วันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2557

กรรมลิขิต


                กรรม แปลตามตัวอักษรหมายถึงการกระทำ  ทำดีเรียกว่ากุศลกรรม ทำไม่ดีเรียกว่าอกุศลกรรม ทำดีย่อมให้ผลเป็นความดี ทำไม่ดีย่อมให้ผลเป็นความไม่ดี เพราะการกระทำและผลของการกระทำย่อมสอดคล้องกันเสมอ เปรียบเสมือนการเพราะปลูกพืชพันธุ์ เช่น ปลูกขนุนเมื่อออกดอกมีผลก็ต้องเป็นขนุน ปลูกมะม่วง เมื่อออกดอกออกผลก็ต้องเป็นมะม่วงอย่างแน่นอน อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ก่อสร้างกรรมดีและกรรมไม่ดีมี ๓ อย่าง คือ ๑.กายกรรม หมายถึงกระทำด้วยกาย หรือการกระทำทางกาย ๒.วจีกรรม หมายถึงกระทำด้วยวาจา หรือการกระทำทางวาจา ๓.มโนกรรม กระทำด้วยใจ หรือการกระทำทางใจ
                รูปแบบหรือตัวอย่างของกรรมดีหรือกรรมไม่ดีจัดเป็นคู่ๆ ดังนี้ กายกรรมที่ดีคือ ไม่ฆ่า ไม่ขโมย ไม่ประพฤติผิดทางกาม กายกรรมที่ไม่ดีคือฆ่า ขโมย ประพฤติผิดทางกาม วจีกรรมที่ดีคือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ วจีกรรมที่ไม่ดีคือ พูดเท็จ พูดส่อเสีย พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มโนกรรมที่ดีคือ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น มีความเห็นถูกต้องตามครรลองคลองธรรม มโนกรรมที่ไม่ดีคือ อยากได้ของผู้อื่น คิดเบียดเบียนคนอื่น เห็นผิดเป็นชอบ ไม่อายชั่ว  กลัวบาป ขี้อิจฉาริษยา เป็นต้น
                แหล่งเกิดของกรรมดี เรียกกันว่ากุศลมูลคือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ คือ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ในทางตรงข้ามแหล่งเกิดของกรรมไม่ดีคือ โลภะ โทสะ โมหะ คือ โลภ โกรธ หลง
                เมื่อทราบถึงกรรมดี กรรมไม่ดี อุปกรณ์หรือเครื่องมือทำกรรมและแหล่งของกรรมครบถ้วนแล้ว ขอให้พิจารณาถึงความเป็นจริงในชีวิตประจำวันว่าการการะทำทางกาย วาจา ใจ ส่วนใหญ่เป็นความดี หรือความไม่ดี ถ้าดีมากกว่าไม่ดี ก็จะมีความสุขใจ สบายใจ ไม่เดือดร้อนในสิ่งที่ไม่น่าจะเดือดร้อน เรียกว่า ได้ภพภูมิที่ดี ในทางตรงกันข้ามถ้าไม่ดีมากกว่าดี ก็จะมีแต่ความไม่สบายใจ เดือดร้อนใจ เรียกว่า ได้ภพภูมิที่ไม่ดี ความสุขหรือความทุกข์จึงเป็นเรื่องของกรรมลิขิตให้เป็นไปตามที่เจ้าของชีวิตกระทำเอง หากต้องการให้กรรมลิขิตในทางดีก็ต้องทำดี กรรมลิขิตให้ไม่ดีก็เพราะทำไม่ดี จะเลือกทางดีหรือ ทางไม่ดี ก็ย่อมให้กรรมลิขิตได้ตามประสงค์

.......................................

