วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2556

การใช้ธูปบูชาสิ่งศักดิ์สิท


การใช้ธูปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ให้ถูกจำนวน สี กาลเทศะ

                เคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่า เวลาไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตกต่างกัน ต้องใช้เครื่องบูชาอย่างไร แนวทางในการปฏิบัติที่ทำได้เอง ดังนี้
                ๑. จำนวนธูป การใช้ธูปจำนวนต่างๆ กันนั้น แตกต่างตามความเชื่อ และประเพณีแนวคิดต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมผสม ดังนั้นจึงต้องเข้าใจแก่นสารและเปลือกนอกอันเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของไทยในแต่ละแนวคิด
                แนวคิดที่หนึ่ง “ธูปหนึ่งดอก แทนหนึ่งสิ่ง” เช่น หากไหว้สามดอกก็แทน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น
                แนวคิดที่สอง “จำนวนธูปตามกำลังสิ่งศักดิ์สิทธิ์” เช่น ทางโหราศาสตร์ อาจจะใช้ธูป ๘ ดอก เป็นกำลังของราหู เมื่อไหว้ราหู หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในข่ายของราหู เช่น จตุคามรามเทพ ก็ใช้ธูป ๘ ดอก จึงนับว่าถูกต้องตามหลักกำลังของโหราศาสตร์
                แนวคิดที่สาม “จำนวนธูปตามประเภทสิ่งศักดิ์สิทธิ์” เช่น คนตายไหว้เพียงหนึ่งดอก (แทนคนๆ นั้น) แต่หากเป็นพระมหากษัตริย์จากโลกไปแล้ว จะใช้ธูป ๗ ดอก ด้วยถือเคล็ดว่า พระมหากษัตริย์จะใช้เลข ๗ เท่านั้น เช่น ฉัตรก็ใช้ ๗ ชั้น เป็นต้น นอกจากนี้ทางพราหมณ์อาจกำหนดให้จำนวนธูปที่ใช้ในการไหว้เทพแต่ละองค์แตกต่างกัน ซึ่งก็ควรไหว้ตามนั้นให้ถูกจารีตประเพณี
                ทั้งนี้ สามารถผสมผสานเลือกใช้แนวคิดทั้งสามในการเลือกจำนวนธูปได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่ถือว่าผิด เพราะถือหลักอะไรก็ได้ เป็นประเพณีเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องแก่นสารธรรมที่จะมาบอกว่าถูกหรือผิดประการใด
                ๓. สีของธูป ปกติเรามักเห็นธูปมีสีเดียวตามที่ขายอยู่ทั่วไป แต่หากถือเคล็ดตามโหราศาสตร์แล้วละก็ การใช้สีเดียวกันกับทุกอย่างเป็นสิ่งไม่ดี เช่น การบูชาราหู ทุกอย่างควรเป็นสีดำเท่านั้น หรือการไปงานมงคลสมรสของชาวจีน ทุกอย่างควรเป็นสีแดง ดังนั้นธูปก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะละเลยไม่ได้ เพื่อให้ถูกต้องตามจารีตประเพณีต้องทำความเข้าใจว่า ควรเลือกสีธูปให้เหมาะกับกิจการต่างๆ ดังนี้
                                - ธูปสีทอง ใช้บูชาสิ่งสูงสุด คือ พระรัตนตรัย พระอรหันต์ พระพุทธเจ้า การไหว้ด้วยธูปสีทองนี้ใช้ไหว้ได้ทุกวันยิ่งดี เพราะทำให้จิตใจบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น
                                - ธูปสีม่วง ใช้บูชาดวงวิญญาณลึกลับที่คุ้มครองเรา เช่น เจ้าที่ พระภูมิ การไหว้ด้วยธูปสีม่วงนี้ เพื่อขออำนาจสิ่งลี้ลับที่อยู่ใกล้ชิดเรามากกว่าพระพุทธซึ่งเข้านิพพานแล้ว ให้ท่านมาสะสมบุญบารมี โดยช่วยเหลือเราในกิจการงานต่างๆ
                                - ธูปสีดำ ใช้บูชาเฉพาะราหูเท่านั้น หรือในงานศพก็นับว่าใช้ได้ หรือใช้กับเทพบางองค์ที่นับว่าชงเข้ากับสีดำ ในกรณีดวงตก มีคราวเคราะห์ ก็ให้บูชาราหูด้วยธูปดำเพื่อลดหย่อนผ่อนโทษ
                                - ธูปสีเขียว ใช้บูชาเทพต่างๆ ที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนา และไม่ใช่ราหู แต่ใช้ในกรณีขอพรให้มีความเจริญรุ่งเรืองงอกงาม หรือสุขภาพดี
                                - ธูปสีชมพู ใช้บูชาเทพต่างๆ ที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนา และไม่ใช่ราหู แต่ใช้ในกรณีขอพรให้มีความรักใคร่สามัคคีปรองดอง ให้สิ่งดีๆ ยั่งยืนยาวนาน
