วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

๓ ลักษณะสามัญของสิ่งทั้งปวง (ไตรลักษณ์)

บทนี้จะกล่าวถึงข้อที่ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงประกอบอยู่ด้วยลักษณะอันเรียกว่า “ไตรลักษณ์” หรือลักษณะ ๓ ประการ กล่าวคือ ความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา
๖๘
อนิจจัง แปลว่าไม่เที่ยง หมายความว่าสิ่งทั้งหลายมีลักษณะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอไป ไม่มีความคงที่ตายตัว
ทุกขัง แปลว่าเป็นทุกข์ มีความหมายว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีลักษณะที่เป็นทุกข์มองดูแล้วน่าสังเวชใจ ทำให้เกิดความทุกข์ใจแก่ผู้ที่ไม่มีความเห็นอย่างแจ่มแจ้งในสิ่งนั้นๆ
อนัตตาแปลว่าไม่ใช่ตัวตน หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน ไม่มีลักษณะอันใดที่จะทำให้เรายึดถือได้ว่ามันเป็นตัวเราของเรา ถ้าเห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนถูกต้องแล้ว ความรู้สึกที่ว่า “ไม่มีตัวตน” จะเกิดขึ้นมาเองในสิ่งทั้งปวง แต่ที่เราไปหลงเห็นว่าเป็นตัวเป็นตนนั้น ก็เพราะความไม่รู้อย่างถูกต้องนั่นเอง
๖๙
ขอให้ทราบว่า ลักษณะสามัญ ๓ ประการนี้ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมากกว่าคำสั่งสอนอื่นๆ ในบรรดาคำสั่งสอนทั้งหลายจะนำมารวบยอดอยู่ที่การเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ทั้งนั้น บางทีก็กล่าวตรงๆ บางทีก็พูดด้วยโวหารอย่างอื่น แต่ใจความมุ่งแสดงความจริงอย่างเดียวกัน
๗๐
เรื่องของความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งทั้งหลายนี้ เคยมีสอนกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า แต่ไม่ได้ขยายความให้ลึกซึ้งเหมือนของพระองค์ เรื่องความทุกข์ก็เหมือนกัน มีการสอนมาแล้ว แต่ไม่ลึกซึ้งถึงที่สุด ไม่ประกอบด้วยเหตุผล และไม่สามารถชี้ถึงวิธีดับทุกข์ที่สมบูรณ์จริงๆ ได้ เพราะยังไม่รู้จักความทุกข์อย่างเพียงพอเท่ากับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ส่วนเรื่องความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนนี้มีสอนแต่ในพุทธศาสนาเท่านั้น ข้อนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าผู้ที่รู้จักว่าอะไรเป็นอะไรถึงที่สุดเท่านั้น จึงจะรู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของตน เหตุนั้นจึงมีสอนแต่โดยพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นบุคคลที่รู้ว่า อะไรเป็นอะไรได้ถึงที่สุดจริงๆ
๗๑
