วันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2557

บทเรียนชีวิต


                ในโลกนี้มีหลายอย่างที่มนุษย์จะต้องเรียนรู้ เพื่อเป็นข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตว่าอะไรควรหลีกเว้น อะไรควรกระทำ ตลอดจนจะใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างไรจึงจะได้ผลที่พึงประสงค์ เพราะผู้ที่เรียนรู้มากทั้งด้านวิชาการและมีประสบการณ์ จัดว่าเป็นพหูสูต คือผู้คงแก่เรียน ย่อมมีความฉลาดที่จะดำรงตนอยู่ในโลกนี้อย่างมีคุณค่าและสร้างสรรค์
                สิ่งที่คนเราเรียนรู้แต่ละอย่าง เช่น กฎกติกาที่ตั้งใจ ค่านิยมของสังคม พฤติกรรมของคน ตลอดทั้งผลงานของคนที่ล้มเหลว หรือประสบผลสำเร็จ รวมทั้งการกระทำและประสบการณ์ของตนเองที่ผ่านมา ล้วนแต่เป็นบทเรียนของชีวิตได้ทั้งนั้น คนที่รู้หลักการว่าสิ่งที่จะทำนั้นถูกต้องหรือไม่ ย่อมมีความมั่นใจมากกว่าคนที่ไม่รู้เลย ด้วยเหตุนี้ในทางพระพุทธศาสนาจึงสอนให้ใคร่ครวญโดยรอบคอบก่อน แล้วจึงลงมือทำ ซึ่งหมายถึง ให้การศึกษาเรียนรู้ก่อนว่า เมื่อทำ พูด คิดสิ่งนั้นแล้ว จะมีผลดีหรือเสียอย่างไร มิใช่ทำลงไปแล้วจึงมาคิดภายหลัง เพราะอาจจะเกิดความเสียหายขึ้นได้ หากบุคคลสามารถปฏิบัติได้เช่นนี้ ผลงานที่ปรากฏออกมาย่อมเป็นไปในทางที่ดี สร้างความชื่นใจแก่ผู้ทำและนำความสงบสุขสู่สังคม
                แต่บางครั้ง คนเราทั้งที่รู้ว่าสิ่งนั้นไม่ดี ก็ยังฝืนทำ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกำลังใจยังไม่เข้มแข็งพอ อีกทั้งสติยังไม่มั่นคง จึงจำเป็นต้องฝึกสติให้มั่นคงและรู้เท่าทัน เพื่อจะได้ควบคุมจิตใจไว้ในแนวทางที่ถูกต้อง สามารถเอาชนะแรงดึงดูดจากสิ่งยั่วยวนต่างๆ ได้ เพราะมนุษย์ที่ฝึกฝนตนดีแล้วเท่านั้นเป็นผู้ประเสริฐ มนุษย์ที่ไม่ฝึกตนให้ดี ไม่ประเสริฐเลย
                ดังนั้น การดำรงชีวิตอยู่ในสังคมจึงต้องเรียนรู้หลายๆ ด้าน เพื่อจะได้นำมาเป็นข้อมูลประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตของตนให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์ เพราะความรู้ที่ถูกต้องและชัดเจนย่อมส่งผลให้เกิดความมั่นใจในการดำเนินชีวิตนั่นเอง

.............................................

