วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

คุณสมบัติของพ่อค้า


                ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับการดำรงชีวิตมากบ้าง น้อยบ้างเนื่องจากเครื่องอุปโภคและบริโภคมีราคาสูงขึ้น เป็นเหตุให้ต้องจ่ายเงินมากขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ทุกคนจึงมีความจำเป็นต้องหารายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับรายจ่ายที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
                พระพุทธศาสนาสอนเรื่องเศรษฐกิจ โดยให้คนขยันทำมาหากินในทางสุจริต ให้รู้จักรักษาทรัพย์ที่หามาได้รู้จักคบคนดีเป็นมิตร และมีความเป็นอยู่อย่างเหมาะสม รู้จักกำหนดรายได้รายจ่ายเลี้ยงชีวิตแต่พอดี โดยแสดงถึงคุณสมบัติของพ่อค้าไว้ ๓ อย่างคือ
                ๑. มีตาดี หมายถึง รอบรู้ในเรื่องหลักการค้าขาย รู้จักสินค้า รู้ต้นทุน รู้กำไร
                ๒. มีความเพียร หมายถึง พยายามพิจารณาถึงกาลเทศะและสถานที่ รู้ว่าจะซื้อที่ไหนจะได้ของถูก ขายที่ไหนจะได้ราคาดี รู้จังหวะเวลาตอนไหนควรซื้ออะไร ตอนไหนควรขายอะไร แล้วทำอย่างต่อเนื่อง
                ๓. รู้จักชอบพอกับคนรอบข้าง หมายถึง มีมิตรสหายมาก รู้จักทำตนให้น่าเชื่อถือ เป็นที่นิยมและไว้วางใจของผู้อื่น มีน้ำจิตน้ำใจต่อลูกค้าและพ่อค้าด้วยกัน
                คุณสมบัติของพ่อค้า ๓ ประการนี้ จะช่วยให้การค้าขายประสบผลสำเร็จ มีผลกำไร เข้าทำนองว่า     “ซื้อง่ายขายคล่อง” อาชีพค้าขายถ้าจะให้มั่นคงถาวร ต้องค้าขายโดยสุจริต งดเว้นค้าขายสิ่งที่อุบาสกไม่ควรทำ ๕ ประการ ตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้คือ ค้าอาวุธ ค้ามนุษย์ ค้าเนื้อสัตว์หมายถึงสัตว์ที่มีชีวิต ค้าน้ำเมารวมถึงสิ่งเสพติด และค้ายาพิษ เพราะการค้าขายสิ่งเหล่านี้จะเกิดภัยอันตรายต่อตนเองและส่วนรวม แม้บางครั้งจะทำให้ได้รับผลกำไรมากมาย เช่น การค้ายาเสพติด ถือว่าเป็นภัยต่อชาติ ต่อแผ่นดิน เป็นการทำลายมนุษย์ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุด
                ฉะนั้น พ่อค้าผู้หวังผลกำไรเพื่อสร้างฐานะและอนาคตของตนเอง และครอบครัวจะต้องมีคุณสมบัติ ๓ ประการ และเว้นการค้าขายที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม จึงจะประสบความสำเร็จตามความประสงค์ทุกประการ

.........................................

