วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

อสรพิษในตัวคน

                ขึ้นชื่อว่าอสรพิษแล้ว หากมีความจำเป็นต้องเข้าใกล้ควรต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ หรือถ้าให้ดี ไม่ควรเข้าใกล้เป็นดีที่สุด ในทางธรรมได้เปรียบความโกรธว่าคล้ายกับอสรพิษ และได้จำแนกเพื่อเทียบเคียงให้เข้าใจได้ง่ายไว้ ๓ ประเภท
                ๑. ความโกรธที่เกิดขึ้นง่ายๆ และเกิดขึ้นแล้วไม่อยู่นาน โกรธเพียงประเดี๋ยวเดียวแล้วก็ลืม คนที่มีความโกรธประเภทนี้เปรียบเหมือนอสรพิษตัวที่มีพิษไม่ร้ายแรง เวลากัดคนและสัตว์อาจไม่ถึงตายแต่ก็ต้องระมัดระวังอยู่ดี
                ๒. ความโกรธที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง ไม่ได้เกิดขึ้นพร่ำเพรื่อ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วสงบลงได้ยาก มักจะนอนนิ่งอยู่ในใจเป็นเวลานาน คนที่มีความโกรธประเภทนี้ดูภายนอกไม่น่ากลัว เพราะโดยปกติแล้วไม่โกรธใครง่ายๆ แต่ถ้าโกรธแล้วก็ถือว่าอันตรายเหมือนอสรพิษที่ดูเหมือนจะไม่มีพิษแต่ที่แท้กลับมีพิษร้ายแรง ต้องระมัดระวังให้ดี
                ๓. ความโกรธที่เกิดขึ้นง่ายและเกิดขึ้นได้บ่อยๆ แถมโกรธแล้วยังโกรธนานอีกด้วย ไม่ยอมยกโทษหรืออภัยง่ายๆ คนที่มีความโกรธประเภทนี้ นับว่าน่ากลัวมาก เหมือนอสรพิษที่มีพิษร้ายแรง ดุร้าย และว่องไวปราดเปรียวอีกต่างหาก ควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง

                อย่างไรก็ตาม อสรพิษภายนอกนั้น แม้จะน่ากลัวแต่ก็มีตัวตน มองเห็น หรือจับต้องได้ จึงป้องกันได้หากไม่ประมาท แต่สำหรับอสรพิษคือความโกรธ นอกจากไม่มีตัวตนแล้ว ยังเกิดได้ง่ายและสามารถทำร้ายชีวิตให้วิบัติได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นต้องคอยระวังอย่าให้ความโกรธนั้นมีอำนาจเหนือจิตทำได้อย่างนี้ทั้งตนเองและผู้อื่นจึงจะปลอดภัยจากอันตรายของความโกรธที่เปรียบเหมือนอสรพิษที่มีอยู่ในตัวของเรานี่เอง 