ทาสอารมณ์


                คำว่า “ทาส” หมายถึง ผู้ที่ยอมตนให้อยู่ในอำนาจของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คำว่า อารมณ์ หมายถึง ความคิดหรือ เครื่องยึดเหนี่ยว เมื่อเอา ๒ คำมารวมกันเป็น ทาสอารมณ์ จึงหมายถึง ผู้รับใช้ความคิดที่ไร้สาระก็จะเกิดโทษ มีเรื่องเล่าว่า
                สามเณรรูปหนึ่ง บวชเรียนอยู่ในสำนักของหลวงลุง ได้ผ้ามา ๒ ผืน มีความประสงค์จะเอาไว้ใช้ผืนหนึ่ง ส่วนอีกผืนจะถวายหลวงลุง วันหนึ่ง ขณะยืนพัดปรนนิบัติหลวงลุง จึงเรียนความประสงค์ให้ท่านทราบ หลวงลุงไม่ต้องการจะรับผ้านั้น จึงปฏิเสธ สามเณรเกิดความน้อยใจ คิดเตลิดไปไกลว่า ต่อแต่นี้ไป หลวงลุงไม่ใยดีเรา แล้วเราจะบวชอยู่ต่อไปทำไม สึกแล้วขายผ้า ๒ ผืนนี้ ได้เงินมานำไปซื้อแม่แพะมาเลี้ยง พอมันตกลูกมาได้หลายตัว เราก็จะขายลูกแพะรวบรวมเงินได้ก้อนหนึ่งเอามาแต่งภรรยา เมื่อมีบุตร เราจะพาบุตรและภรรยามาเยี่ยมหลวงลุง ขณะเดินทางเราเป็นขับเกวียน ภรรยาอุ้มบุตรโดยไม่ระวังให้ดี ทำบุตรพลัดตกจนถูกล้อเกวียนทับตาย เราก็จะใช้ด้ามปฏักตีภรรยาพอคิดมาถึงตรงนี้ สามเณรก็ใช้ด้ามพัดที่ตนกำลังพัดให้หลวงลุงอยู่นั่นเองตีศีรษะของหลวงลุง โดยสำคัญผิดคิดไปว่าตนกำลังตีภรรยาของตน
                จากเรื่องดังกล่าว มีคติสอนใจว่า คนเรามีความคิดได้ทั้งในทางที่ดีและไม่ดี คือเป็นทาสอารมณ์ด้วยกันทั้งนั้น สิ่งสำคัญอยู่ที่การรู้จักใช้สติเป็นเครื่องควบคุม ช่วยหยุดยั้งเมื่อเกิดความคิดที่ไม่ดี และช่วยประคับประครองความคิดที่ดีให้อยู่ในแนวทางที่เหมาะสม ทำได้ดังนี้ ชีวิตนี้ก็จะประสบกับความก้าวหน้า ดังพุทธศาสนสุภาษิตว่า สะติมะโต สะทา ภัททัง แปลว่า คนมีสติ มีความเจริญทุกเมื่อ

.............................................

อย่าทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก

อย่าทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก
                 มนุษย์มักสร้างค่านิยมขึ้นมาว่า “สิ่งใดก็ตามที่ยุ่งยากซับซ้อน สิ่งนั้นย่อมมีค่า เป็นของสูง เป็นของดี สิ่งที่ง่ายๆ เป็นเรื่องธรรมดา เป็นของที่ไม่มีค่า” เพราะมีค่านิยมอย่างนี้ เราจึงมักจะเห็นคนบางกลุ่มนิยมทำเรื่องง่ายๆ ให้เป็นเรื่องยาก ทำเรื่องธรรมดาสามัญ ให้เป็นเรื่องซับซ้อนผิดธรรมดา
                โดยเฉพาะ เรื่องหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาด้วยแล้ว มักเห็นเป็นเรื่องยาก เพราะไปติดอยู่กับศัพท์ภาษาลี บางทีก็คิดว่าเป็นเรื่องสูงเกินไป หรือเข้าใจผิดไปว่าเป็นเรื่องเหมาะสำหรับบางคน ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกคน ธรรมะเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้และปฏิบัติได้ เพราะหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ก็คือ วิธีการดับทุกข์ เพื่อให้ชีวิตเกิดความสุขนั่นเอง เช่น
                - ถ้าอยากมีความสุขแบบชาวโลก ก็สอนให้ขยันหา รักษาดี มีกัลยาณมิตร เลี้ยงชีวิตเหมาะสม
                - ถ้าอยากมีความสุขท่ามกลางญาติสนิทมิตรสหาย และผู้คนในสังคมก็ให้ ทำดี พูดดี คิดดี  หรือ โอบอ้อมอารี วจีไพเราะ สงเคราะห์ปวงชน วางตนเหมาะสม
                - ถ้าอยากมีความสุขสูงขึ้น ก็ให้งดเว้นจากการทำ พูด คิดในทางเสื่อมเสียอย่างสิ้นเชิง เพราะพฤติกรรมเหล่านั้นจะนำความหายนะมาสู่ตนและครอบครัว
                - ถ้าอยากมีความสงบสุขผ่องใสตลอดกาล ก็ให้เจริญวิปัสสนาภาวนา คือหมั่นพินิจพิจารณาจนเข้าใจอย่างถ่องแท้ในความจริงชีวิตและสิ่งทั้งปวง คือ อนิจจัง-ความไม่เที่ยง ทุกขัง-ความทนอยู่ อนัตตา-ความไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของตน เป็นไปตามธรรมชาติที่ดำเนินตามเหตุปัจจัยของมันเอง เป็นต้น
                ดังนั้น ถ้ารู้จักมองให้ถูกมุม ธรรมะก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย ที่ยากก็เพราะเราไปมองเรื่องง่ายให้กลายเป็นเรื่องยากไปเองโดยแท้