การขอที่ไม่น่าละอาย


                ธรรมชาติของคนที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ไม่ชอบให้ใครมาขอและตนเองก็ไม่ชอบขอใคร คนเราส่วนใหญ่ต้องการรับ ไม่ต้องการให้ หากมีใครมาขอจะหงุดหงิดรำคาญใจ รู้สึกว่านั่นหมายถึงการสูญเสีย หรือบางคราวก็ให้ด้วยความจำใจแบบเสียไม่ได้ โดยปกติคนเราหากไม่เหลือบ่ากว่าแรงหรือจำเป็นจริงๆ ก็จะไม่ขอใคร นั่นเป็นเพราะความละอาย กลัวผู้ถูกขอจะนึกตำหนิต่างๆ นานา อาจถูกว่ายากจนบ้างล่ะ ยากจนมากหรือ ไม่มีปัญญาหาเลี้ยงชีพแล้วหรือ อะไรประมาณนี้ จึงมีคำสอนเตือนใจเกี่ยวกับการขอไว้ว่า “จะยากจนเพียงใดก็ไม่ขอใครกิน หรืออดอย่าเสือดีกว่าอิ่มอย่างสุนัข ผู้ขอย่อมไม่เป็นที่พอใจของผู้ถูกขอ”
                แต่มีการขอชนิดหนึ่งที่เราไม่ควรมองข้าม ไม่ใช่สิ่งที่น่าละอาย และไม่เป็นเครื่องหมายของความยากจน คือการขออภัย การให้ที่ไม่ต้องสิ้นเปลืองสิ่งใด ก็คือการให้อภัย
                การขออภัย เป็นการสำนึกในความผิดพลาดของตนที่ได้พลาดพลั้งไปแล้ว การให้อภัย เป็นการรับรู้ความผิดของผู้อื่นแล้วไม่ถือโทษ ผู้ที่อยู่ร่วมกันก็ต้องมีความพลาดพลั้งล่วงเกินกันบ้างเป็นธรรมดา แต่เมื่อพลาดพลั้งไปแล้วก็ไม่ควรจะละเลยหรือถือเป็นเรื่องเล็กน้อย ควรรีบขออภัยหรือขอโทษทันที ส่วนผู้ถูกล่วงเกินก็เช่นเดียวกัน เมื่อรับการขออภัยหรือขอโทษแล้ว ก็ไม่ควรจะผูกโกรธ การให้อภัยในความผิดพลาดของกันและกันแสดงถึงความเป็นผู้มีจิตใจสูง ประกอบด้วยเมตตา เป็นสุภาพชน
                นอกจากนี้ การให้อภัยนั้น ยังถือเป็นการให้ทานอย่างหนึ่ง เรียกว่า อภัยทาน พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญว่า เป็นทานอย่างสูง เพราะเป็นการให้ที่ชำระใจให้บริสุทธิ์ ปราศจากความพยาบาทจองเวร เป็นอโหสิกรรม คือไม่มีเวรภัยต่อกันและกัน ให้ยุติลงแค่นั้น ฉะนั้นการขออภัยและการให้อภัยนี้จึงเป็นคุณธรรมที่ควรปฏิบัติสำหรับทุกๆ คน

........................................

สมานรัก


                กล่าวกันว่า พึ่งเห็นพึ่งรัก น้ำต้มผักยังว่าหวาน ครั้นนานนานน้ำอ้อยก็ค่อยขม คิดว่าเรื่องทำนองนี้ ท่านคงเคยประสบมาด้วยตัวเองบ้างแล้ว เรื่องของความรักความใคร่นั้น เป็นไปได้ทั้งในทางบวกและทางลบ โดยเฉพาะรักต่างเพศหรือเพศเดียวกัน ส่วนมากจะเริ่มต้นด้วยความหวานชื่น แต่พอครั้นนานเข้าก็จืดชืด และเปลี่ยนเป็นขม สุดท้ายลงเอยด้วยทุกข์และน้ำตา ความรักของคนทั่วไปก็มักเป็นเช่นนี้ ด้วยเพราะรักนั้นไม่บริสุทธิ์ มีความชัง ความริษยา อาฆาต ปะปนมาด้วย เหมือนน้ำผึ้งเจือยาพิษ เริ่มต้นด้วยรสหวานแล้วก็จบลงด้วยความตาย
                ในทางพระพุทธศาสนากล่าวถึงความรักไว้ ๒ ประเภท คือ
                ๑. รักแท้ ได้แก่ ความรักบริสุทธิ์ใจ รักที่มีแต่ให้ เสียสละ ไม่หวังผลตอบแทน ยอมทุกข์แทนคนรักได้ เช่น ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก รักนี้คือ เมตตาและกรุณา อยากให้เป็นสุขและคิดช่วยให้พ้นทุกข์
                ๒. รักไม่แท้ ได้แก่ ความรักไม่บริสุทธิ์ใจ รักประเภทนี้เจือปนด้วยกิเลส ตัณหา มีกามคุณห้า คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส เป็นที่เกิด มีเสน่หาเป็นเยื่อใย ครั้นสิ่งที่น่ารักเปลี่ยนแปลงกลับกลายเป็นน่าชังไป เสน่ห์ก็หมดความรักก็จืดจาง สิ่งร้ายๆ ที่ปะปนแฝงอยู่ก็แสดงออก จากรักจึงกลับมาร้าย สุดท้ายก็ต้องเลิกร้างหมางเมินกันไปเหลือไว้แต่ความทุกข์โศกเสียใจ
                รักไม่แท้ คือต้นตอแห่งปัญหาครอบครัว ถึงขั้นบ้านแตก ครั้นจะหารักแท้ในทางโลกีย์ก็ยากนักมีทางเดียวที่จะประคับประคองชีวิตคู่ให้คงเส้น คงวาไปได้ตลอดรอดฝั่ง คือต้องผสมผสานรักแท้เข้าไว้ด้วย อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของรักไม่แท้ที่เป็นอยู่ ก็พอจะทุกข์ๆ สุขๆ อยู่ต่อไปได้
                เมตตาและกรุณา เป็นตัวประสานหรือสมานรักไว้ เหมือนกอบัวในสระน้ำ ลำพังโคลนตมเพียงอย่างเดียวยังไม่พอต้องอาศัยน้ำด้วย บัวจึงจะงอกงามออกดอกอยู่ได้ ฉันใด ความรักของมนุษย์ แม้จะเจือด้วยทุกข์ แต่ถ้ามีรักแท้ คือเมตตาและกรุณา ผสมผสานอยู่ด้วยแล้ว ก็จะงอกงามอยู่ได้ ฉันนั้น

