วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ภูเขาไฟ


                ภูเขาไฟ เมื่อสังเกตจากรูปลักษณ์ภายนอก ก็ดูเหมือนจะไม่แตกต่างจากภูเขาธรรมดาทั่วไป แต่ในความเป็นจริง ภูเขาไฟต่างจากภูเขาประเภทอื่นเป็นอย่างยิ่งตรงที่มีไฟ หรือลาวา ที่ร้อนแรงอยู่ภายใน ขณะที่ภูเขาอื่นไม่มี เมื่อใดที่ภูเขาไฟยังไม่ระเบิด หรือไม่มีอาการส่อว่าจะระเบิด ก็มองไม่ออก มีต้นไม้ นานาพันธุ์ขึ้นอยู่เขียวขจีหรือไม่ก็มีหิมะปกคลุมในหน้าหนาวขาวโพลนไปทั่ว แต่เมื่อใดเกิดการระเบิด เมื่อนั้นจึงจะรู้ได้โดยประจักษ์ชัดว่าเป็นภูเขาไฟ ความร้อนและลาวาที่ถูกพ่นออกมา นอกจากจะทำให้ภูเขาต้องระเบิดทำลายตัวเองแล้ว ยังเผาไหม้หลอมละลายสร้างความเสียหายให้แก่ต้นไม้ สัตว์ป่า สิ่งมีชีวิต รวมถึงมนุษย์ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง ก็ประสบภัย ทำให้เดือดร้อนไปตามๆ กันอีกด้วย
                ผู้คนที่เราพบเห็นอยู่ในสังคมก็เช่นกัน ดูจากภายนอกหรือสัมผัสเพียงผิวเผินก็เห็นเป็นบุคคลปกติธรรมดาไม่ต่างจากใครอื่น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภายในร่างกายของคนที่มีความละม้ายคล้ายกันในทางรูปธรรมนั้น ย่อมมีสิ่งหนึ่งที่ต่างกันมาก และไม่สามารถสังเกตจากรูปร่างภายนอกได้ สิ่งนั้นคือจิตใจ คนบางคนมีรูปร่างหน้าตาบุคลิกดีมีฐานะดี แต่งตัวดี ตำแหน่งหน้าที่การงานดี มียศมีศักดิ์ในสังคม ดูแล้วชีวิตน่าจะสมบูรณ์พูนสุข แต่ในความเป็นจริงยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ดูปกติดีแต่ภายนอก ส่วนภายในจิตใจเร่าร้อนระอุคุกรุ่น ไม่ต่างจากภูเขาไฟพร้อมที่จะระเบิดอยู่ตลอดเวลา อันเนื่องมาจากไฟคือกิเลส ได้แก่ความละโลภมาก ความโกรธแค้นอาฆาตพยาบาท และความลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งที่ผิด ตลอดจนการปล่อยตัวปล่อยใจให้จมอยู่กับสิ่งที่พระท่านเรียกว่า อนิฏฐารมณ์ กล่าวคือเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา และความทุกข์ร้อนต่างๆ สภาพเหล่านี้เป็นเสมือนไฟสุมอก เร่าร้อนรุนแรงกว่าความร้อนของภูเขาไฟหลายเท่านัก
                ใครที่ตกอยู่ในลักษณะเย็นนอกร้อนในเช่นนี้ พึงทราบว่า ท่านกำลังมีสภาพไม่ผิดอะไรกับภูเขาไฟ ลูกหนึ่งถ้าควบคุมไม่ได้ ก็อาจจะระเบิดออกมาได้ทุกขณะ จึงควรรีบแก้ไขดับร้อนนั้นเสียโดยเร็ว คือให้ดับไฟโลภด้วยการให้ ดับไฟโกรธด้วยการแผ่เมตตา ดับไฟหลงด้วยปัญญา และดับความหมองไหม้กระวนกระวายด้วยสมาธิโดยสรุปก็คือ ใช้เย็นดับร้อน ใช้ธรรมดับทุกข์ เหมือนใช้น้ำดับไฟ ก่อนที่จะระเบิดพินาศย่อยยับ เหมือนการระเบิดของภูเขาไฟนั่นเอง

..................................