.............................................

มงคลคาถา


                ปัจจุบันคนไทยยังมีพื้นฐานความเชื่อเรื่องฤกษ์ยามอย่างเหนียวแน่น เช่น เวลาจะทำบุญขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน เปิดอาคารร้านค้า หรือแม้แต่จะบวชก็ต้องพึ่งพาฤกษ์ยามอยู่เสมอ เพราะมีความเชื่อว่า หากทำพิธีตรงกับฤกษ์หรือยามดี ก็จะเกิดมงคลแก่ชีวิตและกิจการนั้นๆ มีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จ การถือฤกษ์ยามน่าจะไม่มีปัญหาอะไร หากคิดว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีให้กับชีวิต แต่จะเป็นปัญหา ถ้าเอาความหวังไปฝากไว้กับฤกษ์ยามให้เป็นตัวกำหนดชีวิตแทนที่ตนเองจะเป็นผู้กำหนด
                พระพุทธศาสนาถือว่าชีวิตจะดีหรือไม่ดี จะเจริญขึ้นหรือเสื่อมลง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับฤกษ์ยามหรือดวงดาวหากแต่ขึ้นอยู่กับการกระทำของแต่ละบุคคล ใครทำดีทำถูกต้องเวลาใด ความเป็นมงคลก็เกิดขึ้นกับคนนั้นเวลานั้น ในเรื่องนี้พระรัตนปัญญาเถระ นักปราชญ์ชาวล้านนาในอดีตได้สรุปคาถาไว้ ๔ คำ ในหนังสือชื่อ            วชิรสารัตถสังคหะ สำหรับทำชีวิตให้เป็นมงคล เรียกว่า คาถากาสลัก คือ จะ ภะ กะ สะ มาจากคำเต็มว่า
                - จะชะ ทุชชะนะสังสัคคัง               แปลว่า หลีกเลี่ยงจากการคบทรชนคนพาล
                -ภะชะ สาธุสะมาคะมัง                     แปลว่า ให้สมาคมคบหาคนดีหรือสังสรรค์บัณฑิต
                - กะระ ปุญญะมะโหรัตตัง               แปลว่า จงทำความดีทุกวันทุกคืนหรือทำดีเป็นนิตย์
                - สะระ นิจจะมะนิจจะตัง                 แปลว่าคิดถึงอนิจจังคือความเปลี่ยนแปลงไว้เสมอ
                ความเป็นมงคลของชีวิตนั้น จะเกิดขึ้นก็เพราะการรู้จักฉลาดทำและรู้จักเลือกใช้ชีวิตให้ดี ดังเช่นมงคลคาถา ๔ ข้อข้างต้น ถือว่าเป็นหลักการในการดำเนินชีวิตให้เป็นมงคลได้โดยไม่ต้องพึ่งพาฤกษ์ยาม และเป็นอันหวังได้อย่าง แน่นอนว่า ชีวิตจะมีแต่ความสุข ความเจริญก้าวหน้า
                มีหลักจำง่ายๆ และควรท่องจำให้ขึ้นใจว่า จะ หลีกเลี่ยงคนพาล ภะ สังสรรค์บัณฑิต กะ ทำดีเป็นนิตย์ สะ คิดถึงอนิจจัง และโปรดระลึกไว้ว่า
                                ควรสร้างความดีศรีชีวิต                     ทำ พูด คิดสิ่งใดใฝ่กุศล
                                นี้แหละคือทางตรงเป็นมงคล           ทั่วสากลดีหรือชั่วเพราะตัวทำ
.............................................

