วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559

อิทธิพลเบื้องล่าง


                การถือล่างถือบน ถือฤกษ์ถือยาม เช่น นิยมยึดถือกันว่า ศีรษะเป็นของสูง ส่วนเท้าเป็นของต่ำ ดังนั้น การก้มศีรษะให้แก่ใคร ก็เท่ากับเป็นการทำความเคารพ แม้การกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ก็ต้องให้ศีรษะจรดพื้นเป็นส่วนที่ห้า การลูบหัว เล่นหัวนั้น ถ้าไม่เป็นที่เคารพรักใคร่กันจริงๆ แล้ว ก็เป็นเรื่องที่ยอมกันไม่ได้ ส่วนเท้าที่ถือว่าเป็นของต่ำนั้นจำเป็นที่จะต้องสำรวมระวังอย่างยิ่งในการเหยียดย่างหรือยก หากไม่สำรวมระวังอาจส่อเป็นการแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าเท้าไม่ทำหน้าที่หรือไม่สามารถทำหน้าที่ได้แล้ว ศีรษะเป็นของสูงก็ไม่อาจทำหน้าที่ได้เช่นกัน
                รอบๆ ตัวเรานั้น มีบุคคลหลายระดับทั้งสูงและต่ำ อาจแบ่งได้เป็น ๖ จำพวก ตามทิศทั้ง ๖ คือ
                ๑. ปุรัตถิมทิศ       ทิศเบื้องหน้า        ได้แก่ บิดามารดา
                ๒. ทักขิณทิศ        ทิศเบื้องขวา          ได้แก่ ครูอาจารย์
                ๓. ปัจฉิมทิศ         ทิศเบื้องหลัง         ได้แก่ บุตร สามมี/ภรรยา
                ๔. อุตตรทิศ          ทิศเบื้องซ้าย          ได้แก่ มิตรสหาย
                ๕. เหฏฐิมทิศ       ทิศเบื้องล่าง          ได้แก่ คนรับใช้ และคนงาน
                ๖. อุปริมทิศ          ทิศเบื้องบน           ได้แก่ นักบวช
                จะเห็นได้ว่า คนรับใช้และคนงาน ถูกจัดอยู่ในทิศเบื้องล่าง หรือบุคคลระดับล่าง สังคมจะไม่ให้ความสำคัญเท่าใดนัก แต่ในความจริงแล้ว ถ้าไม่มีเบื้องล่าง เบื้องบนก็มีไม่ได้ เหมือนเจดีย์ มียอดได้ก็ต้องมีฐาน ถ้าเบื้องล่างมีปัญหาก็จะกระทบกระเทือนเบื้องบนด้วย เหตุนี้ ทางพระพุทธศาสนามีหลักปฏิบัติสำหรับบำรุงดูแลบุคคลระดับล่างไว้ ๕ ประการ คือ ๑. จัดงานให้เหมาะกับคน ๒.ให้ค่าจ้างรางวังที่เหมาะสม ๓. จัดสวัสดิการดี ๔.มีน้ำใจแบ่งปันสิ่งดีๆ ๕.ให้มีวันหยุดพักผ่อน สันทนการตามควร
                ด้วยหลักปฏิบัติทั้ง ๕ ประการ จะทำให้เบื้องล่างมั่นคง เบื้องบนดำรงมั่น สังคมเกิดภาวะสมดุลสอดคล้อง สงบสุข และยั่งยืนได้สืบต่อไป

....................................