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

หนี้


                เมื่อกล่าวถึงคำว่า หนี้ ถ้ามองในแง่บุคคล จะประกอบด้วยกลุ่มชน ๒ ฝ่าย คือ เจ้าหน้า  และลูกหนี้ และไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม พอเข้ามาสู่ระบบหนี้แล้ว ก็มักจะเกิดความกลัวขึ้นด้วยกันทั้งนั้น คือ ฝ่ายเจ้าหนี้ กลัวว่าจะถูกโกง  ฝ่ายลูกหนี้ กลัวจะหาเงินมาใช้คืนไม่ทันกำหนด กลัวถูกทวง จึงเกิดความทุกข์ใจว่ายืมเขามาใช้ประเดี๋ยวก็หมด แต่เวลาใช้คืนกว่าจะหมดช่างนานจริงๆ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว วัน เวลา ก็คงดำเนินไปเป็น ปกติ แต่ที่ผิดปกติก็คือ ความรู้สึกของลูกหนี้ต่างหาก กล่าวโดยภาพรวมในทางธรรม อาจจะแบ่งหนี้ ออกเป็น ๒ ประเภท คือ หนี้สิน กับหนี้กรรม
                หนี้สิน ได้แก่ ทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้ที่เรียกว่า เจ้าหนี้ และผู้รับที่เรียกว่า ลูกหนี้ และ ลูกหนี้จะต้องใช้หนี้ หรือตอบแทนให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นหนี้ จึงจะเป็นไทแก่ตัวเอง แต่ถ้าใช้หนี้ไม่หมดด้วย ความจงใจก็ดี ด้วยความพลั้งเผลอก็ดี จะแปรสภาพไปเป็นหนี้ประเภทที่ ๒ คือ หนี้กรรม ภาษาพระท่านเรียกว่า เศษกรรมหมายถึง การกระทำใดๆ ก็ตามที่ยังปลดเปลื้องหรือรับผลของการกระทำนั้นไม่หมด หรือยังไม่เสร็จสิ้น ยังเหลือเศษที่ จะคอยตามให้ผล ตามเก็บหนี้ข้ามภพข้ามชาติจนกว่าจะหมด ไม่มีทางที่จะหลบหลีกได้ ดังมี คำกลองเตือนใจ ทางธรรมดังนี้
                จะซ่อนตัวในกลีบเมฆกลางเวหา     ซ่อนกายากลางสมุทรสุดวิสัย
จะซ่อนตัวในป่าเขาลำเนาไพร                         ณ ถิ่นใดพ้นกรรมนั้นไม่มี
                คนเราเกิดมาล้วนเป็นหนี้ด้วยกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นหนี้บุญคุณหรือเป็นหนี้สินเพราะไปยืมเขามา ข้อสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ต้องรีบขวนขวายใช้หนี้เสียให้หมด อย่าปล่อยให้เป็นหนี้กรรม ตามรบกวนใจให้เป็นทุกข์  ดั่งคำพระท่านว่า
                “ อิณาทานัง ทุกขัง โลเก การเป็นหนี้เป็นทุกข์ในโลก แต่การไม่ก่อหนี้ยืมสินนั้นแหละนับว่าเป็นสุขที่สุดในโลก ”

.......................................

ผู้พิสูจน์ความผิด


                มีเรื่องเล่าว่า ชาวนาคนหนึ่งจูงโคไปเลี้ยงที่ทุ่งนาแล้วปล่อยโคกินหญ้าตามลำพัง ตัวเองหลบใต้ร่มไม้แล้วเผลอหลับไป ชายคนหนึ่งผ่านมาเห็นโคจึงจูงโคหนีไป ชาวนาตื่นขึ้นมาไม่เห็นโค จึงออกตามหาไม่นานก็พบชายผู้นั้น กำลังจูงโคของตนไปจึงเข้าพูดว่า “นี่เป็นโคของตน” ชายผู้นั้นไม่ยอมอ้างว่าเป็นโคของตนเหมือนกัน ต่างยื้อแย่ง ทุ่มเถียงกัน เมื่อพิสูจน์ไม่ได้จึงพากันไปหาบัณฑิตผู้หนึ่งให้ช่วยตัดสิน บัณฑิตสอบถามความเป็นมาของเรื่องแล้ว พูดว่า “ท่านทั้งสองจะยินยอมปฏิบัติตามคำของข้าพเจ้าหรือไม่” เมื่อทั้งสองรับปากเรียกเข้ามาถามทีละคนครั้งแรก เรียกเจ้าของโคตัวจริง มาถามก่อนว่า “เลี้ยงโคด้วยอะไร”  เจ้าของโคตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนจน จึงไม่มีอะไรให้โคกินนอกจากหญ้าเท่านั้น” บัณฑิตเรียกชายที่ลักโคเข้ามาถามแบบเดียวกัน ชายผู้นั้นตอบว่า “ให้กินแต่ของดี เช่น กินงากับแป้ง นมสด และหญ้า” เมื่อได้ความเช่นนั้นแล้ว บัณฑิตจึงให้ปรุงยาสำรอกขึ้นขนานหนึ่ง แล้วกรอกเข้าไปในปากโค โค สำรอกหญ้าออกมา บัณฑิตผู้ตัดสินจึงชี้ให้ทุกคนที่ มาฟังคำตัดสินดูว่า เป็นอะไร ทุกคนตอบว่า โคสำรอกแต่หญ้า ทั้งนั้น บัณฑิตหันไปถามชายผู้ลักโคว่าจะยินยอมรับผิดหรือไม่ ชายผู้นั้นจำนนต่อหลักฐาน ต้องคืนโคให้เจ้าของและ ยอมรับโทษตามกระบิลเมือง
                แนวคิดทางธรรมที่ได้จากเรื่องนี้มี ๒ ข้อ กล่าวคือ
                ข้อแรก พระพุทธศาสนาสอนว่า ความบริสุทธิ์ และไม่บริสุทธิ์รู้ได้ด้วยตนเอง ดังนั้น การจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ หรือไม่บริสุทธิ์ด้วยหลักฐาน ผู้พิสูจน์จะต้องมีปัญญาและใช้วิธีการที่ฉลาด
                ข้อสอง คนทำผิดนั้น อย่าชะล่าใจว่า จะไม่มีใครพิสูจน์ความผิดได้ เพราะคนที่ฉลาดกว่าเรายังมีอยู่ แต่แม้จะไม่มีใครพิสูจน์ได้ อย่างน้อยก็ยังมีคนรู้ความจริง คนหนึ่งก็คือ  “ตัวเรา” นั่นเอง