                                - ธูปสีเหลือง ใช้บูชาเทพต่างๆ ที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนา และไม่ใช่ราหู แต่ใช้ในกรณีขอพรให้มีความคิดสร้างสรรค์ ฉลาด มีปัญญาเฉียบแหลม
                                - ธูปสีแดง ใช้ในงานมงคลสมรสของชาวจีนเท่านั้น ไม่ใช้ในกรณีของงงานอื่นๆ นอกจากเทพบางองค์ที่ชงกับสีแดงจริงๆ ก็สามารถเลือกใช้ได้ตามวาระ
                                - ธูปสีปกติ มักใช้ทั่วไปไม่เฉพาะเจาะจง และไม่จำกัดว่าไหว้อะไร
                ๓. โอกาสในการไหว้ (กาลเทศะ) บางครั้งที่บ้านท่านอาจมีวัตถุมงคลจำนวนมากมากก่ายกองรวมกันอยู่ที่หิ้งพระ ซึ่งไม่ค่อยดีเลย ทั้งในแง่ของการรับและแผ่พลัง บางท่านแนะนำให้เลือกบางย่างที่ถูกโฉลกกับเราจริงๆ แต่มันก็อดใจไม่ได้ที่จะบูชาอย่างอื่นด้วย หรือบางครั้งใครๆ ก็ให้มา ไม่รับก็ไม่ได้ จะทำอย่างไรดี จึงจะบูชาได้เหมาะสม
                                - ประเภทที่ควรบูชาทุกวัน คือ พระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันหมายรวมถึงพระอรหันต์องค์ต่างๆ เช่น หลวงปู่ทวด เป็นต้น ใช้ใช้ธูปสีธรรมดา หรือสีทอง เพื่อเน้นว่าบูชาอย่างสูงสุด
                                - ประเภทที่มักบูชาทุกวัน คือ พระภูมิเจ้าที่ ดวงวิญญาณ พ่อ-แม่ บรรพบุรุษ ที่มักมีศาลเล็กๆ ไว้ในบ้าน ซึ่งชนเชื้อสายจีนนิยมกราบไหว้ทุกวัน ให้ใช้ธูปสีม่วงเพื่อดึงเอาพลังอำนาจมาช่วยกิจการงาน
                                - ประเภทบูชาเมื่อดวงกำลังขึ้น ใช้บูชาเทพเจ้าได้ทุกองค์ตามต้องการ จะให้ช่วยเรื่องอะไรให้เลือกเทพให้ถูกองค์ เช่น เทพที่เน้นค้าขายก็ให้ขอเรื่องค้าขาย เทพที่เน้นสุขภาพก็ให้ขอเรื่องสุขภาพ เช่น หากบูชาตรีมูรติ ให้บูชาองค์พระศิวะ หรือพระพรหมก็ได้ ให้หนุนสร้างสิ่งใหม่ๆ เป็นต้นว่า เปิดกิจการใหม่ บริษัทใหม่ เริ่มงานใหม่ ฯลฯ ให้ใช้ธูปสีเขียวแสดงถึงความเจริญงอกงาม รุ่งเรือง มีสุขภาพดี สดใส แรกแย้ม
                                - ประเภทบูชาเมื่อดวงดีอยู่แล้ว ให้บูชาเทพที่ช่วยปกปักรักษา เช่น หากเป็นตรีมูรติ ให้บูชาพระวิษณุ เพื่อขอให้สิ่งดีงามที่มีอยู่แล้วยั่งยืนถาวรต่อไป มีความรักความอบอุ่นในครอบครัว มีความสามัคคีปรองดองให้ยั่งยืนสืบนาน ให้ใช้ธูปสีชมพูแสดงถึงความรักความผูกพันสามัคคีปรองดอง การปกปักรักษา
                                - ประเภทบูชาเมื่อดวงกำลังตก ให้บูชา “ราหู” เพื่อสะเดาะเคราะห์ ขอให้ท่านลดหย่อนผ่อนโทษให้เรา ให้วิบากกรรมเราผ่าไปเร็วๆ และเบาบางลง บางท่านอาจบูชาราหูอยู่แล้ว หรือมีราหูไว้บูชา เช่น จตุคามรามเทพ ก็จัดเป็นราหู ให้ใช้ธูปสีดำเท่านั้น จึงจะถูกหลักการบูชาราหูที่ถูกต้อง
                จำง่าย ๆ ดังนี้
                 ๑. ไหว้ทุกวัน
                                ไหว้บนฟ้า เช่น พระรัตนตรัย ใช้ธูปสีทอง
                                ไหว้บนดิน เช่น ศาลพระภูมิ ใช้ธูปสีม่วง
                ๒. ไหว้ตามวาระดวง
                                ดวงกำลังขึ้น ไหว้เทพที่หนุนกิจในเรื่องที่กำลังทำอยู่ ใช้ธูปสีเขียว
                                ดวงดีอยู่แล้ว ไหว้เทพที่คุ้มครองในเรื่องที่กำลังทำอยู่ ใช้ธูปสีชมพู
                                ดวงกำลังตก ไหว้เทพราหู หรือจตุคามรามเทพก็ได้ ใช้ธูปสีดำ
                ๓. ไหว้ตามวาระโอกาสพิเศษ
                                งานแต่งงานชาวจีน ใช้ธูปสีแดง เท่านั้น
                                ต้องการความฉลาดมีปัญญา ใช้ธูปสีเหลือง
.................................................