ตาย


                ท่านที่ไปร่วมฟังสวดพระอภิธรรม คงเคยเห็นตาลปัตร ๔ ด้าม ที่พระสงฆ์ใช้ขณะสวด ปักเป็นข้อความด้ามละวรรคเรียงกันไปว่า “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” ทั้งหมดจะเกี่ยวกับความตายทั้งนั้น ความตายเป็นสิ่งที่ทุกชีวิตต้องประสบ หลบไม่ได้ เลี่ยงไม่พ้น แม้ว่าจะไม่มีใครปรารถนาแต่ก็ต้องพบ
                เมื่อเรารู้ว่าถึงอย่างไรก็ต้องตาย แล้วจะทำอย่างไร ท่านพุทธทาสภิกขุ เคยกล่าวสอนไว้ว่าการตาย เป็นหน้าที่ของสังขารอย่างไม่มีทางเปลี่ยนแปลง แก้ไข นอกจากต้อนรับให้ถูกวิธี มีคติอุทาหรณ์ที่ดีและการมีชีวิตอยู่อย่างมีประโยชน์แก่ทุกฝ่าย เป็นหน้าที่ของผู้ที่ยังไม่ตายและรู้หน้าที่ของตน...
                การคิดถึงความตายหรือการไปร่วมงานศพ อาจจะทำให้จิตใจเศร้าสลดหดหู่ แต่หากมองในแง่ของธรรมะ ก็มีสาระให้ความคำนึงได้ ดังนี้
                ๑.ได้เห็นความดี เห็นคุณค่าแห่งชีวิตปรากฏชัดขึ้น อันก่อให้เกิดความอาลัยรัก เสียดายเมื่อตายจาก
                ๒ได้ความสามัคคีปรองดอง เกิดความเห็นใจ เข้าใจ ไม่ทอดทิ้งหรือนิ่งดูดาย
                ๓.มองเห็นสัจธรรม ว่าทุกอย่างต่างมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และช่วยให้มีสติ ได้ความสำนึกที่ดี
                ๔.รีบทำที่พึ่งแก่ตน โดยยึดเอาคนตายเป็นเครื่องเตือนตนให้เร่งละชั่ว ทำดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ ไม่ประมาทเมามัว คิดว่าตัวยังไม่ตาย ตรงตามพุทธภาษิตว่า “เพียรทำความดีเสียตั้งแต่วันนี้ เพราะไม่มีใครรู้ได้ว่าพรุ่งนี้จะตายหรือยังอยู่” คิดในแง่นี้ ความตายก็มีประโยชน์ คือเป็นตัวเร่งให้เราขยันทำความดี ทำหน้าที่ให้หมดจดเรียบร้อย  ดังนั้น เราท่านทั้งหลายจงรีบขวนขวายหาที่พึ่ง และเตือนตนไว้เสมอว่า
เกิดมาจงสร้าง แต่ความดี

..................................

วันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ผิดทาง


                มีเรื่องเล่าว่า ชาวจีนคนหนึ่ง ต้องการจะเดินทางจากจงหยวนไปยังรัฐฉู่ ซึ่งอยู่ทางใต้ แต่เขานั่งรถม้ามุ่งหน้าไปทางเหนือ ระหว่างทางมีผู้หวังดีบอกว่า รัฐฉู่อยู่ทางทิศใต้ เขากลับตอบว่า ไม่เป็นไร ม้าของเขามีฝีเท้าจัด เขามีเงินค่าเดินทางเยอะ และคนขับรถม้าก็มีความชำนาญมาก แล้วไม่ยอมฟังคำท้วงติงใดๆ ไม่มองความผิดพลาดของตนเอง ยังคงมุ่งหน้าไปตามทิศทางที่ผิดต่อไป ในที่สุด กลายเป็นว่าม้าของเขายิ่งวิ่งดีเท่าไร เงินค่าเดินทางของเขายิ่งมากเท่าไร และคนขับรถม้าของเขายิ่งชำนาญเท่าไร เขาก็ยิ่งเดินทางห่างรัฐฉู่ออกไปมากเท่านั้น ทั้งนี้เพราะความคิดที่ผิดโดยแท้
                ในมุมมองทางพุทธศาสนาของเปรียบ รัฐฉู่ในเรื่องนี้ เป็นความสุขของคน อันประกอบด้วย ความมีสุขภาพที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ความสงบร่มเย็นในชีวิตครอบครัว และความสำเร็จในอาชีพการงาน ตลอดถึงความมั่งมีศรีสุขในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นยอดปรารถนาของคนทั้งหลาย แต่ความจริงในสังคมปัจจุบัน กลับปรากฏว่ายังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ดำเนินชีวิตสวนทางกับสิ่งที่ตนปรารถนานั้น เช่น อยากมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง แต่กลับสูบบุหรี่ ดื่มสุรา เที่ยวเตร่ อยากมีความสงบราบรื่นในครอบครัว และความสำเร็จในชีวิต แต่กลับไม่ซื่อสัตย์ต่อครอบครัว เกียจคร้านการทำงาน เล่นการพนัน ที่สำคัญถึงจะมีผู้ปรารถนาดีคอยแนะนำบอกทางที่ถูกให้ก็ไม่เชื่อฟัง จึงไม่ต่างอะไรกับการเดินผิดทิศผิดทางของชาวจีนคนนั้น
                ในการเคารพต่อคำตักเตือนของบุคคลรอบข้าง โดยเฉพาะจากผู้รู้ที่เตือนด้วยความปารถนาดี จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะชีวิตก็เหมือนการเดินทางในแง่ว่าต้องมีจุดหมายและลงมือปฏิบัติให้ถึงจุดหมาย ถ้ายังอยู่ในทางถึงลำลากยากเย็นหรือเนิ่นนานอย่างไรก็ยังพอมีหวัง แต่ถ้าเดินผิดทาง ก็ล้มเหลวเสียตั้งแต่ต้น
                ลองตรองดู

