วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2563

วิถีแห่งธรรม

 


                 ดูเหมือนว่าชาวพุทธในประเทศไทยเราไม่น้อยที่พากันหลงใหลในวัฒนธรรมของชาวตะวันตกกันจนลืมความสำคัญของคำว่า มาฆบูชา หรือวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนาเป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ประทานโอวาทปาติโมกข์แก่พระอรหันตสาวกจำนวน  ๑,๒๕๐ องค์ ซึ่งมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวันมีสาระสำคัญตอนหนึ่งเกี่ยวกับวิถีชีวิตที่ประกอบด้วยธรรมคือ

                ๑.อนูปวาโท ไม่ว่าร้ายกัน

                ๒.อนูปฆาโต ไม่ทำร้ายหรือเบียดเบียนกัน

                ๓.ปาติโมกเข จะ สังวโร เคร่งครัดในระเบียบวินัย เคารพในแบบแผนที่มีอยู่

                ๔.มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง บริโภคใช้สอยปัจจัยสี่แต่พอประมาณ ไม่ฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น

                ๕.ปัตตัญจะ สยะนาสะนัง อยู่ในสถานที่สงบ ไม่วุ่นวาย

                ๖.อธิจิตเต จะ อาโยโค ฝึกจิตให้มั่นคง มีคุณธรรม ประกอบด้วยปัญญา

                อันที่จริงชีวิตคือความเรียบง่าย แต่ความเจริญของโลกอย่างที่เจริญอยู่นี้ ทำให้ชีวิตต้องยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น เช่นต้องแข่งขันกันมากขึ้นเพื่อความอยู่รอด ต้องปรับตัวอย่างเร็วให้เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงต้องคอยแก้ปัญหาที่เกิดจากมนุษย์ด้วยกันเอง และความยุ่งยากซับซ้อนนี้ก็กลายเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ ที่มักก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน การใช้อำนาจและอภิสิทธิ์ การเป็นอยู่ที่ฟุ้งเฟ้อลืมตัว ตลอดจนไม่ให้ความสำคัญในเรื่องจิตใจและคุณธรรม

                ความจริงมีอยู่ว่า ยิ่งเราปฏิเสธวิถีแห่งโลกไม่ได้เพียงใด ก็ยิ่งมีความต้องการวิถีแห่งธรรมมากขึ้นเพียงนั้น ชีวิตจึงจะสงบสุข วันมาฆบูชา จึงไม่เพียงเป็นวันที่ชาวพุทธไม่ควรลืม แต่ควรเป็นวันแห่งการสำรวจชีวิตของตนเองด้วยว่า ได้เดินออกนอกทางที่เป็นวิถีแห่งความดีงามมากน้อยเพียงใด หรือเรียกว่ายังอยู่ในวิถีแห่งธรรมมากน้อยเพียงใดนั่นเอง

............................................