วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

คุณค่าสีขาว


                คำว่า “ขาว” พจนานุกรรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๒๖ ให้ความหมายว่า สีอย่างสำลีและว่าโดยปริยายหมายความว่า “แจ่มแจ้ง สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากมลทิน” คำว่า “ขาว” ยังหมายถึง คุณความดีความโปร่งใส ความสุจริต และศีลธรรมอันดีงามอื่นๆ ด้วย
                ปัจจุบันสังคมไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของ “สีขาว” กันมากโดยจัดโครงการที่เกี่ยวข้องกับสีขาวกันขึ้นหลายโครงการ เช่น ถนนสีขาว โรงเรียนสีขาว พื้นที่สีขาว  เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์ในแต่ละโครงการที่แตกต่างกันตามแต่จะกำหนดให้สอดคล้องกับชื่อของโครงการ เช่นให้ถนนมีความปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ ฯลฯ ให้โรงเรียนปลอดจากการซื้อขาย และการเสพสิ่งเสพติดให้โทษ ฯลฯ สีขาวที่ปรากฏบนผืนธงไตรรงค์ของชาติไทยนั้นหมายถึง ศาสนา คุณค่าของสีขาวบนผืนธงจึงหมายถึง ศาสนา ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความสุจริต ฯลฯ นั่นเอง
                พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนโดยย่อ ๓ ประการ คือ การไม่ทำชั่ว การทำความดี และการทำจิตให้สะอาดบริสุทธิ์
                จิตของเรามักถูกกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ ครอบงำ ทำให้จิตสกปรกข่มมัวเศร้าหมองอยู่เสมอ จะฟอกจิตให้บริสุทธิ์สะอาด ปราศจากกิเลสได้ ด้วยการให้ทาน คือ สละสิ่งของช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้เดือดร้อนและผู้ตกทุกข์ได้ยาก รักษาศีล คือควบคุมกายและวาจาให้เรียบร้อยปกติได้ดังกล่าวนี้จิตของเราก็จะขาวบริสุทธิ์สะอาด ปราศจากกิเลส อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
                ดังนั้น เราจึงควรสร้าง “สีขาว” อันเป็นสีบริสุทธิ์ให้ปรากฏในจิตของตนอยู่เสมอๆ

.....................................

ข้อคิดจากตราสัง


                เวลาคนตายก่อนที่จะนำศพเข้าโลง สัปเหร่อจะผูกศพให้เป็นเปลาะๆ ด้วยด้ายดิบ เรียกว่า “ตราสัง” โดยทั่วไปจะมัดศพเป็น ๓ เปลาะ คือ ที่คอ ที่มือ และที่เท้า ขณะที่มัดศพ สัปเหร่อจะร่ายคาถา ซึ่งคนส่วนมากเข้าใจว่าเพื่อเป็นการสะกดวิญญาณคนตายไม่ให้ดุร้ายหรือมาหลอกหลอนผู้คน เมื่อเริ่มมัดศพที่คอ สัปเหร่อจะร่ายคาถาว่า ปุตโต คีเว  มัดศพที่มือจะร่ายคาถาว่า ภริยา หัตเถ และมัดศพที่เท้าจะร่ายคาถาว่า ธนัง ปาเท ความจริงแล้ว คาถาที่สัปเหร่อร่ายนั้น เมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ความหมายไม่เกี่ยวกับการสะกดวิญญาณแต่อย่างใด แต่จุดประสงค์ของคนโบราณท่านต้องการสอนปริศนาธรรมแก่คนเป็นต่างหาก กล่าวคือ
                ๑.ปุตโต คีเว แปลว่า ลูกเป็นบ่วงผูกคอ คือเริ่มผูกตั้งแต่รู้ว่าลูกมาปฏิสนธิ ทั้งพ่อและแม่ก็ พยายามประคับประคองทุกอิริยาบถ จะกลืนอะไรลงคอสักคำก็เป็นห่วงลูก คอยระวังไม่ให้กระทบกระเทือนลูกในท้องคลอดออกมาก็ยิ่งเป็นห่วง แม้จะเติบโตแล้วก็ยังไม่หมดห่วง คือจะทำอะไรก็ต้องคล้อยตามกันแบบจูงกันไป และต้องคอยเหนี่ยวรั้งกันและกันไว้ด้วยกลัวลูกจะคบเพื่อนเลว ติดยาเสพติด เป็นต้น
                ๒. ภริยา หัตเถ แปลว่า สามีภรรยาเป็นบ่วงผูกมือ คือจะทำอะไรก็ต้องคล้อยตามกันแบบจูงกันไปและต้องคอยเหนี่ยวรั้งกันและกันไว้ด้วย มีปัญหาเกิดขึ้นก็ต้องปรึกษากัน บางครั้งอาจจะขัดแย้งกระทบกระทั่งกันบ้างเหมือนลิ้นกับฟัน ก็ให้ยึดหลักว่า อย่าให้เจ็บตัว อย่าให้เจ็บใจ อย่าให้เสียของ และอย่าให้เสียงาน เรียกว่า ทะเลาะกันอย่างมีหลักการ
                ๓. ธนัง ปาเท แปลว่า ทรัพย์สมบัติเป็นบ่วงผูกเท้า คือทรัพย์ที่เราหามาได้ด้วยหยาดเหงื่อและแรงงานแสนจะลำบาก เมื่อได้มาแล้วก็ต้องรักต้องห่วง จะย่างเท้าห่างบ้านไปไหน ก็อดห่วงหน้าพระวงหลังไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าห่วงมากจนเกินไป สุขภาพจิตย่ำแย่ก็ต้องปล่อยวางเสียบ้าง จิตใจจะได้ปลอดโปร่ง ดังนั้น บ่วงทั้ง ๓ คือ บุตรธิดา สามีภริยา และทรัพย์สมบัติ จึงเป็นบ่วงของคนที่ยังข้องเกี่ยวอยู่กับโลก ใครปลดบ่วงทั้ง ๓ นี้ได้หมด ก็สบายแต่เมื่อยังมีบ่วงอยู่ หรือยังปลดไม่หลุด ก็ต้องปฏิบัติต่อบ่วงทั้ง ๓ ให้ถูกต้อง จึงจะหาความสุขได้ตามควรแก่วิสัยของชาวโลก