หลักการทำสังฆทานสด (พระราชสิงห์โห)




                ๑. ดอกไม้ให้ครบสามสี (ห้ามดอกกุหลาบ ดอกเข็ม เพราะว่ามีหนาม เปรียบเหมือนเข็มทิ่มแทง จะใช้ดอกไม้นี้สำหรับงานไหว้ครู จะได้มีสติปัญญาเฉียบแหลม สำหรับสังฆทานห้าม)
                ๒. ธูปเทียน
                ๓. น้ำ
                ๔. กับข้าว ๕ อย่าง ใส่ถุงอย่างละถุง
                ๕. ขนมหวาน หรือผลไม้ ๕ อย่าง
                ๖. ข้าวสวยใส่ถุง อย่างน้อย ๑ ถุง
                ๗. ปัจจัย (เงิน ให้เกินอายุไม่ต่ำกว่า ๑ บาท จะเป็นการค้ำอายุ)
                ๘. ให้ทำในวันเกิดในรอบสัปดาห์ เช่น เกิดวันจันทร์ ก็ให้ทำในวันจันทร์
                ๙. ให้ทำอย่างน้อยเดือนละครั้ง หรือมากกว่า ตามแต่โอกาส โดยจะต้องไม่เดือดร้อนเรื่องเงินที่จะซื้อสังฆทาน ไม่ใช่ทำแล้วไม่มีเงินซื้อข้าวกิน หรือต้องกู้เงินมาซื้อสังฆทาน เพราะจะเป็นการเบียดเบียนตัวเอง ทำให้เกิดทุกข์ ควรพร้อมทั้งกาย-ใจ และกำลังทรัพย์ (ถ้าทำด้วยเครื่องกระป๋อง ต้องเปิดฝาเสียก่อน)
                การทำสังฆทานสด ต้องทำก่อนเพล เพราะพระรับแล้วจะได้ฉันเพล ถ้าพระฉันไม่หมดต้องให้เป็นทานไป ถ้านำไปเลี้ยงคนที่ถือศีล (คนที่มาถือศีลในวัด) เขาจะให้พรและแผ่เมตตาให้ เราก็จะได้บุญอีกต่อเนื่อง หรือให้คนเฒ่าคนแก่ไป เขาก็จะให้พร หรือเอาไปให้ทานเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะได้อานิสงส์มากกว่าการทำบุญตักบาตรทุกวัน เพราะสังฆทานนี้ ถ้าเราเจาะจงอุทิศไปให้ใครโดยตรง เขาก็จะได้รับเต็มๆ เปรียบเสมือนเรามีน้ำอยู่แก้วหนึ่ง ถ้าเราอุทิศให้กับผู้ที่เราตั้งใจให้ ให้เขาดื่มหมดแก้ว เขาจะรู้สึกชื่นใจมากกว่าที่เราอุทิศให้หลายคน เพราะอย่างน้ำจะต้องถูกแบ่ง หรือต้องให้เขาจิบน้ำคนละจิบ เขาจึงยังไม่ทันได้ชื่นใจ
                เวลาทำสังฆทาน ต้องทำจิตใจให้เป็นบุญ คือ ทำใจให้สบาย ไม่หงุดหงิดทะเลาะกัน เป็นกิริยาบุญแล้วเราจะได้บุญเต็มที่ และจะได้มีสายบุญไว้ เวลาที่เจอพระ (ผู้มีอภิญญา) เมื่อเรามีปัญหา ท่านจะได้ช่วยได้ง่าย ท่านจะได้ไม่เหนื่อยมากเพราะต้องใช้พลังจิตสูง เมื่อเราช่วยตัวเองครึ่งหนึ่ง พระช่วยเราครึ่งหนึ่งมักจะได้ผล  การช่วยคนที่มีเคราะห์นั้น พระจะต้องแผ่บารมี การช่วยคนที่มีทุกข์ บางเรื่องท่านก็ต้องรับเอาเคราะห์กรรมนั้นไว้เอง ถ้าเจ้าตัวช่วยด้วยอีกแรงพระท่านก็จะเบาลง
                สังฆทานสดนี้ ถ้าเราได้ทำกับพระที่ปฏิบัติแล้ว (มีฌาณ) ท่านจะรู้และจะเห็นเจ้ากรรมนายเวรของเรา บางครั้งจะเห็นเขามารับส่วนบุญ ถ้าเขาขาดเหลืออะไร หรือเราทำอะไรไม่ถูกต้องครบถ้วน เขาจะสื่อให้พระท่านทราบ แล้วท่านจะบอกให้เราแก้ไขเสีย