......................................

ระวังความรู้สึก


                ความรู้สึกนึกคิดในใจคนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการที่จะพูดและทำอะไรทุกครั้ง ย่อมเริ่มมาจากความรู้สึกนึกคิดก่อน หากใครสามารถควบคุมจิตใจให้อยู่ในความดีได้ก็เท่ากับว่าได้ควบคุมคำพูดและการกระทำให้ดีตามไปด้วย แต่เนื่องจากจิตใจนี้เป็นธรรมชาติที่ควบคุมได้ยากที่สุด เรื่องจึงกลายเป็นว่าบางครั้งแทนที่จะควบคุมความคิดได้ กลับถูกความคิดควบคุม แทนที่จะควบคุมความรู้สึกไว้ได้กลับถูกความรู้สึกควบคุม ทำให้ตกอยู่ในสภาพชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง
                ความรู้สึกชอบและไม่ชอบทั้งสองนี้ มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนแบบตรงข้ามกัน กล่าวคือคนเราเมื่อชอบกันแล้ว ก็ทำให้พอใจ เห็นใจ และปรารถนาดีต่อกัน เคารพให้เกียรติกัน สิ่งดีๆ เหล่านี้ช่วยทำให้ผู้มีความรู้สึกนึกคิดในทางที่ชอบต่อกันอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แตกต่างจากความรู้สึกของบุคคลที่ไม่ชอบกัน ที่มักจะทำให้หมดความอาลัยไยดีต่อกัน ทำให้เห็นแก่ตัว ไม่มีความจริงใจต่อกัน ตลอดจนไม่ให้เกียรติเคารพยำเกรงกัน ซึ่งทำให้ผู้ตกอยู่ในลักษณะเช่นนั้น มีความเร่าร้อนทุกข์ใจ
                ดังที่กล่าวข้างต้นว่า จิตใจเป็นเรื่องที่ต้องควบคุม ความชอบใจหรือความไม่ชอบใจแม้จะเป็นสภาวะที่ต้องมี ห้ามไม่ได้ หรือแม้แต่จะส่งผลดีได้ในบางแง่มุม แต่ก็เป็นเรื่องต้องควบคุมให้ชอบหรือไม่ชอบอย่างมีเหตุผล อย่างอิงหลักการและความถูกต้องให้มากที่สุด เพราะถ้าปล่อยไปตามอารมณ์หรือความรู้สึกอย่างเดียว ความชอบ/ไม่ชอบนี้จะเป็นอาวุธทำร้ายผู้อื่น และบางครั้งถึงขั้นหวนกลับมาทำร้ายตัวเองเลยก็มี

......................................

