วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

รากแก้ว

รากแก้ว
                รากที่เป็นหลักสำคัญหยั่งลึกลงไปในดิน ทำหน้าที่ดูดซึมอาหารไปเลี้ยงลำต้นและยึดต้นไม้ไว้ไม่ให้โค่นล้มเรียกว่า “รากแก้ว” ต้นไม้ยืนต้นทุกชนิดจะมีดอก ผล กิ่ง ใบ เจริญเติบโตงอกงามสมบูรณ์ได้ ก็เพราะมีส่วนสำคัญที่สุดคือรากแก้ว
                ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าสิ่งที่เปรียบเสมือนรากแก้ว ก็คือ “วินัย”  วินัยจะปรากฏออกมาในลักษณะเป็นกฎ กติกา และมารยาทในสังคม วินัยทางทหารก็คือรากแก้วของทหารทุกนายที่ต้องมีติดตัวอยู่เสมอ การที่สังคมทหารต้องมีวินัย ก็เพื่อทำให้คนที่มีภูมิหลังและมาจากสถานที่ที่แตกต่างกันนั้น ได้ถูกหล่อหลอมในเบ้าเดียวกัน ไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะทำให้คนเหล่านั้นอยู่ในแถวเป็นแนวเดียวกันได้ดีเท่ากับวินัย เพราะวินัยนั้นมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งทั้งในยามปกติและในยามไม่ปกติ วินัยทำให้คนและหมู่คณะมีระเบียบสวยงาม ทำให้กองทัพแข็งแกร่งตลอดทั้งทำให้การปฏิบัติงานทุกอย่างดำเนินไปได้อย่างไม่ติดขัด
                ดังนั้น วินัย จึงเปรียบได้กับรากแก้ว และเป็นสิ่งที่กำลังพลทหารทุกนายตั้งหมั่นสั่งสมอบรมให้เกิดมีขึ้นในตนเองในทุกสถานที่ ทุกเวลา
                                อันวินัย เปรียบได้ คล้ายรากแก้ว                      มีรากแล้ว กิ่งต้นใบ ล้วนไพศาล
                                หากขาดราก กิ่งต้นใบ อยู่ไม่นาน                    ย่อมแหลกลาญ โค่นล้ม จมปฐพี
                                อันกองทัพ เปรียบได้ คล้ายต้นไม้                   วินัย ย่อมเกรียงไกร ก่อศักดิ์ศรี
                                หากย่อหย่อน วินัย ไม่โสภี                               กองทัพนี้ ย่อมจะทรุดหยุดก้าวไกล

............................................

