วันอังคารที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ปีใหม่


                วันที่ ๑ มกราคม ของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวโลกที่ถือเป็นโอกาสเฉลิมฉลองด้วยการจัดกิจกรรมรื่นเริงต่างๆ หรือไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำบุญสุนทาน ด้วยหวังให้ได้พบความสุข ความสวัสดีในชีวิตในปีใหม่ ในทางพุทธศาสนาถือว่าเรื่องของเทศกาลนั้นเป็นเรื่องที่สมมติกันขึ้นมา สาระที่แท้จริงอยู่ที่ว่าเมื่อเวลาผ่านไป ชีวิตควรจะดำเนินไปอย่างไรจึงจะประสบกับความสุขสวัสดี ได้จริง ในกรณีนี้ พุทธศาสนาได้แสดงทางสู่ความสวัสดีไว้สี่ประการ
                ๑.โพชฌังคะ คือดำเนินชีวิตด้วยปัญญา จะทำการสิ่งใดก็พิจารณาให้รอบคอบถี่ถ้วน ฝึกฝนความคิดให้รู้แจ้งด้วยใจว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดควรเว้น ทำให้ชีวิตดำเนินไปตามครรลองความถูกต้อง มีสวัสดิภาพและความปลอดภัย
                ๒.ตบะ คือมีความเพียรกล้าแข็ง สามารถแผดเผาความชั่วร้ายที่มีอยู่ภายในตน ไม่ว่าจะเป็นอบายมุข สิ่งเสพติด แม้ความคิดฝ่ายชั่วที่เกิดขึ้นก็กำราบหักห้ามเสียได้ด้วยกำลังใจอันเด็ดเดี่ยว
                ๓.อินทรีย์สังวร คือสำรวมอินทรีย์ คอยระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เอาไว้ เพราะเป็นช่องทางเข้ามาของเรื่องราวต่างๆ ทั้ง ดี ชั่ว ชอบ ชัง จึงต้องคอยระวังและรู้ทันไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเรื่องราวเหล่านี้ จะดูอะไรหรือฟังอะไรก็ต้องมีสติและใช้เหตุผลประกอบเสมอ
                ๔.สัพพะนิสสัคคะ คือสละหรือปล่อยวางสิ่งที่บีบคั้นให้เกิดความทุกข์ ไม่ใช่ปล่อยวางหน้าที่หรือหลีกหนีปัญหา แต่เป็นการแยกความทุกข์ใจซึ่งเป็นเพียงอารมณ์อย่างหนึ่งออกมา แล้วบริหารจัดการกับปัญหาตามที่ควรจะทำ
                การจะส่งท้ายปีเก่าหรือต้อนรับปีใหม่อย่างมีสาระและเกิดคุณค่าได้จริง ต้องเริ่มจากการปฏิบัติที่ตัวเองนี่แหละ เพราะเรื่องจริงอยู่ที่นี่ ถ้าเรื่องจริงดี เรื่องสมมติที่เป็นส่วนประกอบก็ดีไปด้วย ถ้าเรื่องจริงไม่ดี จะสมมติหรือยึดถือกันว่าดีแค่ไหน ก็ดีไปตลอดไม่ได้ นี่คือข้อคิดที่ควรพิจารณาเมื่อปีใหม่มาถึงอีกครั้งหนึ่ง

....................................

วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ความเกรงใจ


                การที่เราไม่กล้าปลุกคนที่กำลังนอนหลับอยู่ก็ดี ไม่อยากรบกวนขณะที่เขากำลังมีภารกิจยุ่งอยู่ก็ดี หรือไม่กล้าเอ่ยปากขอร้องเขาเพื่อขอความช่วยเหลือก็ดี ลักษณะเช่นนี้เป็นมารยาทที่ดีอย่างหนึ่ง เรียกว่า ความเกรงใจ คือ ความคิดที่ไม่ต้องการให้ผู้อื่นต้องลำบากเดือดร้อน หรือรำคาญใจเพราะตน
                ธรรมดาของคนที่อยู่ร่วมกันตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ย่อมจะมีใครบางคนที่ชอบพูดหรือทำอะไรแบบไม่เกรงใจกัน ไม่คำนึงว่าผู้อื่นจะรู้สึกอย่างไร ขอให้ได้พูดหรือทำตามอารมณ์ของตนก็พอ เช่นนี้ไม่ดีแน่ มีแต่จะสร้างปัญหา หรือความเกลียดชังให้เกิดแก่ตนเปล่าๆ สิ่งที่จะช่วยประสานให้การอยู่ร่วมกันอย่างสันติอย่างหนึ่งคือ ความเกรงใจต่อกัน หรือให้เกียรติกัน หากไม่เหลือบ่ากว่าแรง พออดทนไหวก็อดทนอดกลั้นไว้บ้าง
                การกระทำก็ต้องระมัดระวังเช่นเดียวกัน เช่น ไม่ก่อความรำคาญแก่คนอื่นที่อยู่ร่วมกันหลายคน จะเอาสะดวกสบายเหมือนอยู่คนเดียวไม่ได้ การอยู่คนเดียวอาจจะทำอะไรได้ตามใจชอบ แต่ถ้าอยู่หลายคนจะทำอย่างนั้นไม่ได้ ต้องรู้จักเกรงใจคนอื่น มิเช่นนั้นจะเกิดการขัดใจกัน เช่น คนหนึ่งจะนอนอีกคนหนึ่งจะร้องเพลง คนหนึ่งต้องการความสงบ ต้องการอ่านหนังสือ อีกคนต้องการเปิดวิทยุเสียงดัง เมื่อความต้องการเกิดขัดกันเช่นนี้ ความขัดแย้งความนึกรังเกียจชินชังย่อมบังเกิดขึ้น อันเป็นเหตุนำมาซึ่งการขาดความปรองดองสามัคคีกันในที่สุด
                ความเกรงใจมีจุดที่น่าสนใจ ตรงที่เห็นความสำคัญในความรู้สึกของผู้อื่นเป็นใหญ่กว่า ความรู้สึกของตน รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เข้าถึงความจริงของธรรมชาติว่าเรารู้สึกเช่นไร ผู้อื่นก็เป็นเช่นนั้น ทั้งๆ ที่บางขณะอยากทำอยากพูดอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ข่มระงับความต้องการนั้นไว้ เพราะเกรงจะไปกระทบความรู้สึกของคนอื่น กลัวว่าเขาจะไม่สบายใจและเกิดความรังเกียจตน คนที่มีความเกรงใจผู้อื่นเช่นนี้ จะเป็นคนมีเสน่ห์ น่ารัก เป็นที่เมตตาของคนทั่วไป ต่างจากคนที่ขาดความเกรงใจคนอื่นไม่คำนึงว่าใครเขาจะคิดอย่างไร จะเป็นที่เกลียดชังของคนทั้งหลายไม่มีใครอยากคบด้วย เพราะฉะนั้นจึงควรพิจารณาดูตัวเองอยู่เนืองๆ ว่าเราเป็นคนประเภทไหน วันนี้เกรงใจใครบ้างหรือยัง

.........................................

ชีวิตใหม่


                ในทางพุทธศาสนาถือว่า การได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง และเมื่อได้ชีวิตมาแล้ว การดำเนินชีวิตให้เจริญรุ่งเรืองจนประสบผลสำเร็จก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก ในเทศกาลปีใหม่ หลายๆ คน ก็เตรียมตัวเตรียมใจที่จะฉลองกันอย่างเต็มที่ และมีอีกจำนวนไม่น้อย ถือเอาโอกาสกันเป็นมงคลสมัยนี้ว่าเป็นการเริ่มชีวิตใหม่ แต่ในทางพระพุทธศาสนาได้ให้คำสอนไว้ว่า จุดเริ่มต้นของชีวิตคือ ปฏิสนธิวิญญาณ หมายความว่า ชีวิตใหม่เริ่มเมื่อมีปฏิสนธิวิญญาณกำเนิดในครรภ์ของมารดา แล้วเจริญโดยลำดับ ดังนี้คือ ๑.เป็นโลหิตใส (กะละลัง) ๒.เป็นโลหิตข้น(อัพพุททัง) ๓.เป็นชิ้นเนื้อ (เปสิ) ๔.เป็นก้อนเนื้อ (ฆะโน) ๕.แยกออกเป็นปัญจะสาขา (ปะสาขา) คือ ศีรษะ ๑ แขน ๒ และ ขา ๒
                เมื่อได้ชีวิตมาและดำเนินไปครบรอบปี ท่านสอนให้ทบทวนความหลัง ระวังความผิด เตือนจิตของตน เพื่อปรับปรุงแก้ไขชีวิตในปีใหม่ให้สมบูรณ์ เช่น การดำเนินชีวิตในปีที่ผ่านมาเสมอตัว คือไม่มีอะไรดีขึ้นหรือเลวลง ก็ปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือการดำเนินชีวิตในปีที่ผ่านมาขาดทุน คือตกต่ำ พบแต่ความผิดหวัง ปรารถนาอะไรแล้วไม่ได้ตามปรารถนา ก็ต้องหันมาทบทวนความหลังว่า ผิดพลาดเพราะเหตุอะไร แล้วระมัดระวังเพิ่มขึ้น จะได้ไม่ทำผิดซ้ำซากและเตือนจิตของตนอยู่ตลอดเวลา
                ผู้หวังความเจริญและความสุข จึงควรละทิ้งการดำเนินชีวิตแบบเก่าที่ขาดทุนหรือไม่มีกำไรแล้วมาสร้างชีวิตใหม่ ดังนี้
                ขยันหมั่นเพียรอยู่เสมอ มีสติไม่พลั้งเผลอทุกขณะจิต ทำมาหาเลี้ยงชีวิตโดยถูกถ้วน ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ สำรวมอารมณ์ให้มีเหตุผล ดำรงตนอยู่ในทางถูก ปลูกความไม่ประมาทในทุกสถาน
                เมื่อดำเนินตามหลักพุทธพจน์นี้ ชีวิตใหม่ในรอบปีใหม่ ย่อมเป็นชีวิตใหม่ที่ไม่ขาดทุนและสมบูรณ์อย่างแน่นอน

