วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

วิธีนอนให้หลับ


                ในวงการแพทย์ถือว่า การพักผ่อนที่ดีที่สุด คือการนอนหลับ การนอนหลับเป็นยาขนานวิเศษ บำบัดความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าของร่างกาย เมื่อเราหลับสนิท พอตื่นขึ้นมาอาการเมื่อยล้าก็หายไป ใครที่เป็นโรคนอนไม่หลับ จะรู้สึกว่ามันแสนจะทรมานจริงๆ แล้วจะทำอย่างไรจึงจะหลับ ก่อนอื่นจะต้องทราบว่า หลับเป็นอาการเกี่ยวพันระหว่างกายกับใจ เมื่อใจหลับกายหลับ คืออาการที่จิตได้พักผ่อนหรือเข้าสู่ภวังค์ เราจึงเรียกว่าหลับ
                ตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาท่านแสดงไว้ว่า จิตมีหน้าที่ ๔ อย่างคือ รับอารมณ์ที่มากระทบ จำสิ่งที่เกิดกับจิต คิดเรื่องราวต่างๆ และรู้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏแก่จิต สรุปลงเป็น ๔ คำ ง่ายๆ ก็คือ รับ-จำ-คิด-รู้ จะเป็นอย่างนี้อยู่ตลอดเวลาขณะที่ไม่หลับ ดังนั้น เมื่อต้องการนอนให้หลับเราจึงต้องทำให้จิตหยุดรับ หยุดจำ หยุดคิด และหยุดรู้ มีผู้รู้แนะวิธีปฏิบัติไว้ดังนี้
                ๑.อ่านหนังสือ คือขณะที่นอนก็หาหนังสือมาอ่านยิ่งเป็นเรื่องที่อ่านยากๆ มีสำนวนที่เข้าใจยากยิ่งดี ข้อความในหนังสือจะบังคับให้จิตรวมเข้าสู่จุดเดียว ตัดเรื่องยั่วยุอื่นๆ แล้วคิดแต่เรื่องในหนังสือก็จะทำให้หลับได้
                ๒.ถืออานาปานสติ คือขณะนอนให้เอาสติมาดูใจตัวเอง ใจอยากคิดอะไรก็คิดไป ปล่อยให้คิดอิสระพยายามให้สติตามกำหนดรู้ทุกขณะอย่าให้เผลอ เมื่อเผลอให้เริ่มต้นใหม่ ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ประเดี๋ยวใจก็ไม่อยากคิดแล้ว หยุดพักและก็หลับในที่สุด
                ๓.เอาสติตามดูใจ คือขณะนอนให้เอาสติตามดูใจตัวเอง ใจอยากคิดอะไรก็คิดไป ปล่อยให้คิดอิสระพยายามให้สติตามกำหนดรู้ทุกขณะอย่าให้เผลอ เมื่อเผลอให้เริ่มต้นใหม่ ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ประเดี๋ยวใจก็ไม่อยากคิดแล้วหยุดพักและก็หลับในที่สุด
                ๔.ใส่ใจสวดมนต์ คือขณะที่นอนให้สวดมนต์ในใจ สวดแบบที่พระสงฆ์ท่านสวด โดยใช้จังหวะสวดแบบเนิบนาบ สวดมนต์ไปเรื่อย อย่าให้หลงบทสวด กระทั่งจิตหยุดพักแล้วก็จะหลับไปเอง
                ๕.ปล่อยตนวางเฉย คือให้นอนเฉยๆ ปล่อยอารมณ์ไปเรื่อยๆ อย่าคิดอะไรมาก คิดเสียว่ามันอยากหลับก็หลับ มันไม่อยากหลับก็ช่างมัน นึกเท่านี้ก็ทำให้หลับได้เหมือนกัน
                ฉะนั้น ใครนอนไม่หลับ ลองปฏิบัติตามข้อแนะนำเหล่านี้ดู แล้วท่านจะนอนหลับง่ายอย่างน่าอัศจรรย์

.............................................