อาหารใจ

อาหารใจ
                เรื่องใหญ่เรื่องวุ่นวายที่ไม่รู้จักจบสิ้นในชีวิตประจำวัน คือ เรื่องอาหาร เช่น ก่อนจะไปตลาดก็ต้องคิดว่าจะกินอะไรจะซื้ออะไร เรื่องการกินจะหมุนเวียนซ้ำซากอยู่เช่นนี้ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ แม้จะเบื่อแสนเบื่อแต่ก็จะต้องทำต้องกินเพราะอาหารเป็นปัจจัยที่จำเป็นแก่ชีวิต ร่างกายจะเจริญเติบโตและสมบูรณ์แข็งแรงได้ก็เพราะอาหารบำรุงอยู่เสมอ อาหารที่กล่าวถึงนี้เป็นอาหารส่วนร่างกาย
                ยังมีอาหารอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่าอาหารใจ ส่วนมากคนมักจะมองข้ามไปเสีย วันหนึ่งๆ ก็วุ่นวายอยู่กับอาหารกาย คนให้ความสนใจกับอาหารใจน้อยมาก ความจริงแล้วอาหารใจมีความจำเป็นมากกว่าอาหารกายเสียด้วยซ้ำไป อาหารกายรับประทานวันละสามมื้อ แต่อาหารใจต้องรับประทานอยู่ตลอดเวลา คนที่ขาดอาหารใจ จะทำให้รู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่าย ไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไร บางครั้งทำให้รู้สึกกำหนัดรักใคร่ต่ออารมณ์ที่เข้ามายั่วยวนกวนใจ บางคราวทำให้รู้สึกหงุดหงิดฟุ้งซ่าน เลื่อนลอยหาหลักไม่ได้ อาการเหล่านี้เป็นอาการที่ใจขาดอาหาร ร่างกายที่ขาดอาหารจะทำให้ผ่ายผอมอ่อนระโหยโรยแรง ทำการงานอะไรก็ไม่ค่อยสำเร็จประโยชน์อย่างเต็มที่ ฉันใดใจที่ขาดอาหารก็ฉันนั้น
                อาหารใจ หมายถึง อารมณ์ที่เกิดกับใจ มีสองอย่างคือ อารมณ์ฝ่ายเสียกับอารมณ์ฝ่ายดี อารมณ์ฝ่ายเสีย เช่น ความละโมบโลภมาก ความเศร้าหมองขุนเคือง ความริษยาพยาบาท เหล่านี้เป็นอารมณ์ฝ่ายเสีย ทำให้เป็นพิษเป็นภัยแก่จิตใจ เป็นเชื้อโรคที่ทำลายแรงใจ ทำให้จิตใจทรุดโทรม ส่วนอารมณ์ฝ่ายดี เช่น ความมานะพยายาม ความต่อสู้อดทน ความซื่อสัตย์สุจริต ความร่าเริงแจ่มใส ความเมตตากรุณา เหล่านี้เป็นอารมณ์ฝ่ายดี ถ้าใจได้ดื่มด่ำอยู่กับอารมณ์เหล่านี้ โรคร้ายทั้งหลายก็จะไม่มากล้ำกราย จิตใจก็จะเข้มแข็งสมบูรณ์ สามารถประกอบกิจการงานด้วยความผาสุก
                อย่าลืมเตือนตัวเองว่า วันนี้ได้ให้อาหารใจกับตัวเองหรือยัง

............................................

ลายแทง

ลายแทง
                โดยทั่วไปมักเข้าใจกันว่า ขุมทรัพย์หรือแหล่งที่เกิดที่เก็บทรัพย์ มักถูกฝังซ่อนไว้ในที่ลับตาหรือที่ห่างไกลผู้คน ในการขุดค้นขุมทรัพย์จึงต้องอาศัยลายแทงบอกเส้นทางที่เก็บรักษาขุมทรัพย์นั้นๆ ลำพังอาศัยแต่เพียงความโลภหรือคำเล่าลือเป็นลายแทง แล้วสุ่มขุดค้นขุมทรัพย์ในที่ต่างๆ นอกจากจะไม่พบขุมทรัพย์แล้ว ยังเสี่ยงต่อการถูกหลอก ทำให้เสียรู้ เสียทรัพย์ เสียเวลา และเสียคนได้
                จากพุทธศาสนสุภาษิตที่เปรียบได้กับลายแทงขุมทรัพย์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ชีวิตคนเราแต่ละคนนั้นมีคุณค่าในฐานะเป็นทรัพยากรอันยิ่งใหญ่ หากฉลาดใช้ให้ดีและคุ้มค่าย่อมเป็นแหล่งเกิดทรัพย์และสิ่งอันพึงปรารถนาทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์ และชื่อเสียงเกียรติคุณ แต่การที่ชีวิตบางคนต้องประสบกับความวิบัติและทุกข์โทษต่างๆ ไม่สามารถนำพาชีวิตไปสู่จุดหมายปลายทางที่ดีได้ ก็เพราะมีความประพฤติผิดบางอย่างฉุดรั้งชีวิตให้ตกต่ำ ทั้งยังเป็นอุปสรรคกีดขวางมิให้ใช้ชีวิตให้เกิดคุณค่าสมเป็นทรัพยากรอันยิ่งใหญ่ได้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ว่ากล่าวชี้โทษและคอยห้ามปรามสิ่งผิด ชี้แนะสิ่งถูกให้ปฏิบัติ จึงเปรียบได้กับผู้ที่ช่วยรื้อขนอุปสรรคเครื่องกีดขวางออกจากชีวิต ทำให้มองเห็นขุมทรัพย์ภายในตัวได้สะดวกขึ้น
                ผู้แสวงหาขุมทรัพย์ภายนอกคงต้องยอมลำบากเดินทางไกลไปขุดค้นขุมทรัพย์ ตามลายแทงแหล่งขุมทรัพย์นั้นๆ ส่วนผู้แสวงหาขุมทรัพย์ภายใน ซึ่งถือเป็นขุมทรัพย์ของชีวิต คงไม่ต้องยากลำบากอะไร เพียงแต่ยินดีให้ผู้ที่ชี้โทษและยินยอมน้อมรับไปปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง แต่สำหรับผู้ที่ยืนยันจะประพฤติผิดๆ โดยไม่คิดแก้ไข และไม่ใส่ใจคำชี้แนะตักเตือน ด้วยเข้าใจผิด หวังว่าจะไปแสวงหาขุมทรัพย์ของชีวิตข้างหน้าและถูกลงโทษลงทัณฑ์ วันนั้นอาจจะเป็นวันที่พบขุมทรัพย์เมื่อสายเสียแล้วก็เป็นได้