สำคัญที่กรรม


                ถ้าเราสังเกตยวดยานพาหนะที่แล่นไปมาบนท้องถนน โดยเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคล จะพบบ่อยครั้งว่า รถบางคันมีสีอย่างหนึ่งแต่เขียนบอกไว้ที่ท้ายรถว่าเป็นอีกสีหนึ่ง ส่วนมากทำกันเพื่อการแก้เคล็ด คือ รถที่ซื้อมาแล้วสีไม่ถูกกับดวงชะตาของเจ้าของ หรือไม่ถูกโฉลกกัน เพื่อเป็นการแก้เคล็ดให้เป็นมงคลแก่รถและเจ้าของรถ จึงเขียนสี่บอกไว้ดังกล่าว
                เรื่องดังกล่าวเป็นความเชื่อในเชิงโหราศาสตร์ หรือดวงชะตาชีวิต จะถูกผิดอย่างไรก็ยากที่จะพิสูจน์ยืนยันได้ ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบุคคล แต่ถ้าศึกษาหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา จะเห็นว่า สอนให้ตระหนักในเรื่องกรรม และผลของกรรม กล่าวคือ ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากการกระทำของคน ฉะนั้นจะขับรถสีอะไร จะออกรถวันไหน เวลาใดนั้น จึงไม่สำคัญเท่ากับการทำดี ทำสิ่งที่ถูกต้อง และตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาทหรือไม่ ทำดี พูดดี ปฏิบัติตามกฎระเบียบขับรถอย่างผู้มีสติแล้ว ก็ไม่ต้องวิตกกังวลอะไร และไม่จำเป็นต้องเขียนแก้เคล็ดกันอีกต่อไป เพราะความดีนั้นแหละจะเป็นเครื่องคุ้มครองอยู่ในตัว ดังคำประพันธ์
                                มีสติ  ตริตรึก นึกเหตุผล
                รู้ตัวตน  ไว้เสมอ  ไม่เผลอไผล
                ผู้ขับรถ  มีสติตลอด  ก็ปลอดภัย
                มันมิใช่  เพาะหลวงตา  มาช่วยเจิม

......................................

สิ่งควรคิด


                วงจรชีวิตของคนเราจะเริ่มต้นที่การเกิดและสิ้นสุดที่การตาย ระหว่างที่มีชีวิตอยู่ แต่ละชีวิตก็ต้องประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่สมหวังบ้าง ผิดหวังบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง คละเคล้ากันไป ความเป็นไปของชีวิตเหล่านี้ถ้าจะสรุปให้เป็นหัวข้อใหญ่ เพื่อเป็นคตินำไปสู่การดำเนินชีวิตที่ดีงาม ก็มีอยู่สี่เรื่องที่ควรคิดไว้เสมอคือ
                ๑. ล้วนรอความตาย ทุกคนรู้ว่าต้องตาย แต่ถ้ารู้แบบถูกจุด ความรู้นั้นจะให้อะไรกับเราหลายอย่าง เช่น รู้จักปล่อยวาง รู้จักพอ รู้จักให้อภัย ซึ่งจะทำให้ความทุกข์น้อยลง ดังคำว่า “นึกถึงความตายสบายนัก มันหักรักหักหลงในสงสาร”
                ๒. เป็นไปตามกรรม ก่อนทำเราเป็นไทคือมีสิทธิเลือกทำได้ แต่หลังทำเราไม่มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธผล เมื่อรู้ว่าหนีกรรมไม่พ้นจึงควรใช้สิทธิ์นั้นอย่างเต็มที่ด้วยการเลือกทำแต่สิ่งที่ดีๆ เท่านั้น
                ๓. ซ้ำเติมด้วยโรค ร่างกายของทุกคน เปรียบเสมือนรังอันเป็นที่อยู่ของโรค ตอนแข็งแรงเป็นหนุ่มเป็นสาวอาจยังไม่รู้สึก พออายุมากเรี่ยวแรงลดลงโรคก็ได้โอกาส ที่ไม่เคยปวดก็ปวด ที่ไม่เคยเหนื่อยก็เหนื่อย มีแต่ทรุดโทรมลงทุกทาง ยังไม่นับโรคภัยร้ายแรงที่จู่โจมเข้ามาตั้งแต่ก่อนวัยอันควร จึงต้องหมั่นรักษาสุขภาพ ออกกำลังกายและหลีกเว้นสิ่งบั่นทอนสุขภาพเสีย
                ๔. เพิ่มโชคด้วยบุญ ให้เวลาในชีวิตที่มีอยู่เป็นเวลาแห่งการสร้างความดีเท่านั้น เพราะความดีหรือบุญนี้จะเป็นมิตรแท้เป็นที่พึ่งให้แก่ชีวิตทั้งในปัจจุบันและโลกเบื้องหน้า
                แม้เราจะมีเรื่องอื่นต้องทำมากมาย แต่ถ้ามีเวลาคิดถึงหลักว่า ทุกคนก็ล้วนรอความตายเป็นไปตามกรรม ซ้ำเติมด้วยโรค แล้วพยายามบริหารจัดการชีวิตนี้โดยการเพิ่มโชคด้วยบุญ ก็เท่ากับว่าสร้างที่พึ่งให้กับตนได้ แต่ถ้าวันหนึ่งๆ ไม่คิดถึงเรื่องพวกนี้เลย จะเอาแต่การงาน ชื่อเสียง และผลประโยชน์ที่อยากได้อย่างเดียว ชีวิตก็เตลิดไปเรื่อย ไม่รู้ว่าจุดหมายของชีวิตคืออะไร อยู่ที่ไหน ทั้งที่คำตอบนั้น บางทีก็ซ่อนอยู่ในสิ่งควรคิดใกล้ๆ ตัวแค่นี้เอง

