วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อริยธนคาถา


อริยธนคาถา
หันทะ มะยัง อริยะธะนะคาถาโย ภะณามะ เส
                เชิญเถิด เราทั้งหลาย มากล่าวคาถาสรรเสริญพระอริยเจ้าเถิด
.............................................
ยัสสะ สัทธา ตะถาคะเต อะจะลา สุปะติฏฐิตา
                      ศรัทธา ในพระตถาคตของผู้ใด ตั้งมั่นอย่างดี ไม่หวั่นไหว
สีลัญจะ ยัสสะ กัลยาณัง  อะริยะกันตัง ปะสังสิตัง
                      และศีลของผู้ใดงดงาม เป็นที่สรรเสริญที่พอใจ ของพระอริยเจ้า
สังเฆ ปะสาโท ยัสสัตถิ อุชุภูตัญจะ ทัสสะนัง
                      ความเลื่อมใสของผู้ใดมีในพระสงฆ์ และความเห็นของผู้ใดตรง
อะทะลิทโทติ ตัง อาหุ อะโมฆันตัสสะ ชีวิตัง
                      บัณฑิตกล่าวเรียกเขาผู้นั้นว่า คนไม่จน ชีวิตของเขาไม่เป็นหมัน
ตัสมา สัทธัญจะ สีลัญจะ  ปะสาทัง ธัมมะทัสสะนัง อะนุยุญเชถะ เมธาวี  สะรัง พุทธานะ สาสะนัง
                      เพราะฉะนั้นเมื่อระลึกได้ ถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ ผู้มีปัญญาควรก่อสร้างศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และความเห็นธรรม ให้เนืองๆ
.............................................

เขมาเขมสรณทีปิกคาถา


เขมาเขมสรณทีปิกคาถา
หันทะ มะยัง เขมาเขมะสะระณะทีปิกะคาถาโย ภะณามะ เส
                เชิญเถิด เราทั้งหลาย มากล่าวคาถาแสดงสรณะอันเกษม และไม่เกษมเถิด
.............................................
พะหุง เว สะระณัง ยันติ   ปัพพะตานิ วะนานิ จะ  อารามะรุกขะเจตยานิ  มะนุสสา ภะยะตัชชิตา
                 มนุษย์เป็นอันมาก เมื่อเกิดมีภัยคุกคามแล้ว ก็ถือเอาภูเขาบ้าง ป่าไม้บ้าง อาราม และรุกขเจดีย์บ้าง เป็นสรณะ
เนตัง โข สะระณัง เขมั  เนตัง สะระณะมุตตะมัง  เนตัง สะระณะมาคัมมะ  สัพพะทุกขา ปะมุจจะติ
                 นั่น มิใช่สรณะอันเกษมเลย นั่นมิใช่สรณะอันเกษมเลย นั่นมิใช่สรณะอันสูงสุด  เขาอาศัยสรณะ นั่นแล้ว ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
โย จะ พุทธัญจะ ธัมมัญจะ  สังฆัญจะ สะระณัง คะโต  จัตตาริ อะริยะสัจจานิ  สัมมัญปัญญายะ ปัสสะติ
                 ส่วนผู้ใดถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะแล้ว เห็นอริยสัจ คือความจริงอันประเสริฐ ด้วยปัญญาอันชอบ
ทุกขัง ทุกขะสะมุมปปาทัง  ทุกขัสสะ จะ อะติกกะมัง  อะริยัญจัฏฐังคิกัง มัคคัง  ทุกขูปะสะมะคามินัง
                 คือเห็นความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์เสียได้  และหนทางมีองค์แปดอันประเสริฐ เครื่องถึงความระงับทุกข์
เอตัง โข สะระณัง เขมัง  เอตัง สะระณะมุตตะมัง  เอตัง สะระณะมาคัมมะ สัพพะทุกขา ปะมุจจะติ
                 นั่นแหละ เป็นสรณะอันเกษม นั่น เป็นสรณะอันสูงสุด  เขาอาศัย สรณะ นั่นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
.............................................

กระดาษเปล่า


    เป็นที่รู้จักกันดีว่า กระดาษเปล่า หมายถึงกระดาษที่ ยังไม่ได้บรรจุข้อความใดๆ เป็นเพียงกระดาษเปล่า ซึ่งยังไม่มีราคาค่างวด อะไรมากนัก นอกจากราคา ตามเนื้อ ชนิดและน้ำหนัก ของกระดาษเท่านั้น แต่ถ้าบรรจุ ความรู้ทางวิชาการ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ชนิดที่เป็นตำรา ทางวิชาการสร้างสรรค์ สาขาต่างๆ กระดาษเปล่านั้น ก็จะมีคุณค่าราคา ขึ้นมาทันที หรือถ้าใช้กระดาษนั้น พิมพ์เป็นธนบัตร จะมีราคาสูงขึ้น ตามมูลค่าที่ระบุไว้ อย่างไม่น่าเชื่อ แต่ถ้าใช้กระดาษเปล่า บรรจุข้อความ ที่ไร้สาระ หรือที่ก่อความเสื่อมเสียแก่ผู้อื่น กระดาษเปล่านั้น นอกจากจะหมดราคา ในตัวเองแล้ว ยังจะเป็นกระดาษพิษอีกด้วย