.......................................

กระทบแต่ไม่กระเทือน


                เมื่อพูดถึงความโกรธความขัดใจ แม้จะเป็นเรื่องไม่ดี ให้โทษนานัปการ แต่ก็เป็นเรื่องที่ละได้ยาก ตัดได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อถูกผู้อื่นทำให้โกรธ บางคนถึงกับขาดสติ ควบคุมตนเองไม่ได้จนเกิดเรื่องเกิดราวก็มี สาเหตุก็เพราะ เมื่อถูกอารมณ์โกรธกระทบแล้วเกิดอาการหวั่นไหว กระเทือนไปตามแรงกระทบไม่สามารถรักษาความหนักแน่นมั่นคงของตนไว้ได้
                การแก้ปัญหาเมื่อถูกกระทบแล้วรู้สึกโกรธวิธีหนึ่ง คือสร้างหลักคิดประจำใจง่ายๆ ๓ ข้อ คือ
                ๑. อย่าเผาตัวเอง คือ ความโกรธเป็นเหมือนไฟ เพราะเมื่อโกรธขึ้นแล้จิตใจจะเร่าร้อน กระสับกระส่าย ขุ่นมัว หาความสุขไม่ได้ ที่สำคัญคือไฟชนิดนี้ ไม่สามารถใช้เผาคนอื่นได้ คนไหนโกรธก็เผาคนนั้น คนที่ถูกโกรธถ้าไม่โกรธตอบหรือไม่รู้ตัวว่าถูกโกรธก็ยังนอนหลับสบาย แต่คนโกรธเองถูกเผาแทบตาย
                ๒. อย่าข่มเหงคนไข้ คนไข้ที่อาการหนัก เพ้อไม่ได้สติ หรืออาละวาดคลุ้มคลั่ง หากเผลอกล่าวคำผรุสวาทด่าทอ หรือล่วงเกินใดๆ คงไม่มี ใครถือสาอาฆาต เพราะรู้ว่า ไข้กำเริบคนมีกิเลสก็คือคนไข้แต่เป็นไข้ทางใจ เมื่อกิเลสกำเริบถึงจุดที่ ควบคุมตนเองไม่ได้ ก็ละเมิดหรือล่วงเกินผู้อื่นบ้าง ผู้มีปัญญาเมื่อให้อภัยคนไข้ทางกายแล้วควรให้อภัย คนไข้ทางใจด้วย
                ๓. อย่าเอาแต่ใจเป็นหลักการที่ความโกรธความขัดใจเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากความรู้สึกกว่าคนนั้นก็ไม่ได้อย่างเราคิด คนนี้ก็สั่งไม่ได้อย่างใจ คนโน้นก็พูดไม่รู้เรื่อง เป็นต้น สรุปว่าเอาใจของตนเป็นศูนย์กลางแล้วคอยดูว่า คนไหนทำได้อย่างใจคิดบ้าง แต่ลืมนึกไปว่า ตัวเราเอง บางครั้งยังทำให้ถูกใจตัวเองไม่ได้ เรื่องจะเกณฑ์ให้คนอื่นเป็นอย่างใจเราหมด เป็นอันไม่ต้องพูดถึง ปุถุชน เมื่อความไม่พอใจมากระทบจะกระเทือนแค่ไหน ก็แล้วแต่คุณภาพและความมั่นคงของจิตใจ บางคนต้องถูกบีบคั้นอย่างหนักจึงหมดความอดทน บางคนถูกนินทาก็หวั่นไหว แต่บางคนแค่ถูกมองหน้าก็กระเทือนแล้ว
                หลักคิดที่ว่า อย่าเผาตัวเอง อย่าข่มเหงคนไข้ อย่าเอาแต่ใจเป็นหลัก จะช่วยให้จิตหนักแน่นมั่นคง แม้จะถูกกระทบแต่ ไม่กระเทือนได้ง่ายๆ อย่างแน่นอน