.............................................

ทำดียังไม่สาย


                คนโบราณมักสอนลูกหลานว่า อยู่ที่ไหนก็ให้ทำดี คนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ คนจะเจริญก้าวหน้าจะต้องมีความดีประจำตัว ความดีช่วยให้มีเสน่ห์ คนรูปร่างหน้าตาสวยย่อมมีเสน่ห์ ทำให้คนอยากมอง แต่ความสวยไม่จิรังเท่ากับความดี ดังคำกล่าวที่ว่า “ความสวยไม่คงที่ ความดีสิคงทน”
                หากาจะถามว่า ความดีคืออะไร คำตอบอาจจะแตกต่างกันไป แต่เมื่อกล่าวโดยสรุป สิ่งที่เป็นความดีนั้นจะมีลักษณะ คือ ๑.ถูกต้องดีงาม ๒.ไม่ทำให้ตนและคนอื่นเดือดร้อน และ ๓.มีผลเป็นความสงบสุข เครื่องตัดสินว่าสิ่งนั้นดีหรือไม่ มี ๒ แนวทางคือ
                ๑.ทางโลก ใช้กฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคม
                ๒.ทางธรรม ใช้หลักศาสนา กล่าวคือ การกระทำที่เป็นไปโดยชอบ ถูกต้องตามหลักทั้งทางโลกและทางธรรม
                ถือได้ว่าเป็นความดี ซึ่งจะส่งผลให้ตนและผู้อื่นไม่เดือดร้อน แต่ถ้าเป็นไปในทางตรงกันข้ามก็เป็นความไม่ดี มีผลเป็นทุกข์แก่ตนและผู้อื่น ด้วยเหตุนี้เมื่อจะทำสิ่งไร เพื่อป้องกันความผิดพลาด ควรใช้หลักการทั้ง ๓ อย่าง นั้นมาวินิจฉัยก่อน ถ้าเห็นว่าถูกต้องดีงาม ไม่ก่อความเดือดร้อน ผลสะท้อนเป็นความสงบสุขก็ควรทำ แต่ถ้าตรงกันข้ามก็ไม่ควรทำ ไม่มีคำว่าสายสำหรับการทำความดีเลย ทำดีเมื่อไรก็ดีเมื่อนั้น ทำดีแต่ละครั้ง ก็ได้ชื่อว่าได้สร้างความรุ่งเรืองให้แก่ชีวิตเพิ่มขึ้น คนส่วนมากอยากได้รับผลดีแต่ไม่ยอมลงทุนสร้างเหตุแห่งดี จึงไม่ได้ดีตามที่มุ่งหวัง ดังคำกลอนที่ว่า
                                อยากได้ดีไม่ทำดีนั้นมีมาก                ดีแต่อยากหากไม่ทำน่าขำหนอ
                                อยากได้ดีต้องทำดีอย่ารีรอ ดีแต่ขอรอแต่ดีไม่ดีเอย
                สำรวจตัวท่านดูว่า สายไปหรือยังสำหรับการทำดีในวันนี้

..................................