เทวดาเดินดิน


                มีความเชื่อกันว่า เทวดาเป็นชีวิตประเภทหนึ่งที่เกิดในภพสูงกว่ามนุษย์ สถิตอยู่บนสวรรค์ มีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายกว่ามนุษย์มาก อุปโภคบริโภคแต่สิ่งของที่เป็นทิพย์ เหาะไปได้ตามปรารถนา ด้วยความเป็นอยู่ที่พิเศษดังกล่าว มนุษย์จำนวนมากเมื่อทำบุญหรือทำความดีจึงมักตั้งจิตอธิษฐานเพื่อให้ตนไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์
                เทวดาดังกล่าว เป็นภาวะที่มนุษย์จะพึงได้เกิดได้เป็นหลังตายจากโลกนี้ไปแล้ว เป็นเรื่องไกลตัว พิสูจน์ยากและยากที่จะรับประกันได้ว่า ทำบุญขนาดไหนจึงจะได้ไปเกิดเป็นเทวดา อย่างไรก็ตามพระพุทธศาสนามีแนวคำสอนอยู่ว่า มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงภาวะได้ด้วยแรงกรรมคือความประพฤติของตนเอง เช่น ถ้าใครประพฤติตนเป็นคนขี้ลักขโมย เขาก็จะเปลี่ยนภาวะเป็นโจรทันที ถ้าใครขยันศึกษาเล่าเรียน เขาก็จะเป็นบัณฑิต ถ้าใครบวชแล้วรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ เขาก็จะเป็นภิกษุ และถ้าใครมีความละอายใจที่จะทำชั่ว พร้อมทั้งกลัวผลร้ายที่จะเกิดขึ้นหลังจาทำชั่วนั้น คุณธรรมในใจเช่นนี้ พระท่านเรียกว่า หิริโอตตัปปะ จะมีสภาพเหมือนเกราะอันเหนียวแน่นป้องกันความชั่วทั้งปวงได้ ผู้มีสภาพจิตเช่นนี้จะเปลี่ยนภาวะเป็นเทวดาทันที โดยมีพุทธศาสนสุภาษิต ว่า
                 “หิริโอตตัปปะสัมปันนา สุกกะธัมมะ สะมาหิตา สันโต สัปปุรสา โลเก  เทวะธัมมาติ วุจจะเร
                ผู้ที่สมบูรณ์ ด้วยหิริโอตตัปปะ (ละอายชั่วกลัวบาป) มั่นคงอยู่ในกุศลธรรม สงบระงับบาปได้แล้ว ท่านเรียกว่า เป็นเทวดาในโลก
การเป็นเทวดาในโลก หรือจะเรียกว่าเป็นเทวดาเดินดินดังหัวเรื่อง เป็นเรื่องใกล้ตัว พิสูจน์ง่ายและรับประกันได้แน่นอนว่าถ้ามีคุณธรรมดังที่แสดงไว้นี้ เราก็สามารถเป็นเทวดาได้ทันที ไม่ต้องรอให้ถึงชาติหน้า และที่สำคัญที่สุดก็คือ มนุษย์เป็นเทวดาเดินดินกันมากเท่าใด โลกก็จะมีความสงบร่มเย็นมากขึ้นเท่านั้น

.......................................