........................................

สู้เพื่อสันติ


                ชีวิตที่เกิดมาย่อมพบปัญหาและอุปสรรคต่างๆ คล้ายกับลงทะเลย่อมเจอคลื่นกระทบ ดังนั้น ชีวิตจึงจำเป็นต้องต่อสู้ เพื่อให้อยู่รอดและดำเนินต่อไปได้ปัญหาและอุปสรรคทั้งหลายนั่นเองคือคู่ต่อสู้ ของชีวิต    การต่อสู้ อาจแบ่งได้ ๒ ลักษณะคือ ต่อสู้กับสิ่งภายนอก เช่น ธรรมชาติและความทุกข์ทางกาย รวมทั้งปัญหาอุปสรรค ที่เกี่ยวกับคนย่างหนึ่ง และต่อสู้กับกิเลสซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจอย่างหนึ่ง แต่ในการต่อสู้ทั้ง ๒ ลักษณะนั้น มีหลักการที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง กล่าวคือต้องระมัดระวัง คือมีสติอยู่เสมอ หรือป้องกันตัวเรา จากสิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรคเหล่านั้นด้วยวิธีการ เช่น การระวังมิให้เกิดขึ้น การบรรเทาให้ผ่อนคลายการหลีกเลี่ยง ไม่เข้าใกล้และการขจัดออกไปให้เด็ดขาด แต่การต่อสู้ที่ถูกต้องและควรแก่การยกย่องนั้น ต้องเป็นการต่อสู้ที่มุ่งผลเพื่อให้ได้สันติ คือ ความสงบที่เกิดขึ้นในอาณาจักรน้อยๆ อันมีพื้นที่เพียงยาววาหนาคืบ และกว้างศอก ที่เรียกว่า ตัวเราคือชีวิตจิตใจของเรา แต่ละคน นี่เองวิธีต่อสู้เพื่อให้เกิดสันติในอาณาจักรน้อยๆ นี้ ท่านแนะให้ทำด้วยการป้องกันคือมีสติรู้ตัวอยู่เสมอหรือขับไล่ ข้าศึกคือ กิเลสทั้งหลายให้ออกไปจากอาณาจักรคือชีวิตนี้ มิให้มาตั้งรกรากอยู่ได้โดยใช้ปัญญาเป็นอาวุธ ถ้าทำได้ ใจก็จะบริสุทธิ์เป็นอิสระครอบครองโลกคือ ชีวิตอย่างสงบสุข และไม่ก่อความทุกข์ให้แก่ใครๆ เมื่ออาณาจักรน้อยๆ ของแต่ละคนดำเนินไปอย่างสงบเช่นนี้ ย่อมส่งผลดีให้อาณาจักรใหญ่คือสังคมส่วนรวมสงบสุขไปด้วยย่างแน่นอน

.............................................

