแน่ ไม่อาจลืมเลือนได้เพราะฉะนั้น การพิจารณาในทางปัญญาตามสิกขาข้อนี้จึงต้องใช้สิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาแล้วในชีวิต ตนเองเป็นเครื่องพิจารณา หรืออย่างน้อยก็ต้องเป็นเรื่องที่มีน้ำหนักมาก พอที่จะทำให้ใจของเราเกิดความรู้สึกสลดสังเวช เบื่อหน่ายในสิ่งทั้งหลาย ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนเหล่านั้นได้จริง
๑๔๐
ถ้าเราจะคิดไปตามแนวของเหตุผล ทำการวินิจฉัยลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตากันสักเท่าไรก็ตามมันก็ได้แต่ความเข้าใจ ไม่มีทางให้เกิดความสลดสังเวชได้ ไม่มีทางให้เกิดความเบื่อหน่ายในสิ่งทั้งหลายในโลกได้ ขอให้เข้าใจว่ากิริยาอาการที่จิตใจเบื่อหน่าย คลายความอยากจากสิ่งที่เคยหลงรักนั่นแหละคือตัวความเห็นแจ้งในที่นี้ หลักธรรมะได้บัญญัติไว้ชัดเจนทีเดียวว่า ถ้าเห็นแจ้งจริงๆ ก็ต้องเบื่อหน่ายจริงๆ จะไปหยุดอยู่เพียงแค่เห็นแจ้งนั้นไม่ได้ ความเบื่อหน่ายคลายความอยากในสิ่งนั้นจะต้องเกิดตามขึ้นมาทันควันอย่างแยกกันไม่ได้
๑๔๒
ศีลสิกขา นั้นเป็นเพียงการศึกษาปฏิบัติ ในขั้นตระเตรียมเบื้องต้น เพื่อให้เรามีความเป็นอยู่ผาสุก อันจะช่วยให้จิตใจเป็นปกติ อานิสงส์ของศีลมีหลายอย่างด้วยกัน แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือเป็นไปเพื่อให้เกิดสมาธิ อานิสงส์อย่างอื่นๆ เช่นว่าให้เป็นสุขหรือให้ไปเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์นั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงมุ่งหมายโดยตรง ท่านมุ่งหมายโดยตรงถึงข้อที่จะให้เป็นที่เกิดที่เจริญของสมาธิ ศีลจะส่งเสริมให้เกิดสมาธิได้โดยง่าย ถ้าเรามีเครื่องรบกวนมาก จิตใจของเราจะเป็นสมาธิได้อย่างไร
๑๔๓
สมาธิสิกขา คือการที่เราสามารถควบคุมจิตหรือใช้จิตของเรานี้ ให้ทำหน้าที่ของมัน ให้เป็นประโยชน์ถึงที่สุด ในขั้นศีล มีความประพฤติดีทางกาย ทางวาจา ในขั้นสมาธิมีความประพฤติดีทางจิต คือ ไม่มีความคิดผิด ไม่เศร้าหมอง ไม่มีความฟุ้งซ่าน และอยู่ในสภาพที่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ของมัน อย่างนี้เรียกสมาธิ
๑๔๔
แม้ในส่วนที่เกี่ยวกับประโยชน์ทั่วๆ ไปในทางโลก สมาธิก็ยังเป็นของจำเป็นทุกกรณี ไม่ว่าเราจะทำอะไรถ้าไม่ทำด้วยใจที่เป็นสมาธิแล้ว ย่อมไม่ได้รับผลสำเร็จด้วยดี ท่านจึงจัดสมาธินี้ไว้ในลักษณะของบุคคลที่เรียกว่า มหาบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นมหาบุรุษทางโลกหรือทางธรรม ล้วนแต่จำเป็นจะต้องมีสมาธิ เป็นคุณสมบัติประจำตัวทั้งนั้น
๑๔๕
แม้แต่เด็กนักเรียน ถ้าไม่มีจิตเป็นสมาธิแล้ว จะคิดเลขออกได้อย่าง สมาธิในทำนองนั้นเป็นสมาธิตามธรรมชาติ มันยังอยู่ในระดับอ่อน ส่วนสมาธิในทางหลักพุธศาสนา ที่เรากำลังพูดถึงนี้ เป็นสมาธิที่เราได้ฝึกให้สูงยิ่งขึ้นไปกว่า ที่จะเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้น เมื่อฝึกกันสำเร็จแล้วจึงกลายเป็นจิตที่มีความสามารถ มีกำลัง มีคุณสมบัติพิเศษ อย่างอื่นๆ มากมายเหลือเกิน