คำสอนเรื่องลักษณะ ๓ ประการนี้ มีวิธีปฏิบัติเพื่อให้เห็นแจ้งมากมายหลายวิธีด้วยกัน ถ้าปฏิบัติจนเห็นแจ้งแล้ว เราจะพบว่ามีข้อสังเกตข้อหนึ่ง คือต้องการเห็นจนรู้สึกว่าไม่มีอะไรน่ายึดถือไม่มีอะไรที่ยากจะเอา จะมี จะเป็น ซึ่งสรุปสั้นๆ ว่า “ไม่มี อะไรที่น่าเอา ไม่อะไรที่น่าเป็น” เมื่อท่านมองเห็นว่า ความมีความเป็นอย่างใดก็ตามเป็นของหลอกลวง เป็นมายา ไม่น่าเอาไม่น่าเป็นทั้งหมดทั้งสิ้นจริงๆ ดังนี้แล้ว นั่นแหละ คือการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างถูกต้อง ส่วนคนที่ท่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่ทั้งเช้าทั้งเย็นหลายร้อยหลายพันครั้งมาแล้ว ไม่อาจเห็นก็ได้ เพราะไม่ใช่วิสัยที่จะเห็นได้ด้วยการฟัง หรือด้วยการท่อง
๗๒
การคำนึงคำนวณเอาตามหลักเหตุผลนั้น ไม่ใช่ “การเห็นแจ้ง” อย่างที่เรียกว่า “เห็นธรรม” การเห็นธรรมไม่อาจจะเห็นได้ด้วยการคิดไปตามเหตุผล แต่ต้องเห็นแจ้งด้วยความรู้สึกภายในที่แท้จริง เช่น พิจารณาเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ทำความเจ็บปวดให้แก่ตนที่เข้าไปหลงใหลอย่างสาสม อาศัยการที่ได้กระทบจริงๆ จนเกิดเป็นความรู้สึกแก่จิตใจขึ้นมาจริงๆ แล้วเกิดความเบื่อหน่าย เกิดความสลดสังเวชขึ้นมา อย่างนี้จึงจะเรียกว่าเห็นธรรม หรือเห็นแจ้ง
๗๓
การเห็นแจ้งทำนองนี้ อาจเลื่อนสูงขึ้นไปตามลำดับ จนกว่าจะถึงเรื่อสุดท้ายที่ทำให้ปล่อยวางสิ่งทั้งปวงได้ ส่วนผู้ที่ท่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือพิจารณาอยู่ทั้งวันทั้งคืน แต่ถ้าไม่เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อสิ่งทั้งปวง คือไม่อยากเอาอะไร ไม่อยากเป็นอะไร ไม่อยากยึดถือในอะไรแล้ว ก็เรียกว่ายังไม่เป็นอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงสรุปการเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ความไม่ใช่ตัวตน ลงไว้ที่คำว่า “เห็นจนเกิดความรู้สึกว่าไม่มีอะไรที่น่าเอาหรือน่าเป็น”
๗๔
พุทธศาสนามีคำอยู่คำหนึ่งเป็น คำรวบยอด คือคำว่า “สุญญตา” ซึ่งแปลว่า ความเป็นของว่าง คือว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน ว่างจากสาระที่เราควรจะเข้าไปยึดถือด้วยกำลังใจทั้งปวงว่างจากสาระที่ควรเข้าไปยึดถือนั้น เป็นตัวศาสนาโดยแท้ เป็นหัวใจของการปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา เมื่อรู้แจ้งว่าทุกสิ่งทุกอย่างว่างจากตัวตนแล้ว ก็เรียกว่ารู้พุทธศาสนาถึงที่สุด
๗๕
คำว่า “ว่างจากตัวตน” คำเดียว ก็เป็นการเพียงพอ ที่รวบเอาคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มาไว้ด้วยเสร็จ เมื่อมันไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่มีส่วนไหนยั่งยืนถาวร ก็เรียกได้ว่าว่างเหมือนกัน เมื่อเต็มไปด้วยลักษณะที่ดูแล้วน่าสังเวชใจก็แปลว่า ว่างจากส่วนที่เราควรจะเข้าไปยึดถือเอา เมื่อเราพิจารณาดูว่าไม่มีลักษณะไหนที่จะคงทนเป็นตัวตนของมันเองได้ เป็นเพียงธรรมชาติที่ผันแปรไปตามกฎของธรรมชาติ อันไม่ควรเรียกว่าเป็นตัวตนของมันเอง ดังนี้ก็เรียกว่า ว่างจากตัวตนได้
๗๖