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ทำใจ


                ในพระคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท มีเรื่องเล่าว่า นางมัลลิกา ภรรยาของพันธุละเสนาบดีแห่งเมืองไพศาลี มีลูกชายแฝด ๑๖ คู่ ๓๒ คน คราวหนึ่ง สามีและลูกทั้งหลายถูกทางการส่งออกไปปราบโจรที่ชายแดน ระหว่างนั้น นางมัลลิกาได้นิมนต์พระมาฉันที่บ้าน ขณะเลี้ยงพระอยู่นั้นได้รับแจ้งข่าวว่าสามีและลูกเสียชีวิตทั้งหมด ถึงข่าวจะร้ายแรงขนาดนั้น นางก็สามารถทำใจให้เป็นปกติเลี้ยงอาหารพระสงฆ์ ต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในระหว่างนั้น คนใช้คนหนึ่งทำชามแตก พระสารีบุตรซึ่งได้รับอาราธนาไปฉันภัตตาหารด้วย จึงกล่าวเป็นธรรมะเตือนใจว่า “วัตถุที่มีอันจะแตกไปเป็นธรรมดาได้แตกไปแล้ว” นางจึงตอบว่า “พระคุณเจ้า อย่าว่าแต่เพียงชามแตกเลยแม้สามีและลูกตายหมด โยมยังทำใจได้เลย” ในสภาพการณ์ปัจจุบัน มีคนเป็นจำนวนมากที่มักจะพูดว่า “การทำใจ เป็นเรื่องพูดง่าย แต่ทำยาก เพราะเมื่อถึงเวลาที่เราประสบกับสิ่งเลวร้ายในชีวิเข้าแล้ว การปรับใจให้อยู่ในภาวะปกตินั้น เป็นสิ่งที่ได้ยากเย็นแสนเข็ญเหลือเกิน “เรื่องนี้เป็นความจริง แต่ที่จริงยิ่งกว่านั้นก็คือ มนุษย์ก็คือ มนุษย์เราจะทำใจได้หรือไม่นั้น ข้อสำคัญอยู่ที่การฝึกฝน เรื่องที่ท่านอนให้นำมาเป็นหลักคิดเพื่อฝึกใจ เรียกว่า อภิณหปัจจเวกขณะ แปลว่า สิ่งที่ควรพิจารณาบ่อยๆ มีอยู่ ๕ เรื่องคือ
                ๑. ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแกไปได้
                ๒.ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เรามีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้
                ๓.ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
                ๔.ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
                ๕.ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตัวเราทำกรรมอันใดไว้จักต้องรับผลของกรรมนั้น
                ในชีวิตประจำวัน หากมนุษย์เราขยันนำเอาหลักทั้ง ๕ มาพิจารณาทุกขณะจิตที่คิด เมื่อพบกับเหตุการณ์ที่ร้ายแรงสักเพียงไร ก็จะสามารถเก็บอารมณ์อยู่ ทำใจได้เหมือนนางมัลลิกา ที่เล่ามา เพราะคนเราจะทำเช่นนั้นได้ก็ด้วยการฝึกเท่านั้น เรื่องดีๆ อย่างนี้ ท่านควรลองฝึกดูบ้างเป็นประจำ

.......................................