๑๔๖
การที่คนเราสามารถถือเอาประโยชน์ จากสมาธิได้ถึงปานนี้เรียกว่ามนุษย์ได้ก้าวขึ้นมาถึง การรู้ความลับของธรรมชาติอีกขั้นหนึ่ง ข้อนี้หมายถึง การรู้วิธีบังคับจิต ให้มีสมรรถภาพยิ่งไปกว่ามนุษย์ธรรมดาจะทำได้ ขั้นศีลยังไม่ถือว่าเป็นการอวดอุตตริมนุสสธรรม แต่พอมาถึง ขั้นที่เป็นสมาธิ เป็นฌาน เป็นสมาบัติ ท่านจัดเป็นอุตตริมนุสสธรรม ซึ่งพระภิกษุจะอวดไม่ได้ ขืนอวดก็ชื่อว่า ไม่เป็นพระที่ดีหรือถึงกับไม่เป็นพระเลย แล้วแต่กรณี
๑๔๗
การได้มาซึ่งสมาธินี้เราต้องลงทุน อดทนศึกษาอบรมและปฏิบัติ จนเรามีสมาธิตามสมควร ที่จะมีได้ในที่สุดเราก็จะได้ผลในการปฏิบัติหน้าที่ได้ดีมากไปกว่ามนุษย์ธรรมดา ที่เขาได้ๆ กัน เพราะเรามีเครื่องมือที่สูงไปกว่าที่เขามี เพราะฉะนั้น จึงขอให้สนใจไว้ อย่าถือว่าเป็นของครึ โง่เขลา งมงายพ้นสมัยเลย มันยังคงเป็นของสำคัญที่สุด ซึ่งต้องใช้กันอยู่เรื่อยไป และยิ่งในสมัยที่โลกมีอะไรๆ หมุนเร็วแทบจะลุกเป็นไฟอย่างนี้ด้วยแล้ว ยิ่งจะต้องการสมาธิมากไปเสียกว่าครั้งพุทธกาลด้วยซ้ำไป อย่าไปหลงคิดว่า เป็นเรื่องไปวัดหรือเรื่องสำหรับคนวัด หรือของคนงมงายเลย
๑๔๘
ถัดไปนี้ ก็ถึงความเกี่ยวเนื่องกันระหว่าง สมาธิสิกขา กับ ปัญญาสิกขา พระพุทธเจ้าตรัสไว้เลยทีเดียวว่า เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ย่อมเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง หมายถึงอาการที่จิตประกอบด้วยสมาธิ ในลักษณะที่พร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ถ้าจิตมีลักษณะเช่นนี้แล้ว ก็จะเห็นสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง
๑๔๙
ข้อนี้มีความแปลกประหลาดอยู่หน่อยหนึ่ง คือว่าเรื่องอะไรๆ ที่เราอยากรู้ หรือปัญหาที่เราอยากจะสะสางนั้น ตามปกติมันฝังตัวประจำอยู่ในใจของคนเราทั้งนั้น เราอาจจะไม่รู้สึกก็ได้คือมันอยู่ใต้จิตสำนึก เรื่อยไปตลอดเวลา ขณะที่เราตั้งใจจะสะสางให้ออก มันก็ไม่ออกเพราะเหตุว่าจิตใจขณะนั้น ยังไม่เหมาะสมที่จะสะสางปัญหานั้นนั่นเอง ถ้าผู้ใดทำสมาธิที่ถูกต้อง คือให้มีลักษณะที่เรียกว่า “กมุมนีโย” พร้อมที่จะปฏิบัติงานทางจิตแล้ว ปัญหาต่างๆ ที่สะสมอยู่ใต้จิตสำนึกนั้น มันจะมีคำตอบโพล่งออกมาเฉยๆ อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ต่อเนื่องจาก ขณะที่จิตเป็นสมาธินั้น
๑๕๐
