วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ธาตุแท้ของคน


                นักปราชญ์ทางศาสนา ได้ให้ข้อคิดว่า คนเราย่อมมองอะไรต่างๆ ตามพื้นฐานเดิมของคนนั้นๆ เช่น เมื่อเห็นพระพุทธรูปทองคำตั้งอยู่บนแท่น นักเศรษฐกิจอาจคิดประเมินราคาของพระพุทธรูป ขณะที่นักเคมีก็อาจคิดถึงธาตุทองคำที่นำมาสร้างพระพุทธรูปว่าบริสุทธิ์หรือไม่ มีธาตุอะไรเจือปนบ้าง โจรร้ายก็อาจจะคิดในใจว่าหากขโมยนำไปขายจะได้ราคาเท่าไร ในทำนองเดียวกัน ถ้าอยากจะรู้ว่าธาตุแท้ของคนเราเป็นอย่างไรก็จงหัดสังเกตปฏิกิริยา ครั้งแรกของคนคนนั้นว่าเขามีท่าทีต่อสิ่งนั้นๆ อย่างไร
                ธาตุแท้ หรืออุปนิสัยของคน ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าจริต มี ๖ ประการ คือ
                ๑. ราคจริต คนเจ้าราคะ มีอุปนิสัยรักสวยรักงาม หรืออารมณ์ศิลปิน เจ้าชู้ มองอะไรต่างๆ ในแง่ดี
                ๒. โทสจริต คนเจ้าโทสะ มีอุปนิสัยใจร้อน โกรธ เกลียดชังง่าย มักมองอะไรในแง่ร้าย ทำอะไรก็มักจะรุนแรง ชอบทำลาย
                ๓. โมหจริต คนเจ้าโมหะ มีอุปนิสัยเซื่องซึม ไม่ชอบคิดอะไรมาก และมักง่าย
                ๔. ศรัทธาจริต คนเจ้าสัทธา มีอุปนิสัยใจอ่อน เชื่อง่าย ถูกชักจูงได้ง่าย อารมณ์อ่อนไหว
                ๕. พุทธิจริต คนเจ้าปัญญา มีอุปนิสัยหนักแน่น ชอบคิดหาเหตุผลของสิ่งต่างๆ ไม่เชื่อง่าย ชอบถกเถียงโต้แย้ง
                ๖. วิตกจริต คนเจ้าความคิด มีอุปนิสัยจับจด วอกแวก ชอบคิดฟุ้งซ่าน วิตกกังวลในเรื่องไม่เป็นเรื่อง
                ในคนคนหนึ่งอาจมีหลายจริตก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่ามีจริตอะไรเป็นตัวนำ ขอให้ลองพิจารณาดูด้วยใจเป็นธรรมว่าตัวของเราเองจัดเป็นคนมีจริตแบบไหนใน ๖ ประการข้างต้น มีลักษณะสร้างสรรค์หรือทำลาย ถ้ามีลักษณะสร้างสรรค์ก็ควรส่งเสริม แต่ถ้ามีลักษณะชอบทำลายก็จงพยายามหาทางยับยั้ง หรือเบี่ยงเบนให้แสดงตัวในทางสร้างสรรค์แล้วปัญหาต่างๆ ที่ไม่ประสงค์ก็จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน

........................................