วันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ความแข็งแกร่ง


                นานมาแล้วนักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งกล่าวว่า “ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดเท่านั้น ที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้” คำกล่าวนี้ยังเป็นจริงอยู่ถึงปัจจุบัน เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ข่าวสารการรับรู้รวดเร็วขึ้น วัฒนธรรมแห่งการสร้างสรรค์ ได้แผ่กระจายครอบคลุมวิถีชีวิตของคนพร้อมๆ กับหายนะธรรม คือ การทำลายล้าง มนุษย์ต้องต่อสู้มากขึ้น ผู้ที่อ่อนแอไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ ผู้ที่แข็งแกร่งเท่านั้น จึงสามารถหยัดอยู่ได้ การสร้างความแข็งแกร่งจึงเป็นสิ่งจำเป็น คือ
     ๑.ความแข็งแกร่งทางสติปัญญา หมายถึง การรู้จริง เข้าใจจริง มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในสิ่งที่ตัวเองรับรู้และเกี่ยวข้อง
     ๒.ความแข็งแกร่งทางร่างกาย หมายถึง ความสมบูรณ์ของสภาพร่างกาย ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน
     ๓.ความแข็งแกร่งทางจิตใจ หมายถึง สภาพจิตที่มีความสมดุลสูง ไม่ตกเป็นทาสทางอารมณ์ โดยเฉพาะอารมณ์ฝ่ายต่ำ
     ๔.ความแข็งแกร่งทางบุคลิกภาพ หมายถึง การมีทัศนคติที่ดี การฝึกฝนตนเองให้แสดงมารยาท ภาษาท่าทาง และกิริยาที่เหมาะสมต่อสถานการณ์
     ๕.ความแข็งแกร่งทางความคิด หมายถึง การคิดค้นคว้าหาคำตอบให้กับสิ่งต่างๆ เพื่อนำมาพิจารณาหาเหตุผลได้
     ดังนั้น หากต้องการดำรงชีวิตอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างสว่างงามก็ต้องรีบสร้างความแข็งแกร่งให้เกิดขึ้นกับตนเอง สมกับคำที่ว่า “ยิ้มได้เมื่อภัยมา ไม่โสกาเมื่อภัยมี”

..................................

คู่สร้างคู่สม


                 คงจำโฆษณาทางโทรทัศน์จากบะหมี่ยี่ห้อหนึ่งได้ เริ่มต้นด้วยหนุ่มสาวคู่หนึ่งทะเลาะกัน แล้วทั้งสองก็ไปบ้านพ่อ ตอนหนึ่งในขณะที่พ่อถือถ้วยบะหมี่กำลังจะกินได้พูดขึ้นว่า “ทะเลาะกันหรือลูก ชีวิตมันไม่สำเร็จรูปเหมือนบะหมี่หรอก” แล้วก็กินบะหมี่อย่างอร่อย เท่านั้นก็ทำให้หนุ่มสาวคิดได้ว่า ชีวิตคู่ย่อมต้องมีบ้างที่ไม่เข้าใจกัน เพราะไม่สำเร็จรูปเหมือนบะหมี่ โฆษณานี้จบลงด้วยความเข้าใจกันของทั้งสองฝ่าย ได้ทั้งสาระและความประทับใจในสินค้า
                การที่ชีวิตคู่จะประสบความสำเร็จได้ย่อมมีองค์ประกอบหลายอย่างรวมกัน ในทางพุทธศาสนาก็เล็งเห็นความสำคัญในข้อนี้ โดยมีหลักธรรมคือ คู่สร้างคู่สม สำหรับการดำเนินชีวิตของคู่สมรสไว้ เพื่อเป็นพื้นฐานอันมั่นคงที่จะทำให้ชีวิตคู่อยู่ครองกันได้ยืดยาว หลักธรรมนี้เรียกว่า สมชีวิธรรม มี ๔ ประการคือ
                ๑.ศรัทธาเคียงกัน (สะมะสัทธา) คือเคารพนับถือในลัทธิศาสนา สิ่งเคารพบูชา และหลักการต่างๆ ตลอดจนแนวความสนใจอย่างเดียวกัน หนักแน่นเสมอกัน หรือปรับเข้าหากันได้ลงกันได้
                ๒.ศีลมั่นเพียงใจ (สะมะสีลา) คือความประพฤติ ศีลธรรม จรรยา มารยาท พื้นฐานการอบรมพอเหมาะ สอดคล้องไปกันได้
                ๓.รู้ให้เหมาะสม (สะมะจาคา) มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารีมีใจกว้าง เสียสละ พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันและเกื้อกูลผู้อื่น พอกลมกลืนไม่ขัดแย้งบีบคั้นกัน
                ๔.อุดมปัญญา (สะมะปัญญา) คือรู้เหตุรู้ผล เข้าใจกัน อย่างน้อยพูดกันรู้เรื่อง
                คู่ชีวิตที่ครองรักไปด้วยกันไม่ได้นั้น เพราะไม่รู้จักปรับตัวเข้าหากัน ต่างถือทิฐิเป็นใหญ่ สุดท้ายน้ำผึ้งจึงขม ชีวิตคู่จะดำเนินไปได้อย่างราบรื่นกลมกลืนและมีความสุข ก็ด้วยการปฏิบัติตามหลัก  “คู่สร้างคู่สม” ที่ว่า ศรัทธากัน ศีลมั่นเพียงใจ รู้ให้เหมาะสม อุดมปัญญา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ หลักธรรมอันเป็นศิลปะแห่งการครองชีวิตคู่นั่นเอง