แต่ว่าถ้าหากมันยังไม่โพล่งออกมา เราก็ยังมีวิธีอื่นอีกอันหนึ่ง คือให้น้อมจิตไปสู่การพิจารณา ปัญหาที่เรากำลังมีอยู่การพิจารณาด้วยกำลังของสมาธิ ในลักษณะเช่นนี้เองเรียกว่า ปัญญาสิกขา หรืออย่างน้อยก็สงเคราะห์เข้าในปัญญาสิกขาในคืนวันที่ตรัสรู้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ปฏิจจสมุทปบาท คือรู้อะไรเป็นอะไร ทยอยกันไปตามลำดับ ทั้งนี้ก็โดยสมาธิ อย่างที่กล่าวมาแล้ว พระองค์ได้ตรัสเล่าเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียด แต่รวมใจความแล้วก็คือว่า ในขณะที่จิตเป็นสมาธิดีแล้ว ก็น้อมจิตไปเพื่อพิจารณาปัญหานั้นๆ
๑๕๑
ทั้งหมดนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า ปัญญากับสมาธินี้จะต้องเกี่ยวข้องกันเสมอไป แต่ว่าอาการที่ปัญญา อาศัยสมาธินั้นบางทีเรามองไม่เห็นเลย เช่นเวลาที่เงียบสงัดเย็นสบายไม่มีอะไรรบกวนใจ จิตเป็นสมาธิสดชื่อดี เราก็คิดอะไรๆ ที่เป็นคำตอบของปัญหา ซึ่งติดค้างอยู่ในใจได้ เป็นต้น
๑๕๒
แต่ในพุทธศาสนานั้น ท่านแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสมาธิกับปัญญา ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก คือ ต้องมีสมาธิจึงจะมีปัญญา ต้องมีปัญญาจึงจะมีสมาธิ ข้อนี้เป็นเพราะ ในการที่จะให้เกิดสมาธิ ยิ่งไปกว่าสมาธิตามธรรมชาตินั้น มันต้องอาศัยการต่างๆ ของจิต ว่าจะบังคับมันอย่างไร จึงจะเกิดเป็นสมาธิขึ้นมาได้ ฉะนั้น คนมีปัญญา จึงสามารถมีสมาธิมากขึ้นได้ตามลำดับ เมื่อมีสมาธิมากขึ้น ปัญญาก็ยิ่งมีกำลังมากขึ้นตามมันส่งเสริมซึ่งกันและกันไปในตัว
๑๕๓
ถ้ามีปัญญาแล้ว ก็จะต้องมีความเห็นแจ้ง และมีผลเป็นความรู้สึกเบื่อหน่ายสลดสังเวช ถอยหลังออกมาจากสิ่งทั้งปวงที่เคยหลงรักหลงยึดถือ ถ้ายังรี่เข้าไปหาสิ่งทั้งปวงด้วยความหลงรัก ด้วยคามยึดถือ ด้วยความหลงใหลแล้วไม่ใช่เป็นปัญญาของพระพุทธศาสนา ที่ว่าชะงักหรือถอยหลังนี้ไม่ใช่ทางกิริยาอาการ เช่นจะต้องจับสิ่งนั้น สิ่งนี้ขว้างทิ้งหรือทุบตีให้แตกหัก หรือว่าต้องวิ่งหนีเข้าป่าไป อย่างนี้ก็หามิได้ แต่หมายถึงชะงักถอยหลัง ด้วยจิตใจโดยเฉพาะ คือจิตใจถอยห่าง ออกจากการที่เคยตกเป็นทาสของสิ่งทั้งปวงมาเป็นจิตที่อิสระ
๑๕๔
ผลของความเบื่อหน่ายคลายความอยาก จากสิ่งทั้งปวงมันเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ไปฆ่าตัวตาย หรือเข้าป่าไปบวชเป็นฤๅษีแล้วเอาไฟจุดเผาสิ่งต่างๆ เสียให้หมด ภายนอกจะเป็นอย่างไรก็เป็นไปตามเรื่อง ยังคงเป็นไปตามเหตุผลตามความเหมาะสมแต่ภายในจิตใจนั้นย่อมเป็นอิสระ ไม่เป็นทาสของสิ่งใดอย่างแต่ก่อนอีกต่อไป นี่คือ อานิสงส์ของปัญญา ท่านใช้เรียกด้วยคำบาลีว่า “วิมุตติ” หมายความว่า หลุดพ้นจากการเป็นทาสของสิ่งทั้งปวง โดยเฉพาะทาสของสิ่งที่เรารัก
๑๕๕
แม้แต่สิ่งที่เราไม่รัก เราก็ตกเป็นทาสของมันเหมือนกันเป็นทาสตรงที่ต้องไปเกลียดมันนั่นเอง อยู่เฉยๆ ไม่ได้ อุตสาห์ไปเกลียดมัน ไปร้อนใจกับมัน มันบังคับเราได้เหมือนกับของที่เรารัก แต่อยู่ในลักษณะคนละอย่าง ฉะนั้นคำว่าเป็นทาสของสิ่งทั้งปวงนั้นย่อมหมายถึงทั้งทางที่พอใจและไม่พอใจ ทั้งหมดนี้แสดงว่า เราหลุดออกจากการเป็นทาสของสิ่งทั้งปวง มาเป็นอิสระอยู่ได้ด้วยอาศัยปัญญา