พระคาถาสั้นๆ


คาถาพระพุทธเจ้าชนะมาร (พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต)
ปัญจะมาเร ชิโนนาโถ ปัตโต สัมโพธิ มุตตะมัง จะตุสัจจัง ปะกาเสติ ธัมมะจักกัง ปะวัตตะยิ เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โหตุ เม ชะยะมังคะลัง ฯ
ป้องกันอันตรายทั้งปวง

คาถามงกุฏพระพุทธเจ้า
อิติปิโส วิเสเสอิ อิเสเส พุทธะนาเมอิ อิเมนาพุทธะ ตังโสอิ อิโสตัง พุทธะ ปิติอิ ฯ
ใช้เสกน้ำล้างหน้าทุกวัน กันโรคภัยไข้เจ็บ และภูตผีปีศาจ

คาถาพระเจ้า 16 พระองค์
นะมะนะอะ นอกอนะกะ กอ ออ นอ อะ นะอะกะอัง อุมิอะมิ มะหิสุตัง สุนะพุทธัง สุอะนะอะ
พระคาถานี้เรียกว่า ธรรมะราชา  ผู้ใดภาวนาได้อานิสงฆ์มาก ปราศจากภัยพิบัติทั้งปวง

คาถาพญายม
ปะโตเมตัง ปะระชีวินัง สุขะโตจุติ   จิตะเมตะ นิพพานัง สุขะโตจุติ
สวดป้องกันภัยพิบัติทั้งปวง ฯ

คาถาบูชาพระพุทธชินราช
อิเมหิ นานาสักกาเรหิ อะภิปูชิเตหิ ทีฆายุโก โหมิ อะโรโค สุขิโต สิทธิกิจจัง สิทธิกัมมัง ปิยัง มะมะ ปะสิทธิ ลาโภ ชะ โย โหตุ สัพพะทา พุทธะชินะราชา อะภิปาเลตุ มัง นะโมพุทธายะ

คาถาหลวงปู่ศุข (วัดมะขามเฒ่า)
สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ "มะอะอุ"
ขึ้นรถ ลงเรือ ขึ้นเครื่องบิน ท่องเสมอ ป้องกันภัยพิบัติ

คาถาอิทธิฤทธิ์ (หลวงพ่อปาน)
พุทโธ พุทธัง นะกันตัง อะระหัง พุทโธ นะโม พุทธายะ
เป็นคาถาป้องกันตัว เมื่อเผชิญหน้ากับศัตรูที่มีศาสตราวุธร้ายแรงทุกชนิด ทั้งมีด ไม้ ปืน หรือระเบิดให้ภาวนาดังนี้    "อุทธัง อัทโธ นะโม พุทธายะ"


คาถามหาอำนาจ (หลวงพ่อปาน)
เอวัง ราชะสีโห มะหานาทัง สีหะนาทะกัง สีหะนะเม สีละเตเชนะ นามะ ราชะสีโห 
อิทธิฤทธิ์ พระพุทธัง รักษา สาระพัดศัตรู อะปะราธะยัง
อิทธิฤทธิ์ พระธัมมัง รักษา สาระพัดศัตรู อะปะราธะยัง
อิทธิฤทธิ์ พระสังฆัง รักษา สาระพัดศัตรู อะปะราธะยัง
ใช้เสกน้ำล้างหน้าทุกเช้า จะมีอำนาจคนยำเกรง ศัตรูพ่ายแพ้

คาถาบูชาหลวงปู่ทวด (เหยียบน้ำทะเลจืด)
ให้บูชาท่านด้วยธูปแขก 9 ดอก มะลิขาว 9 ดอก ตั้งนะโม 3 จบ แล้วระลึกถึงท่าน ขอบารมีต่างๆที่ต้องการ แล้วสวดพระคาถาดังนี้  นะโมโพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา (3 จบ)
ยึดมั่นแล้วท่านจะได้อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากภัยพิบัติทั้งปวง

คาถาบูชาพระเจ้าตากสินมหาราช
ปู่ตาก ตะกุอิตัล ตากสิน ราชะโย ตังอิ (สวด 3 จบ)

คาถาบูชากรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
โอม ชุมพร จุติ อิทธิ กะระนังสุโข นะโม พุทธายะ 
นะ มะ พะ ทะ จะ พะ กะ สะ มะ อะ อุ