ถ้าบุคคลใดเห็นความว่างของสิ่งทั้งปวงแล้ว ก็จะเกิดความรู้สึก “ไม่น่าเอาไม่น่าเป็น” ในสิ่งต่างๆ ขึ้นมาทันที ความรู้สึกไม่อยากเอา ไม่อยากเป็นนี้แหละ มีอำนาจเพียงพอที่จะคุ้มครองคนเรา ไม่ให้ตกไปเป็นทาสของกิเลสหรือของอารมณ์ทุกชนิด บุคคลชนิดนี้ไม่สามารถทำความชั่วต่อไป ไม่หลงใหลพัวพันติดอยู่ในสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือเอนเอียงไปตามสิ่งยั่วยวนใจใดๆ เขาย่อมมีจิตใจเป็นอิสระอยู่เสมอ และไม่มีความทุกข์เลย
๗๗
ที่ว่า “ไม่มีอะไรน่าเอาน่าเป็น” นี้ เป็นสำนวนโวหารอยู่สักหน่อย คำว่า “เอา” และ “เป็น” ในที่นี้หมายถึงการเอาหรือเป็นด้วยจิตใจที่หลงใหล ด้วยจิตใจที่ยึดถือ ด้วยจิตใจทั้งหมดทั้งสิ้นจริงๆ มิได้หมายความว่า คนเราจะเป็นอยู่ได้โดยไม่มีอะไรไม่เป็นอะไรเสียเลย ตามปกติคนเราจะต้องเอาอะไร เป็นอะไรอยู่เป็นประจำ เช่น จะต้องมีทรัพย์สมบัติ มีบุตร ภรรยา เรือกสวนไร่นา จะต้องเป็นคนดี เป็นผู้แพ้ เป็นผู้ชนะ หรือเป็นผู้ถูกเอาเปรียบ เป็นต้น จะต้องมีความเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เสมอ แต่แล้วทำไมพุทธศาสนาจึงมาสอนให้เราพิจารณาในทางที่จะไม่เอาไม่เป็น
๗๘
ข้อนี้หมายความว่า พุทธศาสนาได้ชี้ให้เห็นว่า การเอาการเป็นนั้น เป็นเรื่องสมมติอย่างโลกๆ อย่างหนึ่ง และเป็นไปด้วยอำนาจของความไม่รู้ (อวิชชา) นั่นเอง เพราะเมื่อพูดกันตามความจริงขั้นที่เด็ดขาดถึงที่สุด ซึ่งเรียกว่าขั้นปรมัตถ์แล้ว คนเราจะเอาอะไร เป็นอะไรไม่ได้เลย เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าทั้งคนที่จะเอาและสิ่งที่ถูกเอานั้นมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ไม่ใช่ตัวตนด้วยกันทั้งนั้น แต่คนที่ไม่รู้เช่นนั้น ย่อมจะต้องมีความรู้สึกว่า “เราเอา “เรามี” “เราเป็น” เป็นธรรมดา นี่เป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้
๗๙
ความรู้สึกว่าเอา ว่าเป็น นั่นเอง ได้ทำให้เกิดมีความหนักใจหรือความทุกข์ขึ้นมา การเอา การเป็น ก็เป็นความอยากอย่างหนึ่งคืออยากไม่ให้สิ่งที่ตนกำลังเอา กำลังเป็นอยู่นั้นสูญหายหลุดลอยไปความทุกข์เกิดมาจากความอยากมี อยากเป็น อันรวมเรียกสั้นๆ ว่า ความอยาก ซึ่งเป็นโดยภาษาบาลีว่า “ตัณหา”
๘๐
การที่อยากก็เพราะไม่รู้ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรอยาก มันเป็นความเข้าใจผิดติดตามมาตามสัญชาตญาณ เกิดมาตั้งแต่เด็กๆ ก็รู้จักอยาก แล้วก็เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาซึ่งตรงตามที่อยากก็มี ไม่ตรงก็มี ถ้าได้ผลตรงตามที่อยาก ก็เกิดอยากให้มากขึ้นไปอีก ถ้าไม่ได้ผลตรงตามที่อยาก ก็ต้องดิ้นรนทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปจนกว่าจะได้ผลตรงตามที่อยาก เมื่อทำลงไปมันก็ได้ผลอย่างใดอย่างหนึ่ง วนเวียนเป็นวงกลมของกิเลส-การกระทำ-ผล วิบาก อยู่อย่างนี้ เรียกว่า วัฏฏสงสาร
๘๑