..................................

เมียแก้ว


                หญิงผู้มีฐานะทางสังคมควบคู่กับสามีก็คือ ภรรยา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญเป็นถึงผู้จัดการเกี่ยวกับการบ้านการเรือน จึงเรียกว่า “แม่บ้านแม่เรือน”
                                                แม่เรือนเสมือนหนึ่งรากแก้ว            รากขาดแล้วกิ่งใบไม่ไพศาล
                                                เรือนสามน้ำสี่อย่าขี้คร้าน                  กิจในบ้านเป็นสมบัติของสตรี
                หมายความว่าแม่บ้านแม่เรือนจะต้องใส่ใจใน เรือน ๓ น้ำ ๔ คือ
                เรือน ๓ ประกอบด้วย
                ๑.กายเคหะ เรือนกาย ให้เอาใจใส่ร่างกายทั้งในด้านสุขภาพและการตกแต่ง อย่าปล่อยตัวจนเกินไป แต่ก็ไม่ควรแต่งตัวจนเกินไป
                ๒.อาศัยเคหะ เรือนที่อยู่อาศัย ให้จัดแจงดูแลให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เครื่องใช้ในบ้านเก็บเป็นที่เป็นทาง
                ๓.กุลเคหะ เรือนครอบครัว หมายถึงผู้ที่อยู่ร่วมบ้านในฐานะเป็นญาติทั้งของตนและสามี ปฏิบัติให้เหมาะให้ควรแก่ฐานะของบุคคลนั้นๆ
                น้ำ ๔ ประกอบด้วย น้ำภักดิ์จงรักสัตย์ซื่อ น้ำแรงร่วมมือทำกิจ น้ำคำฉ่ำหวานสมานมิตร น้ำจิตเมตตาอารี น้ำทั้ง ๔ ประการนี้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงการงานในเหย้าเรือนให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น
                นอกจากเรือน ๓ น้ำ ๔ แล้ว ท่านยังสอนให้ปฏิบัติหน้าที่ภรรยาตามหลักพระพุทธศาสนา ดังนี้
                ๑.จัดแจงงานในบ้านดี ไม่ปล่อยปละละเลยให้คั่งค้าง
                ๒.สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามีดี หมายถึง ญาติมิตรของสามี ไปมาหาสู่ฉันญาติมิตร ก็แสดงอัธยาศัยไมตรี โอภาปราศรัย ให้การต้อนรับตามควรแก่ฐานะ
                ๓.ไม่นอกใจสามี คือไม่ปันใจ ปันกายให้ชายอื่น
                ๔.รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้เป็นอย่างดี ไม่ฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย
                ๕.ขยันไม่เกียจคร้านในการงานทั้งปวง อดทน ไม่เบื่อหน่ายในหน้าที่การงานของตน
                ภรรยาที่ปฏิบัติเช่นนี้ได้ ได้ชื่อว่าเป็นเมียแก้ว สามารถนำความสุขความเจริญมาสู่ครอบครัว และสามารถที่จะครองใจของสามีไว้ได้ตลอดไป
...................................