พระคุณแม่

แม่
                “แม่” มีความหมายสำหรับลูกทุกๆ คน แต่น้อยคนนักที่จะซาบซึ้งในความหมายนี้อย่างแท้จริง เพราะได้ยินคำนี้มาจนชินชาและดูเป็นธรรมดาไปเสียแล้ว ความจริงแม่ได้ทำหน้าที่ของท่านไปตามลำดับ ตั้งแต่ลูกๆ ยังไม่เกิดด้วยซ้ำ กล่าวคือ
                ๑.เมื่อแม่ต้องการมีลูกชายหญิง ก็ได้อ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิที่นับถือ เพื่อให้ได้ลูกตามที่ปรารถนา
                ๒.เมื่อแม่ตั้งครรภ์ แล้วก็พยายามรักษาครรภ์อย่างดีที่สุด
                ๓.เมื่อคลอดลูกแล้วได้ปลอบโยนเลี้ยงดูลูกอย่างดีตามความสามารถ
                ๔.แม่พยายามรักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้เพื่อลูกๆ
                                ฯลฯ
                ในทางพระพุทธศาสนาได้เปรียบแม่เป็นหลายๆ อย่างต่อลูก
                ๑.เปรียบได้ดั่งพระพรหม เพราะมีความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาต่อลูก
                ๒.เปรียบได้ดั่งบุรพเทพ เพราะคอยระวังป้องกันภัยต่างๆ ให้ลูกก่อนเทพอื่น
                ๓.เปรียบได้ดังบุรพาจารย์ของลูก เพราะได้สอนลูกก่อนอาจารย์อื่นๆ
                ๔.เปรียบเป็นอาหุเนยยบุคคลของลูก เพราะเป็นผู้ที่เหมาะสมแก่การรับข้าว น้ำ เป็นต้น ของลูก
                                ฯลฯ
                แม่ได้ทำหน้าที่ของตนต่อลูกอย่างยิ่งยวด ด้วยการ ห้ามลูกไม่ให้กระทำความชั่ว แนะนำให้ลูกกระทำแต่ความดี ให้ศึกษาศิลปวิทยา หาคู่ครองที่เหมาะสม มอบทรัพย์สมบัติให้ในเวลาที่ควรมอบให้ ฯลฯ
                เพื่อเป็นการรำลึกถึงแม่และพระคุณของท่าน ลูกต้องหาโอกาสตอบแทนพระคุณโดยปฏิบัติ เลี้ยงดูท่านทั้งทางกายและจิตใจ ช่วยเหลือแบ่งเบาภารกิจของท่าน ดำรงวงศ์ตระกูลของท่าน ปฏิบัติตัวเหมาะสมที่เป็นทายาทของท่าน เมื่อท่านล่วงลับไปทำบุญอุทิศให้ท่านอย่างสม่ำเสมอ ฯลฯ
                เมื่อลูกได้ทำการตอบสนองคุณของแม่แล้ว ลูกและแม่ก็จะมีความสุขใจสบายใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย ฉะนั้นลูกจงปฏิบัติต่อแม่ตามที่กล่าวมาแล้วเถิด

....................................

ยาขมหม้อใหญ่


                “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” คำกล่าวนี้เป็นการเปรียบเทียบว่าสิ่งที่เราไม่ชอบ เรามักจะรู้สึกว่าขมขื่นกลืนกินยาก แต่เมื่อกลืนเข้าไปแล้ว ที่ว่าขมนั้นจะเป็นยาแก้โรคได้ ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่เราชอบเราจะรู้สึกว่าเอร็ดอร่อย เมื่อกลืนกินผ่านลำคอเข้าไปแล้วก็เท่านั้นเอง คือผ่านเลยไปทำให้รู้สึกว่าสบาย แต่หลังจากนั้นอาจจะมีโทษภัยติดตามมา เปรียบเสมือนการดำเนินชีวิตของบุคคลเรา ถ้าหากเราทำตัวตามสบายจนเกินไป ก็จะเกิดผลเสียไม่ได้อะไรเลย กาลเวลาก็ล่วงเลยไปเปล่าๆ จะแก่ก็แก่ไปดังมีคำกล่าวที่ว่า แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน นั่นเอง
                “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” สามารถนำมาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี ในเบื้องต้นของชีวิต ถ้าบุคคลทำตัวสบาย มักง่าย เกียจคร้าน หนักไม่เอาเบาไม่สู้ ในเบื้องปลายของชีวิตย่อมจะประสบความล้มเหลว ตรงกับ “หวานเป็นลม” แต่ถ้าในเบื้องต้นของชีวิต บุคคลมีความขยันหมั่นเพียร หนักเอาเบาสู้ บังคับฝืนใจตนเองให้กระทำหน้าที่การงาน ดุจฝืนใจตนเองดื่มยาขมหม้อใหญ่ ในเบื้องปลายชีวิตก็ย่อมจะประสบความสำเร็จเสมอ ตรงกับ “ขมเป็นยา”
                ดังนั้น บุคคลผู้อยากได้ดีมีความสำเร็จสมหวังในชีวิตและหน้าที่การงาน จึงควรฝืนใจดื่ม ยาขมหม้อใหญ่ ด้วยการทำอะไรให้ทำจริงๆ
                                หวานเป็นลม ขมเป็นยา ท่านว่าไว้ เตือนจิตให้ หวนคิด ปริศนา
                                ความเกียจคร้าน ในการกิจนานา                      ย่อมจะพา ให้ทนทุกข์ หมดสุขใจ
                                ความขยัน บากบั่น ในการกิจ                            ย่อมสัมฤทธิ์ ทุกสิ่งสรรพ์ ดังขานไข
                                ทำอะไร ให้ฟันฝ่า อย่าทิ้งไป                            ดุจยาขม หม้อใหญ่ ให้ดื่มกิน

....................................