คำว่าวัฏฏสงสาร นั้นอย่างเพ่อไปเข้าใจว่าเป็นเรื่องการเวียนวนชาติโน้น ชาตินี้ ชาตินั้นแต่อย่างเดียว ที่แท้จริงกว่านั้น เป็นเรื่องการวนเวียนของสิ่ง ๓ สิ่ง คือ ความอยาก-การกระทำตามความอยาก-ผลอย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้มาจากการกระทำนั้น-แล้วไม่สามารถหยุดความอยากได้ เลยต้องอยากอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป-แล้วก็กระทำอีก-ได้ผลมาอีก-เลยส่งเสริมความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปอีก เป็นวงกลมอยู่อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ท่านเรียกว่าวัฏฏะหรือวัฏฏสงสาร เพราะเป็นวงกลมที่เวียนวน ไม่มีที่สิ้นสุดลงได้
๘๒
คนเราต้องทนทุกข์ทรมาน ก็เพราะติดอยู่ในวงกลมนี้เอง ถ้าใครหลุดออกไปจากวงกลมนี้ได้ ก็เป็นอันว่าพ้นไปจากความทุกข์ทุกอย่างโดยแน่นอน (นิพพาน)
๘๓
ไม่ว่ากระยาจกเข็ญใจ เศรษฐี มหากษัตริย์ จักรพรรดิ เทวดา พรหม หรือจะเป็นอะไรก็ตามที ล้วนแต่ตกอยู่ในวงกลมนี้ทั้งนั้น จะต้องมีความทุกข์ทรมานชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งเหมาะสมกับความอยากของเขา ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า ในวัฏฏสงสรนี้ เต็มไปด้วยความทรมานอันใหญ่หลวง ศีลธรรมหรือจริยธรรมนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาข้อนี้ได้เลย เราจึงต้องพึ่งตัวแท้ของพุทธศาสนา ที่เป็นหลักธรรมชั้นสูง ให้แก้ไขในเรื่องนี้โดยเฉพาะทีเดียว ทั้งหมดนี้เราจะเห็นได้ว่า ความทุกข์นั้นจะมาจากความอยาก สมดังที่พระพุทธเจ้าท่าจัดความอยากไว้ในเรื่องอริยสัจจ์ข้อที่สอง ในฐานะเป็นมูลเหตุให้เกิดความทุกข์ต่างๆ โดยตรง
๘๔
ความอยากมีอยู่ ๓ อย่าง อย่างแรกเรียกว่า กามตัณหา อยากในสิ่งน่ารักใครพอใจ จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อะไรก็ได้อย่างที่สองเรียกว่า ภวตัณหา คือความอยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตามที่ตนเองยากจะเป็น อย่างที่สามเรียกว่า วิภวตัณหา คือความอยากไม่ให้มีอย่างนั้น ไม่ให้เป็นอย่างนี้ หลักเกณฑ์ข้อนี้กล้าท้าให้ใครๆ พิสูจน์หรือแย้งอย่างไรก็ได้ว่า ยังมีความอยากอะไรอีกบ้าง นอกเหนือไปกว่า ๓ อย่าง ที่กล่าวมานี้
๘๕
ท่านทั้งหลายจะมองเห็นว่าเมื่อมีความอยากที่ไหน ก็มีความร้อนใจที่นั่น และเมื่อต้องการะทำตามความอยาก ก็ย่อมมีความทุกข์ตามส่วนของการกระทำ ได้ผลมาแล้วก็หยุดอยากไม่ได้ คงอยากต่อไป ต้องมีความร้อนใจต่อไปอีก เพราะยังไม่เป็นอิสระจากความอยาก ยังต้องเป็นทาสของความอยาก ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่า คนชั่วทำชั่วเพราะอยากทำชั่ว มันก็มีความทุกข์ไปตามประสาคนชั่ว คนดีอยากทำดีตามประสาของคนดี
๘๖