ผัวแก้ว


                คำว่า “แก้ว” มาจากบาลีว่า “รัตนะ” รัตนะ ที่สำคัญ ๙ ประการ ที่เรียกว่า นพรัตน์ ได้แก่ เพชรน้ำดี มณีน้ำแดง เขียวใสแสงมรกต เหลืองสดใสบุษราคัม แดงแก่ก่ำโกเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาล มุกดาหารหมอกมัว แดงสลัวเพทาย สังวาลสายไพฑูรย์
                คนดีเรามักยกย่องว่าเป็นแก้ว ถ้าเป็นชายก็เรียกว่า “บุรุษรัตน์” คือชายแก้ว ถ้าเป็นหญิงก็เรียกว่า “นารีรัตน์” คือนางแก้ว ความดีที่จะทำให้คนเป็นแก้วได้นั้น ท่านให้ดูที่การปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายของบุคคลนั้นๆ คือ ถ้าสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้สมบูรณ์ ไม่บกพร่อง ก็ชื่อว่าเป็นคนแก้ว ชาย หญิง เมื่อได้ตกลงใจเป็นคู่ครองกันแล้ว ฝ่ายชายผู้ปฏิบัติหน้าที่สามี ได้อย่าสมบูรณ์ ดังต่อไปนี้เรียกว่า “ผัวแก้ว” คือ
                ๑. ยกย่องภรรยาของตน ว่าเป็นภรรยาที่แท้จริง เป็นยอดมิตรของตน การใช้กิริยาวาจาต่อภรรยาก็มีแต่ความละมุนละม่อมตลอดเวลา ทั้งเชิดชูให้ปรากฏในสังคมร่วมกับตนเสอม
                ๒. ไม่ดูหมิ่นหญิงที่เป็นภรรยาตน ไม่ว่าในกรณีใดๆ เช่น เรื่องฐานะ ตระกูล การศึกษา หรือสติปัญญา เห็นใจหญิงผู้ที่ตนได้เป็นภรรยาแล้วว่าเป็นผู้ร่วมสุขร่วมทุกข์ มีความสำคัญในฐานะเป็นแม่บ้าน แม่เรือน
                ๓. ไม่ประพฤตินอกใจภรรยา สำหรับผู้หญิงแล้วไม่มีอะไรที่จะเป็นทุกข์หนักและเดือดร้อนใจเท่ากับสามีนอกใจไปรักหญิงอื่น หรือได้หญิงอื่นมาเป็นภรรยา
                ๔. มอบความเป็นใหญ่ในบ้านให้ภรรยา กิจการในบ้านในเรือนให้ภรรยาเป็นผู้จัดการ ตามแต่จะเห็นงาม ให้ความไว้วางใจในการเก็บรักษา ดูแลทรัพย์สมบัติที่สามีหามาได้
                ๕. ให้เครื่องแต่งตัวแก่ภรรยา ตามสมควรแก่โอกาสและตามสมควรแก่ฐานะ เป็นการแสดงออกถึงความรัก ความเอาใจใส่ต่อภรรยา มีคำกล่าวไว้ว่า “ดูอัธยาศัยผัว ดูเครื่องแต่งตัวของเมีย” สามีจึงไม่ควรเพิกเฉยดูดายในเรื่องนี้  มีบทกลอนที่กล่าวถึง “ผัวแก้ว” ดังนี้
                                                สามีดีมีห้าท่านว่าไว้            หนึ่งเอาใจยกย่องประคองขวัญ
                                สองไม่ดูถูกภรรยาให้จาบัลย์             สามผูกพันไม่นอกใจจนวายวาง
                                สี่มอบความเป็นใหญ่ให้สายสมร     ห้าให้อาภรณ์ประดับสำหรับร่าง
                                สมบัติห้านี้มีครบจบไม่จาง               เป็นเยี่ยงอย่างยอดสามีดีนักเอย.