                สังฆทานสดที่ทำนี้ ถ้าเราตั้งใจอุทิศให้ใคร ทั้งที่มีชีวิตอยู่ หรือไม่มีชีวิตอยู่ก็ดี อาจจะเป็นเจ้ากรรมนายเวร ศัตรู ลูกค้า ลูกหนี้ คนที่ไม่ถูกกัน หรือโดนกลั่นแกล้ง คู่ความ เจ้านาย ลูกน้อง ฯลฯ จะทำให้จิตใจเขาอ่อนลงมีเมตตาเรา จากสถานการณ์ร้ายๆ จะกลับกลายเป็นดี หรือเวลาเราไปติดต่อธุรกิจ ก็มักจะได้ผลในเชิงบวกเสมอ
                เวลาเราอุทิศหรือกรวดน้ำไปให้ ข้อสำคัญที่สุด ห้าม แช่งด่าเด็ดขาด เพราะหากทำเช่นนั้น เรากับเขาจะต้องได้รับไปคนละครึ่ง ดังนั้น การกรวดน้ำอุทิศไปให้ใคร ให้เราให้พร และแผ่เมตตาให้เขามีความสุขความเจริญทุกข์ก็ขอให้พ้นจากทุกข์ สุขก็ขอให้สุขยิ่งๆ ขึ้นไป คิดสิ่งใดให้สมปรารถนา เพราะเมื่อเขาดีขึ้นก็จะไม่มาเบียดเบียนเรา แล้วจะส่งผลให้สิ่งที่เราวาดหวังไว้สำเร็จ
                สังฆทานสดไม่จำเป็นต้องไปทำที่วัด ถ้าเรามีเวลาน้อย ก็ทำกับพระที่กำลังบิณฑบาตอยู่ก็ได้ให้บอกกับท่านว่าเราจะทำสังฆทาน ท่านจะให้พรตอนนั้นหรือไม่ก็แล้วแต่ ไม่ต้องกังวล ถ้าให้พรเราก็กรวดน้ำไป ถ้าไม่ให้พรตอนนั้น เราค่อยกรวดน้ำทีหลัง หรือไม่กวดก็ยังได้ เพราะเพียงเราตั้งจิตอธิษฐานอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลที่เราทำไปให้ใคร มันก็สำเร็จแล้ว แต่ถ้าเรามีเวลาไปที่วัด บางวัดจะต้อให้เรารับศีลก่อนแล้วค่อยทำสังฆทาน ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะเป็นการดีมาก เพราะเราจะได้ถือศีลด้วย อย่าทำเพราะกลัวตาย อย่าทำเพื่อหลังผล อย่าทำเพราะอยากได้ ให้ทำด้วยจิตบริสุทธิ์ หรือตั้งใจจริง ต้องมีความเชื่อ ความนับถือ ความศรัทธา เป็นพื้นฐานการทำสังฆทานถือศีล ภาวนา นั้น ต้องถือให้จริง ทำให้จริง แล้วจะได้ผลดีจริงๆ
                สังฆทานสดได้ผลมากกว่าสังฆทานที่ทำทั่วไป อธิบายได้ว่า
                สังฆทาน คือ การทำบุญอุทิศให้กับผู้ที่เราเฉพาะเจาะจง พระก็เปรียบเสมือนสื่อกลางที่สำคัญ ถ้าพระท่านได้ใช้เลยหรือฉันเลย ก็จะทำให้ผู้ที่เราเจาะจงทำสังฆทานได้รับของจากเรา หรือได้รับบุญที่เราทำให้ในทันทีแต่ปัจจุบันนี้ สังฆทานที่เป็นกระป๋อง นานๆ ทีพระจึงจะนำมาใช้ หรือบางครั้งก็เอาไปขาย บางครั้งก็เอาไปเวียนกลับมาทำใหม่ ซึ่งคนที่เขารอก็ไม่ได้ของ ไม่ได้บุญที่เราทำให้ หรือกว่าจะได้ก็ช้า ทำให้ได้ผลช้า
                เพราะฉะนั้น การทำสังฆทานสด จึงให้ผลเร็ว เพราะพระท่านฉันเลยใช้เลย และถ้าไม่หมดก็ให้ทาน ซึ่งเราก็จะได้อานิสงส์ในทานนั้นต่ออีกด้วย
.................................................