แต่ข้อนี้ อย่าเพ่อเข้าใจว่าเป็นการสั่งสอนให้เลิกละจาการทำความดี เฉพาะในที่นี้ประสงค์จะชี้ให้เห็นว่า ความทุกข์นั้นมีอยู่หลายระดับ ละเอียดจนคนธรรมดาเข้าใจไม่ได้ ต้องพึ่งพาอาศัยสติปัญญาของบุคคลประเภทพระพุทธเจ้าซึ่งชี้ให้เห็นว่า เราจะพื้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิงด้วยลำพังเพียงการกระทำความดีอย่างเดียวเท่านั้นยังไม่พอ ยังจะต้องทำบางสิ่งที่ยิ่งหรือเหนือไปจากการทำความดี ซึ่งได้แก่ การทำจิตให้หลุดพ้นไปจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของความอยากทุกชนิดนั่นเอง นี่เป็นใจความสำคัญของพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่มีทางแพ้ศาสนาใดๆ ในโลก อันไม่อาจเข้ามาเทียบสู้หรือเคียงคู่ได้ในส่วนนี้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องจำไว้ให้แม่นยำ
๘๗
เราเอาชนะความอยากทั้ง ๓ อย่างที่กล่าวแล้วได้นั่นแหละจึงจะเป็นความพ้นจากความทุกข์ หรือหมดความทุกข์โดยประการทั้งปวง
๘๘
เราจะกำจัดหรือดับระงับหรือตัดรากเง่าของความอยากให้หมดจดสิ้นเชิงได้อย่างไร คำตอบก็คือว่าพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตน จนมองเห็นว่าไม่มีอะไรที่น่าอยากนั่นเอง มันมีอะไรบ้างที่น่าเอา น่าเป็น ซึ่งเมื่อเอาหรือเป็นเข้าแล้ว จะไม่โยนความทุกข์ชนิดใดชนิดหนึ่งมาใส่ให้บุคคลนั้น ขอให้ตั้งปัญหาถามขึ้นอย่างนี้ ได้อะไรหรือเป็นอะไรบ้าง ที่จะไม่นำมาซึ่งความหนักอกหนักใจ
๘๙
ขอให้ลองคิดดู การได้บุตรได้ภรรยานำเอาความเบากายเบาใจมาให้ หรือเอาภาระหลายอย่างมาให้ การได้ตำแหน่งหน้าที่ เป็นการได้มาซึ่งความสงบเย็น หรือได้มาซึ่งภาระหนักโดยนัยนี้จะเห็นได้โดยง่ายว่า ล้วนแต่นำมาซึ่งภาระและหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนแต่เป็นภาระ เพราะความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตนของมันนั่นเอง เมื่อเราได้อะไรมา เราก็จะต้องจัดการกับสิ่งนั้นๆ ให้มันคงอยู่กับเรา ให้เป็นไปตามใจเราหรือมีประโยชน์แก่เรา แต่แล้วสิ่งนั้นๆ ตามปกติ มันเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่เป็นตัวตนของใคร คือไม่รู้ไม่ชี้ต่อความประสงค์มุ่งหมายของบุคคลใด มีแต่จะเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุ ตามวิวัยของมันเองการพยายามของคนเราจึงเป็นการต่อสู้ หรือเป็นการต่อต้านกฎแห่งความเปลี่ยนแปลงของสิ่งเหล่านั้น ฉะนั้น จึงเกิดเป็นความยากลำบาก หรือเป็นความทนทรมานในการที่จะเป็นอยู่ หรือไปทำสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ให้เป็นไปตามความประสงค์ของเรา
๙๐
อุบายซึ่งจะจัดการกับสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ที่ไม่น่าเอาไม่น่าเป็นนั้นมีอยู่ ข้อนี้ได้แก่การพิจารณาให้ลึกซึ้งจนพบความจริงว่า เมื่อยังมีกิเลสตัณหา ความรู้สึกในการเอา การเป็นนั้น ย่อมมีลักษณะไปอย่างหนึ่ง ถ้าไม่มีกิเลสตัณหา มีแต่ปัญญาที่รู้จักสิ่งต่างๆ ถูกต้องดีว่า อะไรเป็นอะไรแล้วความรู้สึกในการเอา การเป็น หรือการได้ของบุคคลนั้นย่อมอยู่ในลักษณะอีกแบบหนึ่ง