นักรบที่ฉลาด


                ยุทธศาสตร์ยุทธวิธี คือวิชาว่าด้วยการรบ ซึ่งทางทหารมี่หลายวิธี แต่ละวิธีมีองค์ประกอบหลายประการจะใช้ยุทธวิธีแบบไหนเมื่อไร อย่างไร ขึ้นอยู่กับการวางแผนให้เหมาะกับกำลังพล อาวุธ ภูมิประเทศ และสถานการณ์ในขณะนั้น นักยุทธศาสตร์มักนิยมยึดปรัชญาการรบพื้นฐานตามที่ซุนหวู่ นักปราชญ์จีนกล่าวไว้ว่า “รู้เรารู้เขา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง รู้เราไม่รู้เขา รบร้อยครั้ง ชนะเพียงห้าสิบครั้ง ไม่รู้ทั้งเราและเขา รบกี่ครั้งก็แพ้ทุกครั้ง”  องค์ประกอบทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่จำเป็นต้องคำนึงถึงอย่างน้อยมี   ๔ ประการ คือ    กำลังพล กองหนุน การข่าว และอาวุธ
                การดำเนินชีวิตก็ไม่ต่างอะไรกับการรบ ทั้งนี้เพราะต้องรบหรือแก้ปัญหาสารพัด ทั้งปัญหาชีวิตส่วนตัวและของผู้ที่เกี่ยวข้อง สาเหตุของปัญหาก็ไม่พ้นสิ่งที่พระท่านเรียกว่า “กิเลส” คือ โลภ โกรธ หลง รวมเรียกว่ามูลเหตุแห่งความชั่ว กิเลสทั้งสามนี้มักจู่โจมในลักษณะแบบกองโจร ถ้าไม่ตั้งสติให้ดีก็มักพลาดท่า
                การต่อสู้กับข้าศึกคือปัญหาต่างๆ ควรมีองค์ประกอบทางยุทธวิธีอย่างน้อย ๔ ประการ คือ
                ๑. กำลังพล คือเราแต่ละคนมีจิตใจเข้มแข็ง มั่นคง อดทน มีศีล กตัญญูรู้คุณ
                ๒. กองหนุน คือเพียรทำความดี และเพียรตัดทอนกำลังข้าศึกคือความชั่วทุกชนิดโดยวิธี ลด ละ เลิก
                ๓. การข่าว คือสติระลึกรู้ในการกระทำทุกครั้ง ตระหนัก ระวัง หยั่งรู้ถึงสิ่งที่ควรและไม่ควร
                ๔. อาวุธ คือมีปัญญา รู้จักตัวเอง รู้เหตุแห่งความเสื่อมและความเจริญ รู้จักพัฒนาตนให้ฉลาดรอบรู้ในหน้าที่การงานอยู่เสมอ รู้เท่าทันเหตุการณ์และความเป็นจริงของสิ่งทั้งปวง
                การสู้รบกับข้าศึกภายนอกไม่ได้มีทุกวัน อาจจะนานๆ ครั้ง แต่การทำศึกกับข้าศึกภายในคือ โลภ โกรธ หลง ต้องสู้ยู่ด้วยเสมอ ถ้าเผลอเป็นพลาด ประมาทเป็นเสียคน ดังนั้น นักรบที่ฉลาด จึงควรมีใจมั่นคง ตรงต่อความดี มีเมตตา ไม่ริษยาผู้อื่น ไม่ฝ่าฝืนกฎสังคม ไม่นิยมทุจริต ไม่คิดนอกใจคู่ครอง ไม่ทดลองของเสพติด ไม่คิดเล่นการพนัน ทำได้ทั้งหมด เชื่อว่า ชีวิตจะสุขสันต์ไม่แพ้ใครในโลก

........................................

ศัตรูชีวิต


                คำว่า “ศัตรู” หมายถึงข้าศึก ปรปักษ์ ผู้จองเวร มีบทบาทในการทำลายล้าง รบกวนความสงบสุขของผู้อื่น เมื่อใครมีศัตรู ชีวิตจะประสบความเดือดร้อน อยู่ไม่สุข การมีศัตรูแม้เพียงคนเดียวก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะสามารถเบียดเบียนทำลายล้างจนชีวิตต้องหายนะ อุปมาเหมือนกับไฟ แม้เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำลายได้กว้างไกล มีศัตรูสองประเภทของกล่าวถึงคือ
                ๑.ศัตรูภายนอก ได้แก่ผู้ที่สร้างความเดือดร้อนซึ่งอยู่นอกตัวเราทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ หรือภัยพิบัติจากธรรมชาติ เป็นศัตรูที่มาในรูปของศัตรู สามารถมองเห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู มีตัวตนสัมผัสได้ จึงสามารถหาทางหลบหลีก หรือวางแผนต่อสู้ป้องกัน ทำให้ชีวิตปลอดภัย หรืออย่างน้อยก็ได้รับความเดือดร้อนน้อยลง
                ๒.ศัตรูภายใน ได้แก่กิเลสที่อยู่ในใจที่คอยชักนำให้กระทำความชั่วต่างๆ มีสามประเภท ได้แก่
                โลภะ คือความละโมบอยากได้ในทางทุจริต
                โทสะ คือความคิดประทุษร้ายอาฆาตแค้นผู้อื่น
                โมหะ คือความหลงไม่รู้จริง เห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด
                ศัตรูภายในนี้เป็นศัตรูของชีวิตที่มาในรูปของมิตร น่ากลัวยิ่งกว่าศัตรูใดๆ เพราะจะหลอกล่อให้ผู้นั้นสมัครใจที่จะทำลายตัวเองจนย่อยยับไป
                คนที่เอาชนะศัตรูภายนอก แม้จะชื่อว่าเป็นคนเก่ง เป็นวีรบุรุษ แต่ทางธรรมแล้ว ยังไม่ถือว่าเป็นยอดนักรบ เพราะเป็นชัยชนะที่อาจกลับแพ้ได้ ชนะแล้วก็ยังเป็นทุกข์ ส่วนผู้ที่เอาชนะศัตรูภายใน ซึ่งถือว่าเป็นศัตรูชีวิตได้ คือไม่ถูกโลภะ โทสะ โมหะ ครอบงำย่ำยีนั้นแหละจึงเป็นยอดนักรบที่แท้จริง เพราะจะไม่มีโอกาสกลับไปแพ้ได้เลย เป็นชัยชนะที่กำจัดเวรภัยได้ราบคาบ พระพุทธเจ้าจึงทรงสรรเสริญไว้ว่า “อัตตา หะเว ชินตัง เสยโย” ชนะตนนั่นแลประเสริฐที่สุด

...........................................