...................................

วันอังคารที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2557

จิต สมาธิ


สมาธิ  เป็นการทำให้จิตสงบนิ่ง    เพราะปกติจิตเราไม่เคยสงบนิ่ง     ถ้าจิตสงบนิ่งจะทำให้เห็นสิ่งที่มีอยู่ในจิต
จิตที่ไม่สงบนิ่ง   เปรียบเหมือนน้ำที่มีตะกอนแขวนลอย (นิวรณ์)  อยู่เต็มไปหมด   ถ้าเราทำให้น้ำนิ่งใส  เราจึงจะเห็นสิ่งที่อยู่ในน้ำได้ (กิเลส)
พอจิตนิ่ง  เราจะเห็นกิเลส  ความไม่บริสุทธิ์  ที่ปรุงแต่งอยู่ในจิต 

คนไม่ทำสมาธิ  จะไม่รับรู้จิตในระดับของจิตใต้สำนึก  (เหมือนภูเขาน้ำแข็งส่วนที่อยู่ใต้น้ำ)   จริง ๆ จิตระดับนี้จะตอบโต้กับความรู้สึกที่ชอบ  (โลภ)    ไม่ชอบ (โกรธ)  หรือแม้แต่รู้สึกเฉย ๆ (หลง)  อยู่ตลอดเวลา        แล้วสั่งสมตกตะกอนนอนเนื่องอยู่ในจิต  เหมือนหินดาน  เป็นกิเลสที่เรียกว่าอนุสัย  (สันดาน)  แก้ไขสันดานโดยการสั่งสอน    การคิดนึก  การห้ามกระทำ   ยากที่สุดเพราะจิตมันยึดไว้อย่างเหนียวแน่น

คนทำสมาธิ   เมื่อทำสมาธิได้ในระดับที่จิตนิ่ง  การรับรู้จะชัดเจน  และทำสมาธิลึกลงไปจนรับรู้การปรุงแต่งของจิตใต้สำนึกได้  เช่น เวลาที่จิตมีความโกรธ  (แม้เพียงเล็กน้อย แบบไม่พอใจ หงุดหงิด)  เจ้าตัวก็จะรับรู้ได้  เพราะมันจะมีอาการ   เช่น รู้สึกเป็นก้อน
จุกอก  จุกคอหอย  ร้อนเป็นก้อนแข็งในจิต  (แต่ละคนจะรู้สึกไม่เหมือนกัน)   บางคนอาจเห็นจิตตัวเองได้เหมือนตาเห็น  ว่าจิตเป็นสีแดงเวลาโกรธ  ซึ่งคนไม่ปฏิบัติจะรับรู้ไม่ได้  หรือได้บ้างแต่ไม่ชัดเจน
เวลาไปเห็นของอย่างหนึ่ง  แล้วชอบอยากได้  มันก็จะมีสภาวะของความโลภ  เข้ามาที่จิตมันเป็นความเหนี่ยวรั้ง   อึดอัดเกิดขึ้นให้รับรู้ได้   ชอบก็เหนี่ยวรั้งเป็นแรงดึงเข้ามา   ไม่ชอบก็ผลักไสเป็นแรงดันออกไป   ทุกอย่างจะรับรู้ได้เป็นสภาวะความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงในขณะนั้น ๆ แม้ไม่ได้หลับตาทำสมาธิ      จึงไม่ใช่จินตนาการ  เพราะรู้สึกจริงอยู่แบบตื่น ๆ ลืมตานี่แหละ

ที่เราต้องทำสมาธิ
เพราะเรารู้สึกได้เวลาที่กิเลสเกิด    ว่ามันมีความอึดอัด
 ความหนักเป็นก้อน ๆ   จะเรียกว่าก้อนทุกข์ก็ได้   แล้วใครจะอยากอยู่กับความรู้สึกอย่างนั้น  การทำสมาธิ และวิปัสสนา  จะช่วยให้เห็นสภาวะของกิเลส  การวิปัสสนา ช่วยสลาย ทำลายสภาพนั้น  จิตก็จะเคลียร์ใส  ว่าง  สะอาด
มันก็เหมือนได้กวาดบ้าน   ถูบ้าน  บ้านก็สะอาด