๙๑
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การกินอาหาร ถ้ากินด้วยตัณหา หรือด้วยความอยากในความเอร็ดอร่อย การกินอาหารของผู้นั้นต้องมีอาการต่างจากบุคคลที่ไม่กินอาหารด้วยตัณหา แต่กินด้วยสติสัมปชัญญะ หรือมีปัญญารู้ว่าอะไรเป็นอะไร นี้ก็เป็นคนด้วยกัน แต่คนหนึ่งกินด้วยตัณหา อีกคนหนึ่งกินด้วยความรู้สึกตัวด้วยสติปัญญา การกินจะต้องผิดกัน กิริยาอาการที่กินและความรู้สึกในขณะกิน ก็จะต้องผิดกัน และในที่สุด ผลอันเกิดจาการกินก็จะต้องผิดกัน
๙๒
เราต้องทำความเข้าใจกันในข้อที่ว่า แม้จะไม่ต้องมีตัณหาหรือความอยากในรสอร่อย คนเราก็กินอาหารได้ พระอรหันต์ หรือพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่มีกิเลสตัณหาเลย ก็ยังทำอะไรๆ ได้ เป็นอะไรๆ ได้ ยังทำงานมากกว่าพวกเรา ที่ทำด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา ท่านทำด้วยอำนาจของอะไร ท่านทำเหมือนกับพวกเรา ที่ทำด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา อยากเป็นนั่นเป็นนี่หรือ
๙๓
คำตอบก็คือ ท่านทำด้วยอำนาจของปัญญา คือความรู้ที่แจ่มแจ้งถึงที่สุดว่า อะไรเป็นอะไร ผิดแปลกแตกต่างจาก พวกเราซึ่งทำอะไรๆ ด้วยตัณหา ผลที่เกิดขึ้นนั้น คือ พวกเราต้องเป็นทุกข์กันแทบตลอดวลา แต่ส่วนท่านไม่มีความทุกข์เลย ท่านไม่อยากได้อะไร ไม่อยากเอาอะไร ผลจึงไปได้แก่คนทั้งหลายเหล่าอื่น ด้วยความเมตตาของท่านนั่นเอง ท่านมีปัญญาเป็นเครื่องบอกว่า สิ่งนี้ควรจะทำแทนที่จะอยู่เฉยๆ ฉะนั้นท่านจึงทำการสืบอายุพระศาสนามาจนถึงพวกเราได้ และทั้งได้ทำประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย
๙๔
ร่างกายและจิตใจที่ปราศจากกิเลสตัณหา ก็แสวงหาและบริโภคอาหารได้ด้วยปัญญา ไม่แสวงและบริโภคด้วยกิเลสตัณหาเหมือนแต่ก่อน เมื่อเราหวังจะเป็นผู้พ้นทุกข์ตามรอยบาทของพระพุทธเจ้าหรือของพระอรหันต์ทั้งหลาย เราก็ควรฝึกฝนตัวในการที่จะทำอะไรลงไปด้วยปัญญาอย่างทำไปด้วยอำนาจกิเลสตัณหาถ้าเป็นคนศึกษาเล่าเรียนก็ศึกษา ไปด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ว่ามันเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษา ถ้าประกอบการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ทำไปด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนควรกระทำและทำให้ดีที่สุด ด้วยความเยือกเย็นเท่าที่สติปัญญาจะอำนวยให้
๙๕
ถ้าทำไปด้วยตัณหา มันจะร้อนใจเมื่อกำลังทำ และร้อนใจเมื่อทำเสร็จแล้ว แต่ถ้าทำด้วยอำนาจของปัญญาควบคุมอยู่จะไม่ร้อนใจเลย ผลแตกต่างกันอย่างนี้ ฉะนั้นเราจำเป็นต้องรู้อยู่เสมอว่า สิ่งทั้งหลายโดยที่แท้แล้วเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น จะเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็เข้าไปด้วยปัญญา การกระทำของเราก็จักไม่ตกหล่มของกิเลสตัณหา
๙๖