มุทิตาจิต


                มุทิตาจิต หมายถึง ความเป็นผู้มีจิตใจชื่นชมยินดีในเมื่อผู้อื่นได้ดีหรือได้รับความสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอาการที่เกิดขึ้นในใจเองโดยไม่มีใครบังคับ แต่เกิดขึ้นเพราะจิตใจที่ปราศจากความอิจฉาริษยา เกิดขึ้นเพราะเป็นผู้มีปกติ ยอมรับในความดีหรือความสำเร็จของคนอื่น เพราะฉะนั้น จึงเรียกเป็นคำเต็มได้ว่า “มุทิตาจิต” คุณธรรมข้อมุทิตาจิตนี้ มิใช่ว่าจะเกิดขึ้นง่ายๆ หรือเกิดขึ้นแก่ทุกคน คนที่ทำให้จิตเกิดมุทิตาธรรมได้ ต้องเป็นบุคคลพิเศษที่สามารถยกระดับจิตใจให้สูงกว่าคนธรรมดาสามัญ เป็นคนเปิดใจกว้างยอมรับความดีของผู้อื่นและพร้อมเสมอที่จะแสดงความชื่นชมเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี ผู้ทำได้ดังนี้ทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นผู้ยกระดับจิตใจถึงขั้นระดับเป็นพรหมทีเดียว เพราะมุทิตานั้นเป็นคุณธรรมข้อหนึ่งของพรหม การแสดงออกซึ่งมุทิตาจิต มิได้หมายถึงการนำเครื่องสักการะไปถวาย การนำกระเช้าดอกไม้ไปให้ การเลี้ยงสังสรรค์กันในโอกาสต่างๆ หรือการกล่าวอวยพรกันเท่านั้น เพราะการแสดงออกเช่นนั้นเป็นเพียงเครื่องหมายที่ให้รู้ว่ามีมุทิตาธรรมอยู่ในใจ แท้จริงมุทิตานั้นจะต้องเริ่มต้นเกิดที่จิตใจก่อน เช่น แสดงความยินดีในความสำเร็จของผู้อื่น โดยเริ่มต้นจากคนในครอบครัวก่อนก็ได้ เช่น ยินดีต่อน้องๆ ที่สอบได้ ยินดีต่อพี่ๆ ที่ได้งานทำ ขยายวงกว้างออกไปจนถึงเพื่อนๆ ต่อไปถึงผู้ร่วมงาน เมื่อทำได้อย่างนี้ไม่นานมุทิตาก็จะเกิดขึ้นเต็มจิตใจและขยายกว้างออกไปจนมีเขตจำกัด ผลดีน่าอัศจรรย์ที่จะเกิดขึ้นก็คือ อาการหงุดหงิดงุ่นง่าน อันเกิดจากความอิจฉาริษยาจะหมดไปจากจิตใจ เหลือแต่ปีติที่หล่อเลี้ยงหัวใจให้ชุ่มชื่น อยู่เสมอ มุทิตาจิต เป็นยาวิเศษที่ทำให้คนเรายิ้มแย้มเข้ากันคบกันได้อย่างสนิทใจ เป็นโซ่ทองคล้องใจกันได้นานแสนนาน สมดังโคลงโลกนิติ ที่ว่า
                                มุทิตาเตือนจิตให้  คนหวัง พึ่งนา
                                แรงเคียดคนหน่ายชัง  ทั่วหนา
                                ทานเป็นยอดยายัง  เกียรติยศ ยิ่งแฮ
                                ริษยากลกำพรา  พรากผู้สมาคม
                ดังนั้น เราควรสร้างมุทิตาธรรมให้เกิดมีในจิตใจกันเถิด เพื่อสังคมจะไดสงบสุขและสดใส

.......................................

วัตถุมงคล


                ปุถุชนคนธรรมดา เมื่อเกิดความกลัวหรือไม่มั่นใจในสิ่งที่ จะทำก็มักจะแสวงหาเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เพื่อเป็นที่พึ่งให้จิตใจมีพลังที่จะต่อสู้กับปัญหาและความหวาดกลัวต่างๆ เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจดังกล่าวนี้      คนไทยโดยทั่วไปนิยมเรียกกันในสมัยนี้ว่า วัตถุมงคล
                คำว่า “วัตถุมงคล” นั้น แม้จะยังไม่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่คนส่วนมากก็เข้าใจได้ว่าหมายถึงพระเครื่อง พระบูชา เหรียญคณาจารย์ต่างๆ รวมทั้ง ตะกรุด ปลัด และวัตถุที่นับถือกันว่าขลัง และศักดิ์สิทธิ์ อีกหลายชนิด วัตถุมงคลเหล่านี้ เมื่อได้พกพาติดตัวไว้แล้วก็เกิดความอุ่นใจ สบายใจ วันไหนออกจากบ้านแล้วลืม วัตถุมงคลเหล่านั้นไว้ที่บ้าน ก็อาจจะถึงกับไม่สบายใจ ทำกิจการงานอะไรก็ ไม่มั่นใจไปเลยก็มี ในสมัยก่อนวัตถุมงคลต่างๆ นั้น หลวงพ่อ พระอาจารย์จะมอบให้ลูกศิษย์ใกล้ชิด ก็พิจารณาหลายรอบและท่านมั่นใจแล้วว่าผู้นั้น เป็นคนดีจึงจะมอบให้ และให้เปล่าๆ ไม่มี ราคาพร้อมกันนั้นก็จะกำชับสั่งสอนตักเตือนให้ลูกศิษย์เว้นจากความชั่ว ประพฤติดี แล้วพระจะคุ้มครองแต่สมัยนี้ วัตถุมงคลกลายเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง ความศักดิ์สิทธิ์ หาซื้อได้ด้วยเงินทอง ยิ่งนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาก ราคาก็ยิ่งสูงมาก การปลอมแปลงก็เกิดขึ้นมากไปด้วย หนักเข้าวัตถุมงคลก็กลายเป็น วัตถุที่ไม่เป็นมงคล คือมีวัตถุมากกว่ามงคล สำหรับชาวพุทธนั้น ท่านกำหนดคุณสมบัติพื้นฐานไว้ชุดหนึ่งมี ๕ ข้อ ๑.ศรัทธา  ๒.มีศีล  ๓.ไม่ถือมงคล ตื่นข่าวคือเชื่อกรรมไม่เชื่อมงคล  ๔.ทำบุญคือ ทำความดีตามหลักพระพุทธศาสนา  ๕.อุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา โดยเฉพาะคุณสมบัติข้อ ๓ ไม่ถือมงคลตื่นข่าวนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ควรคำนึงและตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ เรายึดวัตถุมงคลติดตัวไว้ เพื่อให้เกิดความอบอุ่นใจ และยึดเหนี่ยวใจเตือนสติไว้เสมอว่าอย่าไปทำชั่วพระท่านเห็นนะ แม้ว่าเราจะแขวนวัตถุมงคลมากมายสักปานไร ถ้าจิตใจไม่สะอาดไปประพฤติชั่วเข้าแล้ว วัตถุมงคลเหล่านั้น ก็ไม่สามารถคุ้มครองเราได้ และไม่อาจทำให้เรามีความสุขความเจริญได้เลย ถ้าเราไม่พยายามทำความดีด้วยตัวเราเองเสียก่อน