           มนุษย์เราทุกคน ถ้าไม่บรรจุวิชาการ หรือคุณธรรม อย่างใดอย่างหนึ่งไว้ในตัว ก็จะเป็นเสมือน กระดาษเปล่า ถ้าบรรจุความรู้ หรือคุณธรรมไว้ในตัว จะมีคุณค่า ที่ต้องจารึกไว้ ในประวัติศาสตร์ ยิ่งถ้าบรรจุวิชา ที่ใช้ความสามารถเฉพาะตัว เช่น นักมวย นักฟุตบอล นักวิ่ง นักว่ายน้ำ นักแสดง นักการเมือง นักวิชาการ นักกฎหมาย และนักเรียน เป็นต้น ค่าของเขาก็จะสูงยิ่งขึ้น ตามความสามารถ ตรงกันข้าม ถ้าบรรจุอบายมุขไว้ในตัว จนกลายเป็น นักเลงหญิง นักเลงสุรา และนักเลงเล่นการพนัน ฯลฯ นอกจากจะเสื่อมค่า ของความเป็นมนุษย์แล้ว ยังมีผลกระทบต่อสังคม เช่นเดียวกับกระดาษเปล่า ที่บรรจุข้อความที่ไร้สาระ และเป็นโทษแก่คนอื่น

     เราทั้งหลายก็เหมือนกระดาษเปล่า คือ มีสิทธิ์ที่จะเลือกพิมพ์ หรือบรรจุทั้งสิ่งที่ดี และไม่ดี ให้กับตัวเองได้ เราจะเลือกบรรจุสิ่งใด ให้กับตัวเราเอง โปรดพิจารณาเลือกบรรจุได้ตามชอบใจ...

วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2555

กำลังใจ


      คำว่า "กำลังใจ" มีความหมายสำคัญยิ่ง สำหรับทหาร กำลังใจเป็นอำนาจการรบที่ยิ่งกว่าอาวุธ สำหรับคนเจ็บป่วย กำลังใจเป็นยาวิเศษ สำหรับคนท้อแท้สิ้นหวัง กำลังใจเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจให้สดชื่นเข้มแข็ง สำหรับนักกีฬา กำลังใจเป็นยากระตุ้นที่น่าอัศจรรย์ และสำหรับคนทั่วไป กำลังใจทำให้เชื่อมั่นกระตือรือร้น พร้อมเผชิญกับเหตุการณ์ทุกอย่าง

       กำลังใจสามารถสร้างให้เกิดได้ ๒ ทาง คือ

       ๑. โดยอาศัยปัจจัยภายนอก เช่น เมื่อสูญเสีย สิ้นหวัง ได้กำลังใจจากการเห็นใจ ปลอบโยน เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ได้กำลังใจจากการเยี่ยมเยียนห่วงใย เมื่อแข่งขัน ได้กำลังใจจากเสียงเชียร์ เมื่อทำคุณงามความดี ได้กำลังใจจากคำชมเชย เป็นต้น ซึ่งนับเป็นกำลังใจที่ต้องอิงอาศัยบุคคลอื่น หรือสิ่งอื่นช่วยสร้างเสริมให้มีขึ้น

       ๒. โดยอาศัยปัจจัยภายใน คือ ตนเองต้องเป็นผู้สร้างกำลังใจให้เกิดขึ้นเอง ด้วยการดำเนินชีวิตตามหลักธรรม ๒ แนวทาง คือ

       แนวทางแรก ยึดหลักธรรมสำหรับประคองกำลังใจมิให้ตกต่ำ กล่าวคือ "หลักตถตา - ความเป็นเช่นนั้นเอง" และหลักโลกธรรม ๘ ได้แก่ ได้ลาภ - เสื่อมลาภ ได้ยศ - เสื่อมยศ สรรเสริญ - นินทา สุข - ทุกข์ ซึ่งจะทำให้เข้าใจโลกตามความเป็นจริงว่า มีได้ต้องมีเสียควบคู่กันเสมอ ไม่หลงใหลลืมตัวหรือท้อแท้สิ้นหวัง เพราะถูกโลกธรรมฝ่ายดีและฝ่ายเสียย่ำยี ทั้งนี้ก็เพราะรู้เท่าทันตามหลักตถตาว่า โลกธรรมย่อมเป็นเช่นนั้นเอง

       แนวทางที่สอง ยึดหลักธรรมสำหรับส่งเสริมกำลังใจให้เข้มแข็ง คือ พลธรรม ๕ ประการ ได้แก่ ศรัทธา ความเชื่อมั่น วิริยะ ความเพียรพยายามมุ่งมั่นไม่ท้อแท้ สติ มีความรู้ตัว รอบคอบ ไม่ประมาทในการเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ สมาธิ มีจิตใจมั่นคง ไม่ฟุ้งซ่าน และ ปัญญา ความรู้ความเข้าใจในเหตุผล ปฏิบัติต่อสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง

       อุปสรรคย่อมเกิดขึ้นได้เสมอทั้งในการปฏิบัติงานและการดำรงชีวิต "กำลังใจ" จึงเป็นต้นทุนพื้นฐานที่ทุกคนควรมีติดตัวไว้ตลอดไป