การทำด้วยสติปัญญา จะไม่มีความทุกข์ตั้งแต่เบื้องต้นจนปลาย จิตใจจะไม่มีความหลงยึดถือ อย่างหลับหูหลับตาว่าเป็นของน่าเอา น่าเป็น ทำไปด้วยจิตว่าง ปล่อยให้เป็นไปตามขนบธรรมเนียมประเพณีหรือตามกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น เรามีที่ดินเป็นทรัพย์สมบัติอยู่ เราไม่จำเป็นต้องมีความรู้สึกที่เป็นตัณหาไปยึดถือในสิ่งนั้นจนถึงกับหนักอกหนักใจแผดเผาหัวใจ กฎหมายยังคงคุ้มครองที่ดินผืนนั้นให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเราอยู่นั่นเอง เราไม่ต้องทุกข์ร้อนวิตกกังวลมันก็ไม่หลุดมือหายไปไหน
๙๗
แม้ว่าจะมีใครมาแย่งชิงก็ยังคงทำการต้านทานป้องกันได้ด้วยสติปัญญา ไม่ต้องต้านทานด้วยกิเลสตัณหาให้เร่าร้อนด้วยไฟ คือโทสะ เราอาศัยอำนาจกฎหมายทำการต้านทานได้โดยไม่ต้องมีความทุกข์ เราก็ยังคงรักษาคุ้มครองเอาไว้ได้ แต่ถ้าหากว่ามันจะหลุดมือไปจริงๆ เราจะมีกิเลสตัณหาหรือไม่มีก็ตาม มันก็ช่วยไม่ได้ เพราะว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิจ คิดเสียดังนี้เราก็ไม่ต้องทุกข์ร้อนอะไร
๙๘
แม้ “การเป็น” ก็เหมือนกัน ไม่ต้องไปยึดถือในการได้เป็นนั่นเป็นนี่ เพราะว่าโดยที่แท้แล้ว ไม่มีอะไรที่น่าสนุกเลยล้วนแต่นำมาซึ่งความทุกข์ อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งนั้น
๙๙
อุบายง่ายๆ ที่เราจะต้องพิจารณา ซึ่งเรียกว่าวิปัสสนาหรือเป็นการปฏิบัติธรรมโดยตรงก็คือ พิจารณาให้เห็นว่า ไม่มีอะไรที่น่าเป็น หรือไม่มีการเป็นอะไรที่น่าสนุกเลย ท่านทั้งหลายลองตั้งปัญหาสำหรับพิจารณาในข้อนี้ว่าการเป็นอะไรบ้างที่น่าสนุก เช่น เป็นบุตร เป็นบิดา มารดา เป็นสามี เป็นภรรยา เป็นนายเขา เป็นบ่าวเขา สนุกไหม เป็นมนุษย์สนุกไหม กระทั่งว่าเป็นพรหมสนุกไหม
๑๐๐
ถ้าท่านมีความรู้ว่า อะไรเป็นอะไรอย่างแท้จริงแล้วทุกอย่างล้วนแต่ไม่มีอะไรที่น่าสนุกเลย เราต้องทนทำ ทนเป็น ทนเอา ทนอยู่ โดยไม่รู้สึกตัว แล้วทำไมเราจะต้องไปมอบกายถวายชีวิต หลงใหลเอาหลงใหลเป็น หรือทำไปด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา เราควรจะมีความรู้ที่ถูกต้องในสิ่งเหล่านี้ แล้วมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล้านี้ในอาการที่จะให้เป็นทุกข์น้อยที่สุด หรือไม่ให้เป็นทุกข์เสียเลยยิ่งดี
๑๐๑
อีกประการหนึ่ง เราจะต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่อยู่ร่วมกันในโลก จะเป็นมิตรสหาย แม้ที่สุดบุตรภรรยาผู้ใกล้ชิดสนิทสนมว่าสิ่งทั้งปวงมันเป็นอย่างนี้ ให้เขามีความเข้าใจที่ถูกต้องเหมือนกับเรา แล้วก็จะไม่มีอะไรขัดขวางกันในครอบครัว ในบ้านเมืองตลอดถึงในโลก ต่างคนต่างมีจิตใจที่ไม่ยึดมั่นหลงใหลในสิ่งใดๆ หรือในกันและกัน ด้วยอำนาจกิเลสตัณหา แต่ว่าคงมีชีวิตเป็นอยู่ด้วยอำนาจของปัญญา โดยมองเห็นชัดอยู่เสมอว่า ไม่มีอะไรที่ จะยึดถือย่างจริงจังได้
๑๐๒