จะพ้นทุกข์ได้จริงมั้ย
จากประสบการณ์ตัวเอง  นั่งแบบไม่ขยับ หนึ่ง ชม. ขึ้นไป  มีความเจ็บปวด ทรมานมาก  แต่พอพิจารณาไปจนเห็นอุปาทาน  ความยึดของจิตว่าความปวดเป็นของเรา จิตมันตัดความยึด ปล่อยวางแบบยอมตาย ไม่มีตัวเรา ของเรา  จิตก็แยกออกมาเป็นอิสระ  ไม่ไปจมอยู่กับความปวด
       ความทุกข์จากความปวดมันก็ดับไม่เหลือ
 ความรับรู้ว่าปวดก็ยังอยู่นะเหมือนสายของความปวดไหลผ่านให้รับรู้  จิตแยกมารู้อยู่เฉย ๆ ไม่เข้าไปติดกับความปวดนั้น   ความปวดไม่ได้ถูกตีความว่าดีหรือไม่ดี  เป็นแค่สภาวธรรมให้จิตรับรู้     ไม่ได้นั่งหลับเพราะเสียงข้างนอกก็รับรู้  ไม่ได้จินตนาการเพราะปวดจริง
แต่จิตแยกออกมาจากความปวดได้  ไม่ทุกข์

เพราะเคยเห็น เคยรู้ว่า จิตแยกจากทุกข์ได้จริง  จึงเกิดศรัทธาในการปฏิบัติ  ทำให้ยิ่ง  ๆ ขึ้นไป  เพื่อให้จิตแยกตัวออกจากทุกข์ได้อย่างเด็ดขาด  ไม่กลับมาติดกับทุกข์อีก    มีร่างกาย  ก็เจ็บป่วย เสื่อมสภาพไป
ตามธรรมดาโลก   แต่ต้องการฝึกจิตให้พ้นทุกข์แบบถาวรไม่ต้องเวียนตาย  เวียนเกิดอีก  เพราะถ้าเกิดก็เจอทุกข์แบบนี้ร่ำไป


ถ้าไม่ทำสมาธิ
จะเป็นคนที่พอรับผัสสะ  (เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส  กายสัมผัส)  ก็จะชอบบ้าง   ชังบ้าง  สะสมกิเลสตกตะกอนไปเรื่อย ๆ  จนกิเลสพอกจิต  ดำปี๋  เหมือนกระจกไม่ได้เช็ด มองอะไรก็บิดเบือนไปตามการปรุงแต่งของกิเลส    ตัวจิตเดิมที่ประภัสสรไม่มีโอกาสได้เกิดปัญญา   การเรียนรู้ที่จะขจัดกิเลส ก็ไม่มี 
พอทุกข์เรื่องใดก็ยึดว่าเป็นทุกข์ของตัวเอง แล้วก็แบกทุกข์ไว้  ใช้วิธีทางโลกแก้ทุกข์ไปได้เป็น
คราว ๆ  แล้วก็หลอกตัวเองว่าไม่มีทุกข์  (อันนี้แหละโมหะความหลงชัดเจน)
  
ทั้งนี้ สมาธิ มี ๒ แบบนะ  สัมมาสมาธิ  กับ มิจฉาสมาธิ
สัมมาสมาธิ  จะเป็นสมาธิแบบจิตตั้งมั่น เป็นกลาง รับรู้ทุกอย่างแบบไม่แทรกแซง   พัฒนาขึ้นไปเป็นกำลังแก่การวิปัสสนา 

มิจฉาสมาธิ  สมาธิให้สงบ บางทีสงบสุขอย่างเดียว  แล้วจิตก็ติดสมาธิแบบนี้     บางทีทำให้เกิดกำลังจิต  เอากำลังจิตไปใช้ในทางมิชอบ  อ่านใจคน  ครอบงำคนอื่น เพื่อลาภสักการะ