เลือกของใส่บาตร และบทสวดมนต์ตามวันเกิด




วันอาทิตย์
                อาหารคาว  ประเภทไข่ ไข่ดาว ไข่เจียว ไข่ลูกเขย ไข่ต้ม แกงกะทิ
                อาหารหวาน  ไข่หวาน มะพร้าวอ่อน มะพร้าวแก้ว ขนมใส่กะทิ น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะพร้าว น้ำขิง เงาะ
                ของถวายพระ  หลอดไฟ ไฟฉาย เทียน ธูป อุปกรณ์แสงสว่าง แว่นตา หมากพลู
                ไหว้พระ  ปางถวายเนตร (พระประจำวันเกิด) กำลังวันเท่ากับ ๖
                                บทสวดบูชาแบบย่อ อะ วิช สุ นุส สา นุส ติ  สวด ๖ จบ
                ทำทาน  เติมน้ำมันตะเกียงตามวัด คนตาบอด โรงพยาบาลโรคตา มูลนิธิคนตาบอด โรงพยาบาลโรคหัวใจ มูลนิธิโรคหัวใจ
                พฤติกรรม  ออกรับแสงอาทิตย์อ่อนๆ ช่วงเช้าหรือเย็นๆ เพื่อให้เกิดพลัง อย่าใจร้อน เลิกทิฐิ ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น