........................................

คนงาม


                งาม หมายถึง ลักษณะที่เห็นแล้วชวนยินดี ชวนพึงใจ มองตามลักษณะแล้วสามารถมองได้ ๔ ลักษณะดังนี้
                ๑. งามอาภรณ์ คือมีเครื่องประดับตกแต่งกายที่สวยงาม สะอาดเรียบร้อย เหมาะสมกับฐานะ แต่งแล้วดูงาม ทำให้ผู้พบเห็นเกิดความนิยมชมชอบ
                ๒. งามเรือนร่าง ได้แก่ การมีร่างกายสมส่วน แข็งแรงเหมาะสมกับวัย ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ไม่อ้วนหรือผอมจนเกินไป ตลอดจนรักษาความสะอาดของร่างกายได้เป็นอย่างดี
                ๓. งามมารยาท คือ มีกิริยาวาจาที่เรียบร้อย มีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโสกว่าตน เป็นคนอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ มารยาทที่งามเช่นนี้เกิดขึ้นได้จากการฝึกหัดตามระเบียบวินัยและศีลธรรม
                ๔. งามจิตใจ ได้แก่ การมีจิตใจเยือกเย็น ไม่อิจฉาริษยาผู้อื่น มีความรักต่อผู้อื่นอย่างบริสุทธิ์ใจ ทั้งมีจิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหวต่อเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้น
                ความงาม ๒ อย่างแรก คือ งามอาภรณ์และงามเรือนร่าง เป็นความงามภายนอก ระดับเปลือกและกระพี้ของความงามเท่านั้น ส่วนความงาม ๒ อย่างหลังคือ งามมารยาทและงามจิตใจ เป็นความงามภายใน ระดับเนื้อและแก่นของความงามทีเดียว
                เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยจะช่วยให้คนเป็นคนงามแล้ว ความงามภายนอกต้องตกแต่งด้วยเครื่องเสริมความงาม ต้องอาศัยวัตถุอุปกรณ์ต่างๆ ความงามประเภทนี้จึงไม่เป็นอิสระและเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัยตามวัยของคน ส่วนความงามภายใน เป็นความงามที่เกิดขึ้นจากระเบียบวินัยและศีลธรรม จึงเป็นความงามอิสระ เพราะใครๆ ก็สามารถเป็นเจ้าของได้
                ฉะนั้น เรามาเสริมสวยมารยาทและจิตใจของเราให้สวยงาม ควบคู่กับอาภรณ์และเรือนร่างกันดีกว่า เพื่อจะได้เป็นคนงามที่สมบูรณ์แบบ

........................................