ขอให้ทุกคนมีความรู้สึกว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่มีอะไรเป็นตัวตนอย่างแท้จริง ไม่น่าหลงด้วยกำลังใจทั้งหมดทั้งสิ้น ควรยับยั้งด้วยปัญญาเรียกว่าเป็นผู้รู้ด้วยปัญญามีความเห็นถูกต้อง ตามคำสอนแห่งพระพุทธศาสนา จึงสมควรจะเรียกว่า เป็นพุทธบริษัทโดยแท้จริง
๑๐๓
แม้จะไม่เคยบวชไม่เคยรับศีล แต่ก็เป็นบุคคลที่เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแท้จริง เขามีจิตใจอย่างเดียวกับ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือมีความสะอาด สว่าง สงบในใจ เพราะเหตุที่ไม่ยึดถือในสิ่งใด ว่าน่าเอา หรือน่าเป็นนั่นเอง เขาจึงเป็นพุทธบริษัทขึ้นมาได้โดยสมบูรณ์ อย่างง่ายดายและอย่างแท้จริง ด้วยอาศัยอุบายถูกต้อง ที่พิจารณามองเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์และความไม่ใช่ตัวตน ของตัวของตน จนเกิดความรู้สึกว่าไม่มีอะไรที่ น่าเอา น่าเป็นสักอย่างเดียว
๑๐๔
ความชั่วที่เป็นชั้นทรมานที่สุด ก็มาจากความอยากเอา อยากเป็น ด้วยอำนาจกิเลสตัณหา ความชั่วที่เบาขึ้นมาก็ทำกันด้วยอำนาจของความรู้สึกที่เบา ด้วยกิเลสตัณหา ความดีทั้งปวงก็ทำกันด้วยตัณหา ชนิดที่ดี ที่ประณีตละเอียดสูงขึ้นไป เป็นความอยากเอา อยากเป็นในชั้นดี แม้ความดีถึงที่สุดก็ทำด้วยตัณหา ที่ประณีตละเอียดที่สุด จนคนไม่ถือว่าเป็นความชั่วเลย แต่แล้วก็ยังไม่พ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่พ้นทุกข์ถึงที่สุด กล่าวคือ พระอรหันต์จึงเป็นผู้ที่หมดจากการกระทำด้วยอำนาจของตัณหา กลายเป็นบุคคลที่ทำชั่วทำดีไม่ได้ ทำได้แต่สิ่งที่เหนือไปกว่าความชั่วและความดี คือมีใจเป็นอิสระอยู่เหนือการครอบงำในค่าของความชั่วและความดี ท่านจึงไม่มีความทุกข์เลย
๑๐๕
หลักของพระพุทธศาสนามีอยู่อย่างนี้ เราจะทำได้หรือไม่ได้ก็ตาม ปรารถนาหรือไม่ปรารถนาก็ตาม แนวของความพ้นทุกข์ย่อมมีอยู่อย่างนี้ วันนี้ยังไม่ปรารถนา วันหน้าก็จะต้องปรารถนาเพราะว่าเมื่อได้ละความชั่วเสร็จแล้วความดีก็ได้ทำเต็มเปี่ยม แต่จิตยังหม่นหมอง ด้วยตัณหาชั้นประณีต บางประการอยู่ และก็ไม่รู้จักจะดับด้วยวิธีใด นอกจากพยายามอยู่เหนืออำนาจตัณหา คืออยู่เหนือการที่จะไปอยากได้ อยากเป็นทั้งในสิ่งที่ชั่ว หรือสิ่งที่ดีก็ตาม ต้องไม่มีความอยากโดยสิ้นเชิง จึงจะพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ (นิพพาน)
๑๐๖
สรุปความว่า การรู้ว่า อะไรเป็นอะไรถึงที่สุดนั้น คือรู้ว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนของตน เมื่อรู้โดยแท้จริงแล้ว ก็จะเกิดความรู้ชนิดที่จิตใจจะไม่อยากเป็นอะไรด้วยความยึดถือ แต่ถ้าต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใดๆ ที่เรียกว่า “ความมีความเป็น” บ้างก็เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยอำนาจของปัญญา ไม่เกี่ยวข้องด้วยอำนาจของตัณหา เพราะฉะนั้น จึงไม่มีความทุกข์เลย
๑๐๗