วันจันทร์
                อาหารคาว  ประเภทสัตว์ปีก สัตว์น้ำ เช่น ไก่ผัดขิง ไก่ย่าง ไก่ทอด ปูผัดผงกระหรี่ ปูนึ่ง ข้าวมันไก่ ข้าวผัดปู เต้าหู้ทอด แกงจืดเต้าหู้ แกงเผ็ด เป็นย่าง ปลาสลิดทอด
                อาหารหวาน  น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง น้ำอ้อย โดนัท นมสด นมกล่อง เผือก มัน ลางสาด ขนมเปี๊ยะ
                ของถวายพระ  แก้วน้ำ แจกัน ของโปร่งๆ ใสๆ
                ไหว้พระ  ปางห้ามญาติ (พระประจำวันเกิด) กำลังเท่ากับ ๑๕
                                บทสวดบูชาแบบย่อ อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา  สวด ๑๕ จบ
                ทำทาน  มูลนิธิช่วยเหลือสตรี
                พฤติกรรม  ทำจิตให้สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ อย่าวิตกกังวลเกินเหตุ ให้ความช่วยเหลือแก่สตรี เช่น ลุกให้ที่นั่งบนรถเมล์ บริหารกล้ามเนื้อหน้าอกให้แข็งแรง

วันอังคาร
                อาหารคาว  ประเภทเส้น ขนมจีน วุ้นเส้น บะหมี่ ก๋วยเตี๋ยว เนื้อวัว ปลาช่อนตากแห้งทอด
                อาหารหวาน  ฝอยทอง สลิ่ม ลอดช่อง ทุเรียน ระกำ ขนุน น้ำอัดลมใส
                ของถวายพระ เหล็ก เครื่องมือประเภทเหล็ก กรรไกร แปรงสีฟัน ยาสีฟัน พัดลม กรรไกรตัดเล็บ
                ไหว้พระ  ปางไสยาสน์ (พระประจำวันเกิด พระนอน) กำลังเท่ากับ ๘
                                บทสวดบูชาแบบย่อ ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง  สวด ๘ จบ
                ทำทาน  คนพิการปากแหว่าง ผู้ป่วยโรคลมชัก
                พฤติกรรม  ทำตัวให้กระฉับกระเฉง ตื่นตัว ขยันให้มากขึ้น ลดอารมณ์ร้อน ละเว้นการชิงดีชิงเด่น

วันพุธ
                อาหารคาว  เน้นสีเขียว แกงเขียวหวานหมู หมูปิ้ง หมูทอด ผัดพริกหมูคะน้าน้ำมันหอย
                อาหารหวาน  ขนมเปียกปูนเขียว น้ำฝรั่ง ชมพู่เขียว องุ่นเขียว มะม่วงเขียวเสวย ฝรั่ง ชามะนาว
                ของถวายพระ สมุด กระดาษ ปากกา ดินสอ อุปกรณ์การเรียน การศึกษา
                ไหว้พระ  ปางอุ้มบาตร (พระประจำวันเกิด) กำลังเท่ากับ ๑๗
                                บทสวดบูชาแบบย่อ ปิ สัม ระ โล ปุ ลัต พุท  สวด ๑๗ จบ
                ทำทาน  คนพิการทางหู โรงพยาบาลโรคสมอง โรงเรียนสอนคนหูหนวก
                พฤติกรรม  อ่านหนังสือธรรมะ ร้องเพลง ฝึกสร้างความมั่นใจให้ตนเอง