........................................

ทำดี เอาดี


                พุทธภาษิตที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” นี้ยังมีคนเข้าใจความหมายผิดกันอยู่มาก โดยมักจะเข้าใจคำว่า “ทำดี ได้ดี” คือ ทำดีแล้วต้องร่ำรวย มั่งมีเงินทองเพราะสำคัญว่า ดี นั้น คือ ทรัพย์สินเงินทอง ผู้ที่เข้าใจว่าทำดีแล้วต้องรวยนั้น เมื่อตั้งใจทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และขยันหมั่นเพียรแต่ไม่รวยขึ้นตามประสงค์ ย่อมท้อแท้ใจ หมดกำลังใจ และอาจมองเห็นในมุมกลับว่า “ทำดีแต่ไม่ได้ดี” ไม่ใช่ “ทำดีได้ดี” เสียแล้ว
                การเข้าใจเรื่อง “ทำดีได้ดี” ให้ถูกต้องนั้น เบื้องต้นต้องรู้จักผลของความดีเสียก่อน ผลของความดีก็คือ ความสุขหรือความสบายใจ ความสุข ความสบายใจนั้น มิใช่หมายถึงความร่ำรวย และก็ไม่จำเป็นต้องเกิดจากความร่ำรวยเพียงอย่างเดียว เพราะผู้ที่มีเงินทองล้นเหลือแต่ไม่มี ความสุขกับเงินทองนั้นเลยก็มี อยู่เป็นอันมากและที่ต้องเดือดร้อนเป็นทุกข์เพราะความร่ำรวยนั่นเองก็มีอยู่มิใช่น้อย ความสุขคือ ความสบาย ได้แก่ความที่ไม่ต้องเดือดร้อนใจเพราะไม่ได้ทำความผิด ไม่ต้องมีผู้ปองร้ายเพราะไม่เป็นศัตรูกับใคร และมีใจสงบร่มเย็นเป็นนิตย์ เพราะสร้างแต่บุญกุศลคุณงามความดี เรื่องเหล่านี้จะซื้อหาด้วยทรัพย์สินไม่ได้ ขอแบ่งจากผู้ใดก็ไม่ได้ ทั้งนั่งรอนอนรอให้เกิดขึ้นเองก็ไม่ได้อีกเพราะเป็นผลซึ่งเกิดมาจากเหตุ และเหตุนั้นก็คือ การกระทำความดี กล่าวคือ การลงมือทำความดีเป็นเหตุ ความสุขเป็นผล คนแต่ก่อนท่านทำดีเอาดี คือ ประพฤติตนอยู่ในหลักแห่งศีลธรรมอันดี เพื่อหวังผลเป็นความสุขสบายภายหลัง ได้แก่สุขใจ ไม่ต้องเดือดร้อนใจ ไม่ใช่ทำดีเพื่อหวังลาภผลเป็นทรัพย์สินเงินทองหรือตำแหน่งฐานะ อย่างที่มักเข้าใจกัน การทำดีเป็นเครื่องให้เกิดความสงบใจ ส่วนการมุ่งทำดีเพื่อให้ได้ดี คือให้ได้ทรัพย์สินเงินทองเป็นของตอบแทน ไม่เป็นเครื่องให้สงบใจได้เพราะฉะนั้นจงควรทำดีเพื่อเอาดี อย่าทำดีเพื่อหวังทรัพย์สิน เมื่อตั้งใจทำดีเพื่อความดีแล้ว ก็จะเกิดความสุขความสบายใจ ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า และความสุขเช่นนี้ก็มีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สินเงินทองอย่างเทียบกันไม่ได้

.............................................