......................................

เหนือกว่าชื่อ


                คนเราล้วนต้องการสิ่งที่ดีในชีวิตเริ่มตั้งแต่ชื่อที่ใช้เรียกขานตัวเอง โดยเรื่องลักษณะนี้มีมานานแล้ว   ในสังคมมนุษย์ปัจจุบันมีผู้ให้ความสำคัญกับการใช้ชื่อมากขึ้น เห็นได้จากการตั้งชื่อ หรือเปลี่ยนชื่อที่สื่อความหมายในทางสิริมงคล และมีความไพเราะเสนาะหู
                ครั้งพุทธกาล มีครอบครัวหนึ่งตั้งชื่อลูกว่า อหิงสกะ แปลว่าผู้ไม่เบียดเบียนใคร เพื่อให้ลูกของตนเป็นเด็กดีไม่ใจดำอำมหิต หลังจากนั้นก็ตั้งใจเลี้ยงดูลูกด้วยความรัก และส่งเข้าสถานศึกษาที่มีชื่อที่สุดในครั้งนั้น อหิงสกะก็เป็นเด็กดี ใฝ่รู้ใฝ่เรียน รักสงบ มีความกตัญญู ว่านอนสอนง่าย เป็นที่โปรดปรานของอาจารย์จนพวกศิษย์ที่มีใจริษยาทนไม่ได้ หาทางยุให้อาจารย์กำจัดให้พ้นไปจากสำนัก โดยการหลอกให้ไปฆ่าคนให้ครบหนึ่งพันคนแล้วจึงจะบอกมนต์วิเศษให้ อหิงสกะ จึงเริ่มฆ่าคน เมื่อฆ่าคนได้ก็ตัดนิ้วมือมาร้อยเป็นพวงห้อยคอไว้กันลืม จนคนทั้งหลายพากันขนานนามว่า องคุลิมาล แปลว่า มีนิ้วมือเป็นพวงมาลัย กระทั่งวันหนึ่งพระศาสดาเสด็จไปโปรด เขาจึงสำนึกในความผิดกลับตัวเสียใหม่ เลิกฆ่า เลิกเบียดเบียนคนอื่นอย่างเด็ดขาด และขอบวชในพระพุทธศาสนา จนได้บรรลุธรรมในที่สุด
                ในทัศนะทางศาสนา สิ่งที่ก่อให้เกิดสิริมงคลจริงๆ ก็คือการประพฤติปฏิบัติ ส่วนชื่อถึงจะเป็นนิมิตหมายที่ดีอย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่ดีถึงขั้นไปฝืนผลของการกระทำได้ เหมือนคนจน ถึงจะเปลี่ยนชื่อเป็นรวย ไม่ว่ารวยธรรมดา รวยมาก หรือรวยไม่เลิก แต่ถ้าเกียจคร้าน หรือมั่วอบายมุข ก็ต้องจนอยู่วันยังค่ำ แต่การกระทำในสิ่งที่ดีงาม จะเป็นมงคล และเป็นเสน่ห์แก่ตัวเองได้จริง ไม่ว่าเขาจะมีชื่อเสียงเรียงนามอย่างไรก็ตาม

......................................