วันพุธ (กลางคืน)
                อาหารคาว ของหมักดอง ผักกาดดองผัดไข่ อาหารกระป๋อง แกงใบยอ หมูยอ แหนม ไข่เยี่ยวม้า ห่อหมก
                อาหารหวาน  ข้าวหมาก ขนมเปียกปูนดำ เฉาก๊วย ข้าวเหนียวดำ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ทุเรียน ผลไม้หัวโตๆ
                ของถวายพระ พัดลม เทปธรรมะ ยาแก้โรคลม ยาหอม
                ไหว้พระ  ปางป่าเลไลย์ (พระประจำวันเกิด) กำลังเท่ากับ ๑๒
                                บทสวดบูชาแบบย่อ คะ พุท ปัน ทู ธัม วะ คะ สวด ๑๒ จบ
                ทำทาน  มูลนิธิหรือหน่วยงานที่เกี่ยวกับยาเสพติด
                พฤติกรรม  เลิกบุหรี่ เลิกดื่มหรือลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เลิกการพนัน เลิกทำตัวเหลวไหล เลิกเที่ยวกลางคืน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทุกชนิด

วันพฤหัสบดี
                อาหารคาว  ประเภทเถา แกงเลียง บวบผัดไข่ น้ำเต้า
                อาหารหวาน  แตงโม แตงไทย น้ำสมุนไพร ส้ม สาลี่ น้ำมะตูม น้ำว่านหางจระเข้
                ของถวายพระ สบง จีวร หนังสือธรรมะ ตู้ยา โต๊ะหมู่บูชา
                ไหว้พระ  ปางสมาธิ (พระประจำวันเกิด) กำลังเท่ากับ ๑๙
                                บทสวดบูชาแบบย่อ ภะ สัม สัม วิ สะ เท ภะ  สวด ๑๙ จบ
                ทำทาน  โรงพยาบาลสงฆ์ บริจาคข้าวสาร เสื้อผ้า ผ้าห่มกันหนาว
                พฤติกรรม  นั่งสมาธิ สวดมนต์ ถือศีล ๕ ระวังตน อย่างพาซื่อจนเกินไป

วันศุกร์
                อาหารคาว  ประเภทของหอมหวาน ข้าวหอมมะลิ ผัดกาดหอม ไข่เจียว หอมใหญ่ ยำหัวหอม
                อาหารหวาน  ขนมหวานหอมทุกชนิด น้ำเก๊กฮวย ผลไม้ที่มีกลิ่นหอม กล้วยหอม เค้ก
                ของถวายพระ นาฬิกา โต๊ะรับแขก ดอกไม้สวยหอม ระฆัง ย่าม
                ไหว้พระ  ปางรำพึง (พระประจำวันเกิด) กำลังเท่ากับ ๒๑
                                บทสวดบูชาแบบย่อ วา โธ โน อะ มะ มะ วา  สวด ๒๑ จบ
                ทำทาน  เด็กด้อยโอกาส ให้เงิน ให้เสื้อผ้า อาหารที่หอมหวานชวนกิน เช่น ไอศกรีม
                พฤติกรรม  ทำตัวให้สดชื่นแจ่มใส บำรุงดูแลตัวเองให้ดูดีอยู่เสมอ จัดสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ สวยงาม งดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

วันเสาร์
                อาหารคาว  ประเภทของขม ของดำ มะระยัดไส้ สะเดาน้ำปลาหวาน น้ำพริกปลาทู มะเขือยาว
                อาหารหวาน  ลูกตาลเชื่อม กาแฟ โอเลี้ยง
                ของถวายพระ ร่มสีดำ กระเบื้องมุงหลังคา ไม้กวาด สร้างห้องน้ำถวายวัด
                ไหว้พระ  ปางนาคปรก (พระประจำวันเกิด) กำลังเท่ากับ ๑๐
                                บทสวดบูชาแบบย่อ โส มา ณะ กะ ระ ถา โธ สวด ๑๐ จบ
                ทำทาน  โรงพยาบาลโรคจิต โรงพยาบาลโรคประสาท
                พฤติกรรม  กวาดลานวัด ล้างห้องน้ำวัด ขยะในบ้านทิ้งทุกวัน อย่าหมักหมม ไม่เครียด มองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ
................................................