๑๕๖
พระพุทธเจ้าท่านจึงได้วางหลักไว้สั้นๆ ที่สุดว่า คนเราบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ท่านไม่เคยตรัสว่าบริสุทธิ์ได้ด้วยศีลด้วยสมาธิ แต่บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา เพราะมันทำให้หลุดออกมาจากสิ่งทั้งปวง การไม่หลุดก็คือ มีความไม่บริสุทธิ์สกปรกมืดมัวเร่าร้อน เมื่อหลุดก็จะมีความบริสุทธิ์สะอาด สว่างไสวแจ่มแจ้ง และสงบเย็น มันเป็นผลของปัญญาหรือเป็นลักษณะอาการที่แสดงว่า ปัญญาได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ของมันถึงที่สุดแล้ว ฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลายจงได้กำหนดพิจารณาสิกขาข้อที่ ๓ คือปัญญานี้ให้ดีๆ ว่ามันมีอยู่อย่างไร และเป็นของสูงสุดเพียงไร
๑๕๗
ปัญญาในทางพระพุทธศาสนาก็คือ ปัญญาที่ถอนตนออกมาเสียจากสิ่งทั้งปวง โดยการทำลายอุปาทาน ๔ ประการเสียได้หมดสิ้น ความยึดติดทั้ง ๔ นั้นเป็นเหมือนกับเชือกที่ผูกมัดล่ามเราไว้ ปัญญาก็เป็นเสมือนมีดที่จะตัดสิ่งเหล่านั้นให้ขาดไปจนไม่มีอะไรเป็นเครื่องผูกมัดเราไว้ให้ติดอยู่กับสิ่งต่างๆ ได้อีกต่อไป
๑๕๘
ข้อปฏิบัติทั้ง ๓ อย่างดังกล่าวนี้ จะคงทนต่อการพิสูจน์หรือไม่ จะเป็นหลักวิชาอันแท้จริง เหมาะที่ทุกคนจะปฏิบัติหรือไม่ ขอให้พิจารณาดู
๑๕๙
เมื่อดูต่อไปอีก จะเห็นว่าหลักทั้ง ๓ ข้อนี้ไม่ค้านกับศาสนาไหนเลย ถ้าศาสนานั้นๆ ต้องการจะแก้ปัญหาต่างๆ ที่เป็นความทุกข์ของมนุษย์กันจริงๆ พุทธศาสนาย่อมไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาใดๆ แต่มีอะไรๆ มากไปกว่าศาสนาอื่นๆ มีโดยเฉพาะก็คือ การปฏิบัติในทางปัญญา อันเป็นสิกขาข้อสุดท้ายเพื่อตัดความยึดมั่นทั้ง ๔ ประการ ปลดเปลื้องจิตใจให้เป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง ไม่ผูกพันเป็นทาส หรือตกอยู่ในอำนาจของสิ่งทั้งปวงเช่นพระเป็นเจ้าบนสวรรค์ หรือผีสางเทวดา ข้อนี้แหละ ไม่มีศาสนาอื่นกล้าพอที่จะสอนให้เป็นอิสระสิ้นเชิง ฉะนั้น เราจงเข้าใจความสำคัญของพุทธศาสนาไว้ให้ดีๆ ดังที่กล่าวมา
๑๖๐
เมื่อความจริงได้แสดงแล้วว่า พระพุทธศาสนากล้าท้าให้พิสูจน์ว่ามีอะไรๆ ทุกอย่างที่ศาสนาอื่นๆ มี และยังมีอะไรบางอย่าง มากไปกว่าที่เขามีกัน ฉะนั้นจะเห็นได้ทันทีว่าพุทธศาสนานี้เป็นของคนทั่วไป หรือเป็นศาสนาสากลที่ใช้ได้แก่คนทุกคน ทุกยุคทุกสมัย เพราะว่าทุกคนมีปัญหาความทุกข์อย่างเดียวกันหมด คือทุกข์เพราะ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกข์เพราะ ความอยาก ความยึดถือครอบงำย่ำยี ไม่ว่าเทวดา มนุษย์สัตว์เดรัจฉาน ย่อมจะมีปัญหาอย่างเดียวกัน มีสิ่งที่ต้องทำอย่างเดียวกัน คือต้องตัดกิเลสตัณหาที่เป็นตัวการสำคัญ หรือตัดความยึดติดที่ผิดๆ นี้เสียได้ นี้แหละ คือความหมายของความเป็นศาสนาสากล
๑๖๑