วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

วิธีอยู่กับโลก

มีสิ่งแวดล้อมอยู่ชนิดหนึ่งที่วนเวียนอยู่กับโลกนี้ และส่งผลกระทบต่อมนุษย์โดยตรงยาก ที่ใครจะหลีกเลี่ยงได้ สิ่งแวดล้อมชนิดนี้ท่านเรียกว่า โลกธรรม แปลว่า สิ่งที่มีอยู่ประจำโลก ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๘ อย่าง คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข และทุกข์ สำหรับ มนุษย์เรานั้น เมื่อกระทบกับโลกธรรมแล้วก็มักจะตั้งรับด้วย อาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ใน ๓ อย่างนี้ คือ
๑.ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือ เมื่อได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ และได้สุข ก็ปล่อยใจ ให้เพลิดเพลินกับสิ่งที่ได้รับ และเมื่อประสบกับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา และได้รับ ความทุกข์ ก็ปล่อยให้จิตใจห่อเหี่ยวเศร้าสร้อย ไม่ได้คิดที่จะทำจิตให้เข้มแข็งแต่อย่างใด การตั้งรับ แบบนี้ จะต้องตกอยู่ในวงเวียนแห่งความดีใจและเสียใจตลอดเวลา และถ้าผู้ประสบกับโลกธรรมนั้นเป็น หัวหน้าคนอื่นด้วยแล้ว ก็ย่อมจะพลอยทำให้คนอื่นวุ่นวายไปด้วย
๒. ปล่อยไปตามธรรมชาติ แต่ตีกรอบเฉพาะที่จิตใจตนเอง การตั้งรับโลกธรรมวิธีนี้ยอมให้ โลกธรรมครอบงำใจได้ คือ ยังดีใจเสียใจอยู่ เพียงแต่ไม่แสดงความรู้สึกออกมา คงรักษา อากัปกิริยาไว้ด้วยท่าทีหนักแน่นสงบนิ่ง ผู้ตั้งรับโลกธรรมด้วยวิธีนี้อาจจะวุ่นวายไปกับโลกบ้าง แต่ไม่มากนัก ซึ่งก็น่าชมเชยกว่าบุคคลในข้อแรก
๓. ปรับจิตใจให้ยอมรับความจริง การตั้งรับโลกธรรมโดยวิธีนี้สอดคล้องกับหลักธรรม ที่ว่า โลกธรรมนั้นเมื่อเกิดขื้นแล้วก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเอง ไม่จีรังยั่งยืน ไม่ใช่ของที่ควร ยึดมั่นถือมั่น เมื่อปรับจิตใจได้เช่นนี้โลกธรรมก็ไม่สามารถครอบงำได้อีกต่อไป เขาจึง สามารถ ใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขในทุกสถานการณ์ และพลอยทำให้คนอื่นได้ปกติสุขนั้นไป ด้วย บุคคลในประเภทหลังนี้ย่อมมี คุณค่าน่าชมเชยมากกว่าบุคคล ๒ ข้อที่กล่าวแล้วคนที่ ปรับจิตใจให้ยอมรับความจริงได้เช่นนี้ จะพบแต่ความปลอดโปร่ง ความเป็นอิสระทางจิตใจ อันเป็นมงคลของชีวิตประการหนึ่ง ดังคำพระที่ว่าจิตของผู้ใด กระทบโลกธรรมแล้ว ไม่เศร้า โศก ไม่เศร้าหมอง มีความปลอดโปร่ง นั่นแหละคืออุดมมงคล