.......................................

อยู่กันด้วยเมตตา


                ในการปกครองบังคับบัญชา ธรรมะมักจะถูกนำมาอ้างอิงหรือพูดถึงอยู่เสมอ เช่น เราปกครองกันด้วยธรรมะ หรือเราอยู่กันด้วยเมตตา เป็นต้น จนบางครั้ง เป็นเหตุละเลยการกวดขันให้เป็นไปตามระเบียบหรือลงโทษผู้กระทำผิด หากใครไปกวดขันเอาจริงเข้า ก็อาจถูกมองว่าเป็นผู้ขาดเมตตาไปได้ง่ายๆ ความจริง เมื่อจะใช้สิ่งของอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็ต้องศึกษาให้รู้วิธีการเสียก่อนจึงจะใช้ถูก ธรรมะก็เหมือนกัน แต่บางคนใช้ธรรมะโดยวิธีฟังชื่อแล้วบวกเข้ากับความเข้าใจของตน เช่น พอได้ยินชื่อว่าเมตตาก็เอาประสบการณ์ และความรู้สึกเข้าจับแล้ว มองเห็นเป็นช่องเป็นชั้นว่า หมายถึงอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ ทั้งที่ความจริง เมตตาที่ถูกแท้นั้น ต้องปฏิบัติให้ครบหลักการใหญ่ที่ท่านเรียกว่า พรหมวิหาร คือ
                ๑. เมตตา ความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน
                ๒. กรุณา ความสงสาร ช่วยเหลือกันเมื่อยามประสบทุกข์
                ๓. มุทิตา ความเบิกบาน พลอยยินดีเมื่อเขามีสุข
                ๔. อุเบกขา ยึดในเหตุผล วางเฉยเพื่อรักษาความถูกต้อง
                ทั้ง ๔ ข้อนี้ต้องมีให้ครบ คือปฏิบัติข้อใดก็ต้องไม่ให้เสียถึงข้ออื่นที่เหลือ เช่น จะเมตตากรุณาก็ต้องไม่ให้เสีย อุเบกขา ไม่ให้ความผิดถูกหรือความเป็นธรรมต้องเสียไป หรืออุเบกขาวางเฉยก็เพราะเหตุสุดวิสัยจะช่วยได้ด้วยถึงคราวที่จะต้องยึดหลักการ แต่ใจนั้นยังเมตตาสงสารอยู่ ไม่โกรธแค้นชิงชัง
                ในแง่ของการปกครอง เมตตาที่ขาดอุเบกขา ก็หย่อนยานไร้สมรรถภาพ อุเบกขาที่ไม่มี เมตตาก็เครียดเป็นทุกข์ และหวาดระแวง ดังนั้น แม้จะพูดเพียงสั้นๆ ว่าเราอยู่กันด้วยเมตตา แต่ในทางปฏิบัติต้องผสมผสานกันให้ได้เป็นอย่างดีระหว่าง เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา

.......................................