คาถามหาเมตตา
ม เมตตา จ มหาราชา อ เมตตา จ มหาราชา อุ เมตตา จ มหาราชา สัพพสิเนหา จ ปูชิตา สัพพสุขัง มหาลาภัง ราชโกธัง วินาสสันติ ชนาโกธัง วินาสสันติ สัพพโกธัง วินาสสันติ
คาถานี้ใช้ทางเมตตาดีนัก ให้ท่องไว้เสมอ มีคนเมตตารักใคร่

คาถาป้องกันตัว
ฆะเฏสิ ฆะเฏสิ กิงการะณา ฆะเฏสิ อะหังปิ ตัง ชานามิ ชานามิ
พระคาถาบทนี้สวดป้องกันตัวได้ทุกขณะ ก่อนนอนให้ภาวนาที่หมอนหนุนทุกคืน ถ้ามีภัยใดๆจะเกิดขึ้น จะทำให้รู้สึกตัวก่อน

คาถาปัดอุปสรรค
พุทธัง แคล้วคลาด   ธัมมัง แคล้วคลาด  สังฆัง แคลัวคลาด
พระพุทธเจ้า ย่างบาท อิติปิ โส ภะคะวา

คาถากำแพงแก้วเจ็ดชั้น
พุทธัง สัตตะรัตนะมะหาปาการัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สัตตะรัตนะมะหาปาการัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สัตตะรัตนะมะหาปาการัง สะระณัง คัจฉามิ

นมัสการพระพุทธเจ้า 28 พระองค์
พระตัณหังกร, พระเมธังกร, พระสรณังกร, พระทีปังกร, พระโกณฑัญญะ, พระมังคละ, พระสุมนะ, พระเรวตะ, พระโสภิตะ, พระอโนมทัสสี, พระปทุมะ, พระนาระทะ, พระปทุมุตตระ, พระสุเมธะ, พระสุชาตะ, พระปิยะทัสสี, พระอัตถทัสสี, พระธรรมทัสสี, พระสิทธัตตะ, พระติสสะ, พระปุสสะพุทธเจ้า, พระวิปัสสี, พระสิขี, พระเวสสภู, พระกกุสันธะ, พระโกนาคมนะ, พระกัสสปะ, พระโคตรมะ

พระคาถาบูชาท้าวเวสสุวรรณโณ
จุดธูป 9 ดอก และดอกกุหลาบ 9 ดอก ตั้งนะโม 3 จบ
ระลึกถึงคุณบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
อิติปิโส ภะคะวา ยมมะราชาโน ท้าวเวสสุวรรณโณ มรณังสุขัง อะหังสุคะโต นะโมพุทธายะ ท้าวเวสสุวรรณโณ จตุมหาราชาชิกา ยักขะพันตาภัทภูริโต เวสสะ พุสะ พุทธัง อรหัง พุทโธ ท้าวเวสสุวรรณโณ นะโมพุทธายะ

คาถาบูชาพระสังกัจจายน์
กัจจายนะมหาเถโร พุทโธพุทธานัง พุทธจัง พุทธัญจะ พุทธสุภา สีตัง พุทธตัง สมะนุปปัตโต พุทธโชตัง นะมามิหัง ปิโยเทวมนุสสานัง ปิโยพรหมนะมุตตะโม ปิโยนาคะ สุปัณณานัง ปิยินทริยัง นะมามิหัง สัพเพชนา พหูชนา ปุริโส ภาคินิ อาคัจฉาหิ ปิยังมะมะ

คาถาบูชาพระยาไก่เถื่อน
ของสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน)
เวทาสากุ กุสาทา เว ทายะสาตะ ตะสายะทา
สาสาทิกุ กุทิสาสา กุตะกุภู ภูกุตะกุ

คาถาใช้ภาวนาก่อนขับรถ
ของหลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี
เมตตัญ จะ สัพพะโล กัสมิง มานะ สัมภาวะเย อัปปะริมานังฯ