ทุนชีวิต


                การที่คนเราจะมีชีวิตดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ไม่ติดขัด จะต้องมีทุนเป็นปัจจัยเกื้อหนุนพอสมควร ทั้งทุนภายในและทุนภายนอก หากไม่มีทุนอะไรเลย ชีวิตคงดำเนินไปได้ยาก และคนที่เกี่ยวข้องก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย ด้วยเหตุนี้ ทุนจึงนับว่ามีความสำคัญต่อชีวิตอย่างยิ่ง
                ทุนนั้น ได้แก่สิ่งที่นำมาเป็นเครื่องใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต เพื่อให้เกิดประโยชน์ตามที่ประสงค์ เพื่ออธิบายให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นขอแบ่งทุนออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้
                ๑. ทุนภายใน หมายถึง บุญกุศล ที่บุคคลกระทำไว้ซึ่งแบ่งเป็นทุนเดิม คือบุญกุศลในอดีต และทุนใหม่ คือบุญกุศลปัจจุบัน
                ๒. ทุนภายนอก คือ ข้าวของเงินทอง หรือปัจจัยเกื้อหนุนในการเลี้ยงชีพ ซึ่งอาจแบ่งเป็นทุนที่ใช้เฉพาะหน้าในแต่ละวัน และทุนสำรอง ซึ่งอาจเป็นทุนประเภทฌาปนกิจสงเคราะห์ หรือทุนประกันชีวิต
                เมื่อบุคคลใช้ทุนไปเรื่อยๆ หากประมาทมัวเมา ไม่พยายามเพิ่มทุนขึ้นเลย ทั้งทุนภายในและภายนอก ก็จะหมดไปในที่สุด มีคำกล่าวว่า “ถ้าหมดทุนภายใน ชีวิตก็ดับสิ้น แต่ถ้าหมดทรัพย์สินอันเป็นทุนภายนอก ชีวิตก็ฝืดเคือง” ด้วยเหตุนี้ ผู้ฉลาดจึงรีบขวนขวายเพิ่มทุนภายใน ด้วยการทำบุญคือสร้างความดีไว้เสมอ ในขณะเดียวกันก็แสวงหาทุนภายนอก คือ ทรัพย์สินเงินทอง ของจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของตนเองและครอบครัว ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง เมื่อหาทรัพย์สินได้มาก็รู้จักใช้จ่าย อีกทั้งแบ่งเก็บไว้เมื่อคราวจำเป็น หลีกเว้นอบายมุขทุกชนิด คบหากับบัณฑิตเป็นประจำ ย่อมนำพาชีวิตไปสู่ความก้าวหน้า แต่ทว่าบางคนกลับเกียจคร้านไม่แสวงหาทรัพย์สิน หรือพอมีทรัพย์สินศฤงคาร ก็เผาผลาญจนหมดสิ้นกับสิ่งเหลวไหล กลายเป็นคนล้มละลาย เมื่อเสียชีวิตลงส่งผลให้ครอบครัวเดือดร้อนเกิดความทุกข์ เพราะหนี้สินของผู้ตายที่สร้างไว้
                บัณฑิต ผู้มองการไกลจะไม่ประมาท พยายามตั้งทุนให้กับชีวิตตนเอง ทั้งทุนภายในและทุนภายนอก ทุนภายในจะส่งผลดีแก่ตนและสังคม ส่วนทุนภายนอกจะอำนวยประโยชน์แก่ตนและครอบครัวทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผู้ที่พยายามทำชีวิตให้มีคุณค่า นับว่าเป็นผู้มีปัญญา น่าสรรเสริญ สมดังคติพจน์
                                เกิดเป็นคน            อย่าให้จนความดี
                                เกิดมาทั้งที            ต้องทำดีให้ได้
                                จะตายทั้งที            ต้องฝากดีเอาไว้

........................................