หิน


                 หิน คือของแข็งที่ประกอบด้วยแร่ชนิดเดียวหรือหลายชนิดรวมตัวกันอยู่ตามธรรมชาติ สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป นักวิทยาศาสตร์ได้จัดประเภทของหินไว้หลายชนิด มนุษย์รู้จักนำเอาหินมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันตั้งแต่บรรพกาลแล้ว เช่น ใช้เป็นอาวุธและเครื่องไม้เครื่องมือชนิดต่างๆ  นอกจากนั้นก็ยังนำมาสร้างบ้านเรือ ที่อยู่อาศัยอีกด้วย เหตุผลประการหนึ่งที่ใช้หินก็คือ มองเห็นคุณลักษณะที่สำคัญ ๔ ประการ ได้แก่ ๑.แข็ง ทำลายได้ยาก ไม่แตกสลายง่ายๆ  ๒.หนัก คือมีน้ำหนักในตัวมันเอง  ๓.ทน คือทนแดดทนฝน ทนต่อทุกสภาพธรรมชาติ และ ๔.เย็น ปกติหินจะมีความเย็น ในตัวมันเองสูง เมื่อได้รับความร้อนก็สามารถคลายความร้อนได้เร็ว
                ในชีวิตของคนเรานั้น ต้องประสบกับปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งที่เกิดจากคนและจากธรรมชาติ จึงต้องคอยแก้ปัญหาอยู่ตลอด แก้ได้ก็รอดตัวไป แก้ไม่ได้ก็เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน ถึงกระนั้น ก็อย่าเพิ่งหมดกำลังใจหรือท้อแท้ไม่กล้าที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา คำกล่าวที่ว่า ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไขนั้น ยังเป็นความจริง เมื่อต้องประสบกับปัญหาใดๆ ในขั้นต้นขอให้นำเอาคุณลักษณะของหินทั้ง ๔ ประการดังกล่าวนั้นมานึก คิด และพิจารณาเปรียบเทียบกับตัวเรา แล้วลองตั้งคำถามตัวเองว่า บัดนี้ เรามีคุณสมบัติเหมือนกับหินบ้างหรือไม่ กล่าวคือ
                แข็ง        เข้มแข็งทั้งกายและใจ ไม่ย่อท้ออะไรง่ายๆ
                หนัก       หนักแน่น มั่นคง ไม่หวั่นไหวต่อปัญหาทั้งปวง
                ทน          อดทน ทนทาน หนักเอาเบาสู้
                เย็น         กายเย็น วาจาเย็น ใจเย็น สงบเยือกเย็น
                เราพร้อมแล้วที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาทั้งปวงอย่างไม่สะทกสะท้านอย่าง หิน หรือยัง

..................................

ตาย


                ท่านที่ไปร่วมฟังสวดพระอภิธรรม คงเคยเห็นตาลปัตร ๔ ด้าม ที่พระสงฆ์ใช้ขณะสวด ปักเป็นข้อความด้ามละวรรคเรียงกันไปว่า “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” ทั้งหมดจะเกี่ยวกับความตายทั้งนั้น ความตายเป็นสิ่งที่ทุกชีวิตต้องประสบ หลบไม่ได้ เลี่ยงไม่พ้น แม้ว่าจะไม่มีใครปรารถนาแต่ก็ต้องพบ
                เมื่อเรารู้ว่าถึงอย่างไรก็ต้องตาย แล้วจะทำอย่างไร ท่านพุทธทาสภิกขุ เคยกล่าวสอนไว้ว่าการตาย เป็นหน้าที่ของสังขารอย่างไม่มีทางเปลี่ยนแปลง แก้ไข นอกจากต้อนรับให้ถูกวิธี มีคติอุทาหรณ์ที่ดีและการมีชีวิตอยู่อย่างมีประโยชน์แก่ทุกฝ่าย เป็นหน้าที่ของผู้ที่ยังไม่ตายและรู้หน้าที่ของตน...
                การคิดถึงความตายหรือการไปร่วมงานศพ อาจจะทำให้จิตใจเศร้าสลดหดหู่ แต่หากมองในแง่ของธรรมะ ก็มีสาระให้ความคำนึงได้ ดังนี้
                ๑.ได้เห็นความดี เห็นคุณค่าแห่งชีวิตปรากฏชัดขึ้น อันก่อให้เกิดความอาลัยรัก เสียดายเมื่อตายจาก
                ๒ได้ความสามัคคีปรองดอง เกิดความเห็นใจ เข้าใจ ไม่ทอดทิ้งหรือนิ่งดูดาย
                ๓.มองเห็นสัจธรรม ว่าทุกอย่างต่างมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และช่วยให้มีสติ ได้ความสำนึกที่ดี
                ๔.รีบทำที่พึ่งแก่ตน โดยยึดเอาคนตายเป็นเครื่องเตือนตนให้เร่งละชั่ว ทำดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ ไม่ประมาทเมามัว คิดว่าตัวยังไม่ตาย ตรงตามพุทธภาษิตว่า “เพียรทำความดีเสียตั้งแต่วันนี้ เพราะไม่มีใครรู้ได้ว่าพรุ่งนี้จะตายหรือยังอยู่” คิดในแง่นี้ ความตายก็มีประโยชน์ คือเป็นตัวเร่งให้เราขยันทำความดี ทำหน้าที่ให้หมดจดเรียบร้อย  ดังนั้น เราท่านทั้งหลายจงรีบขวนขวายหาที่พึ่ง และเตือนตนไว้เสมอว่า
เกิดมาจงสร้าง แต่ความดี

..................................