............................................

ลักษณะของความจริง


                สัจธรรมความดี คือสัจจะ นั้นได้แก่ ความจริง ความตรง ความแท้ เมื่อเป็นอัธยาศัยและความประพฤติของบุคคลก็มีคุณลักษณะเป็นห้าอย่าง
                ๑.ความจริงต่อการงาน ทำอะไรทำจริงไม่ย่อท้อ มีสมบัติแห่งความเพียรสามประการอันได้แก่ ความพยายาม ความอุตสาหะ และความบากบั่น
                ๒.ความจริงต่อหน้าที่ ได้แก่ การทำจริงและถูกต้องสมควรในการงานที่ตนรับผิดชอบ ซึ่งเรียกว่าหน้าที่ ไม่ประมาท ไม่หลีกเลี่ยง ไม่บิดเบือน และไม่ทำแบบกลิ้งกลอกหลอกลวง ถ้าเป็นหน้าที่เกี่ยวกับการเก็บรักษาผลประโยชน์ก็ทำการโดยสุจริตเที่ยงตรง ไม่คดโกงฉ้อราษฎร์บังหลวง ถ้าเป็นหน้าที่ตัดสินคน เช่น หน้าที่ตุลาการซึ่งวินิจฉัยข้อเท็จจริงของบุคคลก็ดี หน้าที่ผู้ปกครองซึ่งต้องดูแลรับผิดชอบทุกข์สุขของผู้อยู่ในปกครองก็ดี ก็ทำการโดยยุติธรรม ไม่ลำเอียงเพราะความรัก ความชัง ความเขลาขลาด และความหวาดกลัว
                ๓.ความจริงต่อวาจา ได้แก่ รักษาให้ได้จริงตามวาจาที่ตกลง เรียกสั้นๆ ว่ารักษาวาจา มีสามสถานคือ รักษาคำสาบาน รักษาปฏิญาณ และรักษาสัญญา
                ๔.ความจริงต่อบุคคล ได้แก่ ซึ่งตรงต่อมิตร สวามิภักดิ์ต่อเจ้าแห่งตน และกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ
                ๕.ความจริงต่อความดี ได้แก่ ประพฤติความดีอย่างใดก็ประพฤติจริงให้เป็นอัธยาศัยเนื้อแท้ของตนอย่างนั้นจริงๆ ไม่โลเล ไม่สับปลับ ไม่วาดหวั่นง่อนแง่น ไม่ทำเพื่อจะอวด ไม่ทำเพื่อเอาหน้าและไม่ทำอย่างลวงโลก
                ความจริงห้าประการนี้มีในท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นชื่อว่าตั้งมั่นในสัจธรรม เป็นพลังให้ทำการต่างๆ สำเร็จได้ดีตามประสงค์ ย่อมทำให้คนทั้งหลายเกิดความเชื่อถือ ความเคารพรัก สักการะนับถือไม่เสื่อมคลายไม่จืดจางและให้เกิดรสอย่างซาบซึ้งในความดีของผู้มีสัจธรรมอย่างอมตะ ดังพุทธภาษิตว่า
                “สัจจัง หะเว สาธุตะรัง ระสานัง ความสัตย์มีรสดียิ่งกว่ารสทั้งหลาย”

............................................