สำคัญเหมือนกัน


                เมื่อเรากางนิ้วมือออกดู จะพบว่านิ้วทั้งห้าไม่เท่ากัน โดยนิ้วที่ยาวที่สุดคือนิ้วกลาง ถัดไปก็นิ้วนาง นิ้วชี้ นิ้วก้อย และนิ้วหัวแม่มือตามลำดับ อวัยวะที่ต่างกันอย่างนิ้วมือไม่น่าจะทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่นิ้วมือกลับเป็นอวัยวะที่ทำงานร่วมกันได้อย่างน่าอัศจรรย์
                มองในแง่อุทาหรณ์สอนใจ นิ้วมือก็เป็นอุปกรณ์การเตือนสติตัวเจ้าของอย่างน้อย ๓ ประการ คือ
                ๑. สามัคคี ธรรมชาติของนิ้วมือ จะทำงานประสานกันโดยอัตโนมัติ เวลาที่แขนมีงานต้องทำ จะพบว่าไม่มีนิ้วใดอยู่เฉยๆ เลย นิ้วแต่ละนิ้วต่างมีหน้าที่รับผิดชอบอย่างเหมาะสม ทำให้งานหนักกลายเป็นงานเบา งานช้ากลายเป็นงานเร็ว และงานยากกลายเป็นงานง่าย
                ๒. ความรับผิดชอบ การดำเนินชีวิตของคนเรา บางครั้งก็นิยมใช้นิ้วมือเป็นอวัยวะทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น นิ้วหัวแม่มือเป็นอวัยวะในการพิมพ์ลายนิ้วมือ นิ้วชี้เป็นอวัยวะสำหรับสั่งงาน ส่วนนิ้วนางเป็นอวัยวะสำหรับสวมแหว ทำหน้าที่รับรองความผูกพันของคู่บ่าวสาว
                ๓. ความอ่อนน้อมถ่อมตน ในการแสดงความเคารพนับถือกัน นิ้วมือก็เป็นอวัยวะที่ถูกนำมาใช้มากกว่า อวัยวะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการประนมมือ การไหว้ การกราบ  รวมถึงการโบกมืออำลากัน จึงกล่าวได้ว่านิ้วมือเป็นอุปกรณ์สำหรับแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน
                หากเราพิจารณาดูการทำหน้าที่ของนิ้วมือทั้งห้าอยู่บ่อยๆ ย่อมจะมองเห็นคุณค่าทางคุณธรรมที่แฝงอยู่ในนิ้วทั้งห้า ดังกล่าว ข้อสำคัญคือ ไม่ควรคิดว่านิ้วไหนสำคัญกว่า หรือสำคัญที่สุดแต่เพียงนิ้วเดียว เพราะทุกนิ้วสำคัญเหมือนกัน เช่นเดียวกับคนที่ทำหน้าที่ต่างๆ กันอยู่ในสังคม ถ้าเรารู้จักพิจารณาให้ถูกวิธี เราจะมองกันและกันได้ด้วยความสบายใจ ไม่มีการดูถูกคนอื่นหรือดูถูกตัวเองวาต่ำต้อย หรือทะนงตัวว่าตัวสำคัญกว่าคนอื่น เพราะแม้แต่ละคนจะมีความสำคัญไม่เท่ากัน แต่ทุกคนก็สำคัญเหมือนกันหมด

........................................

ผู้นำ


                ผู้นำในทุกระดับ มักจะมีคนอยู่เบื้องหลัง หรือคนใกล้ชิดในตำแหน่งเลขานุการ หรือที่ปรึกษา งานของผู้นำโดยส่วนใหญ่จะเจริญก้าวหน้าหรือถอยหลัง บางครั้งขึ้นอยู่กับบุคคลใกล้ชิดเหล่านี้ เรื่องบางเรื่องที่ผู้นำไม่สามารถแก้ไขหรือตัดสินใจได้ บ่อยครั้งที่การแก้ไขหรือการตัดสินใจเกิดจากคำแนะนำและการตัดสินใจของบุคคลใกล้ชิดเหล่านี้ หากผู้นำมีคนใกล้ชิดที่มีความรู้ดี ความสามารถดี และมีคุณธรรม ก็ถือว่าโชคดี ถ้าได้คนใกล้ชิดที่มีลักษณะในทางตรงกันข้าม ผลงานก็ออกมาในทางไม่ดีและไม่สามารถไปตลอดรอดฝั่งได้ ดังนั้นผู้นำจึงควรมีกุศโลบายหรือหลักในการดำรงตน โดยขอแนะนำไว้ ๔ วิธี คือ
                ๑.ปากจู๋ คือพูดน้อย
                ๒.หูกว้าง คือฟังมาก
                ๓.ตาโต คือดูให้ถ้วนถี่
                ๔.โง่เป็น คือ รู้แต่เป็นทำไม่รู้เสียบ้าง
                นี่เป็นกุศโลบายที่สามารถทำให้ผู้นำมีความรู้ มีสติ มีปัญญา มีหูตากว้างไกล และสามารถแสวงหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมไว้เป็นคนใกล้ชิดได้ในระดับที่ต้องการได้ ดังนั้นความสามารถของผู้นำประการแรกสุดและสำคัญสุด จึงอยู่ที่การรู้จักเลือกคนและใช้คนให้เหมาะสมนั่นเอง โดยมีหลักพอแนะนำในการเลือกได้ดังนี้
                                คนดี คือคนที่ไม่นำไปสู่ส่วนเกิน
                                คนเก่ง คือคนที่ไม่เพลิดเพลินกับความเก่งของตนเอง และอบายมุข
                                คนกล้า คือคนที่ไม่ซุกตัวอยู่กับการกระทำที่ชั่วร้าย
                                คนมีค่ามีประโยชน์ คือคนที่รักและพร้อมให้อภัยแก่ทุกคน
..................................