หยิบผิด


                มนุษย์โลกต้องมีโอกาสทำผิดพลาดกันทั้งนั้น จะต่างกันบ้างก็ตรงที่ผิดมากหรือผิดน้อยกว่ากันเท่านั้น กล่าวคือ คนที่ทำด้วยความรอบครอบ มีโอกาสผิดพลาดน้อย ส่วนคนที่ทำโดยขาดความรอบคอบมีโอกาสผิดพลาดมาก แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน หากขาดการพิจารณาใคร่ครวญที่เรียกว่า “ความรอบครอบ” แล้วก็อาจทำให้เกิดผลเสียหายขึ้นมาได้ ดังมีเรื่องเล่าว่า
                มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง วันหนึ่งภรรยาจะไปตลาดซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไปประมาณ ๑๐ กม. สามีบอกให้ภรรยาเอาเหรียญหลวงพ่อปานบนหิ้งพระไปเลี่ยมกรอบที่ร้านที่คุ้นเคยกันในตลาดด้วย ภรรยาได้หยิบเหรียญบนหิ้งพระไปถึงร้านก็มอบเหรียญให้ช่าง แล้วก็ไปทำธุระที่อื่น เมื่อเสร็จแล้วก็กลับมารับเหรียญพร้อมจ่ายเงิน เมื่อมาถึงบ้านจึงเอาเหรียญที่เลี่ยมแล้วยื่นให้สามี สาดีดูแล้วก็ตกใจ เพราะเหรียญที่ภรรยายื่นให้ไม่ใช่เหรียญของหลวงพ่อปาน ทั้งสองจึงคิดว่าคงจะถูกช่างเปลี่ยนเอาพระไปแล้ว จึงชวนกันไปที่ร้านเลี่ยมพระอีกครั้ง เมื่อถึงก็ต่อว่าเจ้าของร้าน และช่างเป็นการใหญ่ แต่ทางร้านก็ยืนยันอย่างแข็งขันว่าเหรียญนี้เป็นเหรียญเดียวกับที่นำมาให้เลี่ยมจริงๆ สามีภรรยาจึงหมดหวังที่จะได้เหรียญหลวงพ่อปานกลับคืน เมื่อกลับถึงบ้าน สามีตรงไปที่หิ้งพระเพื่อเก็บเหรียญที่เลี่ยมมาและได้ตรวจดูบนหิ้งพระก็พบว่า เหรียญหลวงพ่อปานยังอยู่ที่เดิมนั่นเอง
                จากเรื่องที่ยกมาจะเห็นว่า เพราะความไม่รอบคอบ สามีภรรยาคู่นี้จึงต้องเสียเวลาเดินทาง ไป-กลับ ๒๐ กม. และเกือบจะเสียไมตรีกับร้านเลี่ยมกรอบ ที่ไปต่อว่ากล่าวหาเขาอย่างผิดๆ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ เสียอารมณ์ เสียความสงบสุขในครอบครัวอย่างไม่ควรจะเสียไประยะหนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องของส่วนรวมหรือเรื่องระดับประเทศชาติ ความไม่รอบครอบก็จะยิ่งก่อผลเสียอย่างมหาศาล ดังนั้น จะทำสิ่งใดต้องไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน ดังหลักธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสเตือนใจไว้ว่า นิสัมมะ กะระณัง เสยโย แปลว่า การพิจารณาใคร่ครวญแล้วจึงทำ ประเสริฐกว่า.

.............................................