วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ปฐมพุทธฯ ปัจฉิมพุทฯ


ปฐมพุทธภาสิตคาถา

หันทะ มะยัง ปะฐะมะพุทธะภาสิตะคาถาโย ภะณามะ เส
                เชิญเถิด เราทั้งหลาย จงกล่าวคาถาพุทธภาษิต ครั้งแรกของพระพุทธเจ้าเถิด
.............................................
อะเนกะชาติสังสารัง   สันธาวิสสัง อะนิพพิสัง
                      เมื่อเรายังไม่พบญาณ ได้แล่นท่องเที่ยวไปในสงสารอันเป็นเอนกชาติ
คะหะการัง คะเวสันโต  ทุกขา ชาติ ปุนับปุนัง
                      แสงหาอยู่ซึ่งนายช่างปลูกเรือน คือตัณหาผู้สร้างภพ  การเกิดทุกคราว เป็นทุกร่ำไป
คะหะการะกะ ทิฏโฐสิ  ปุนะ เคหัง นะ กาหะสิ
                      นี่แน่ะ นายช่างปลูกเรือน เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว  เจ้าจะทำเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป
สัพพา เต ผาสุกา ภัคคา  คะหะกูฏัง วิสังขะตัง
                      โครงเรือนทั้งหมดของเจ้าเราหักเสียแล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อเสียแล้ว
วิสังขาระคะตังจิตตัง  ตัณหานัง ขะยะมัชฌะคา
                      จิตของเราถึงแล้วซึ่งสภาพที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป  มันได้ถึงแล้วซึ่งความสิ้นไปแห่งตัณหา คือถึงนิพพาน
.............................................


ปัจฉิมพุทโธวาทปาฐะ

หันทะ มะยัง ปัจฉิมะพุทโธวาทะปาฐัง ภะณามะ เส
                เชิญเถิด เราทั้งหลาย จงกล่าวคำแสดงพระโอวาทครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้าเถิด
.............................................
หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิโว
                      ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า
วะยะธัมมา สังขารา
                      สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ
                      ท่านทั้งหลาย จงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด
อะยัง ตะถาคะตัสสะ ปัจฉิมา วาจา
                      นี้เป็นพระวาจามีในครั้งสุดท้าย ของพระตถาคตเจ้า
.............................................

โอวาทปาฏิโมกคาถา



หันทะ มะยัง โอวาทปาฏิโมกขคาถาโย ภะณามะ เส
                เชิญเถิด เราทั้งหลาย จงกล่าวคาถาแสดงโอวาทปาติโมข์เถิด
.............................................
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง                 การไม่ทำบาปทั้งปวง
กุสะลัสสูปะสัมปะทา                          การทำกุศลให้ถึงพร้อม
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง                     การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ
เอตังพุทธานะสาสะนัง                      ธรรม ๓ อย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา              ขันติ คือ ความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง
นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา       ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวนิพพานว่า เป็นธรรมอันยิ่ง
นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี              ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย
สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต       ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย
อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต                 การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย
ปกฏิโมกเข  สังวะโร                          การสำรวมในปาติโมกข์
มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง                   ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค
ปัญตัญจะ สะยะนาสะนัง                    การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด
อะธิตเต จะ อาโยโค                          ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง
เอตัง พุทธานะ สาสะนัง                     ธรรม ๖ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
.............................................

สัจธรรมชีวิต


      มีปริศนาธรรมที่กล่าวเกี่ยวกับชีวิตไว้อย่างน่าสนใจว่า "อะไรเอ่ย มาดำไปขาว มายาวไปสั้น มามั่นไปคลอน มาหย่อนไปตึง มาซึ้งไปเซอะ" คำเฉลยมีดังนี้ 

      มาดำไปขาว คือเส้นผมของมนุษย์จะดกดำตอนวัยต้น พอวัยปลายกลับกลายเป็นสีขาว นั่นคือความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ เป็นสัจธรรมชีวิตว่าสังขารไม่เที่ยง ไม่ทนทาน ไม่มีตัวตนให้ยึดมั่นถือมั่น จึงควรทำชีวิตให้สะอาดบริสุทธิ์ประดุจเส้นผมนั้น 

       มายาวไปสั้น คือสายตาผู้สูงอายุจะมองเห็นในระยะใกล้ได้ชัดเจนกว่าระยะไกล แต่เป็นการเห็นที่ชัดเจนแน่นอน เป็นคติเตือนใจว่าจงมองตนให้มากเพื่อจะได้ไม่ประมาทหลงวัย 

      มามั่นไปคลอน คือฟันจะต้องโยกคลอนหลุดร่วงไปตามวัยอันควร สิ่งนี้เป็นคติเตือนใจว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น เพราะมีอันต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา

       มาหย่อนไปตึง คือหูผู้สูงอายุจะตึงฟังอะไรไม่ค่อยได้ยิน สิ่งนี้เป็นคติเตือนใจว่า ผู้สูงอายุควรใส่ใจทางธรรมอันเป็นทางสุขสงบเงียบให้มากกว่าทางโลกีย์วิสัยซึ่งมีแต่ความวุ่นวาย

      มาซึ้งไปเซอะ คือผู้สูงอายุจะมีความจำไม่ดีหลงลืมง่าย จึงเป็นคติเตือนใจว่า เรื่องใดที่ไม่ควรจำก็อย่าไปจำให้ฝึกหลงลืมเสียบ้าง

       มนุษย์เกิดมาเพราะกฎแห่งธรรมชาติ ชีวิตจึงต้องเป็นไปตามกฎแห่งธรรมชาติตามปริศนาธรรมที่กล่าว การจะหนีพ้นจากปริศนาธรรมนี้ไปได้ ก็ต้องหนีจากกฎแห่งธรรมชาติ นั่นคือการไม่เกิด 
 ..............................

บุญบันดาล


       มีเรื่องเล่าในคัมภีร์ว่า สาวน้อยคนหนึ่ง ระหว่างที่เดินทางกลับจากการถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระอรหันต์ ได้ถูกงูพิษกัดตายแล้วไปเกิดใหม่เป็นเทพธิดา เมื่อรู้ว่าได้สมบัติเพราะบุญนั้น เทพธิดาจึงไปทำการรับใช้พระอรหันต์องค์นั้นถึงกุฎี เพื่อรักษาสมบัติที่ได้แล้วให้มั่นคงยิ่งขึ้น แต่พระอรหันต์เห็นว่าไม่เหมาะที่ผู้หญิงจะอยู่สองต่อสองกับพระ จึงแนะนำนางให้ทำบุญโดยวิธีอื่นที่ถูกต้องต่อไป 

        เหตุผลประการหนึ่งที่ศาสนาแนะให้ทำบุญคือความดีนั้น เพราะบุญสามารถบันดาลชีวิตผู้ทำให้เจริญได้ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ในพระไตรปิฎก ได้แสดงผลของบุญที่สะสมเป็นประจำจนเป็นกองบุญแล้วว่า สามารถบันดาลสิ่งที่ยากลำบากทุกอย่างได้นับตั้งแต่มีรูปงาม จนถึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ และบรรลุมรรคผลนิพพานในที่สุด คนที่มีรูปสวย รวยทรัพย์ นับวิชา มีมารยาท ชาติผู้ดี เป็นต้น ตามหลักศาสนาก็ถือว่ามีบุญเก่าส่งผลให้ทั้งสิ้น แม้แต่คุณสมบัติภายในของแต่ละบุคคล เช่น สติปัญญาที่เฉียบแหลม ความละอายชั่วกลัวบาป ความสามารถที่ดี เป็นต้นที่เป็นต้นทุนในการสร้างชีวิตในปัจจุบัน ก็เพราะบุญปรุงแต่งมาให้ ฉะนั้น บุญถึงแม้จะต้องฝืนใจทำบ้าง แต่คนจำนวนไม่น้อยก็ยินดีทำด้วยศรัทธา เพราะที่ใดที่มีคนมีบุญอาศัยอยู่มาก ๆ ที่นั้นย่อมมีแต่ความเจริญ ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข 

       เรื่องบุญบันดาลตามคัมภีร์ที่กล่าวมาอาจไม่ทันสมัย แต่เรื่องที่คนปัจจุบันเปลี่ยนชีวิตจากหน้ามือเป็นหลังมือเพราะถูกรางวัลที่ ๑ ก็ดี เรื่องของคนที่ตกระกำลำบากแล้วมีผู้ยื่นมือให้ความช่วยเหลือเป็นต้นก็ดี เหล่านี้ล้วนสะท้อนบุญบันดาลได้ทั้งสิ้น ฉะนั้น การสร้างบุญที่แต่ละคนมีความพร้อมทำแล้วมีความสุข จึงควรถือว่าทำเพื่อตนเองโดยแท้ ดังคำของพระที่ว่า “การสั่งสมขึ้นซึ่งบุญ นำความสุขมาให้”

ข้อคิดก่อนนอน


           การนอนเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ ในทางสรีรวิทยา ถือว่าเป็นอาการพักผ่อนของส่วนต่างๆ ของร่างกาย ถ้าไม่ได้นอนหรือ นอนไม่หลับ ร่างกายไม่ได้พักผ่อนก็จะทรุดโทรมเร็ว แต่ถ้านอนมากเกินพอดี ก็มีโทษอีก ในทางศาสนาสอนให้มอง ในแง่ปริศนาธรรมว่า

         เวลาคนเดิน ยืน นั่ง มักตั้งศีรษะขึ้นสู่ฟ้า อาจสูงต่ำกว่ากันได้บ้าง เป็นเครื่องหมายว่ามนุษย์ทุกคน ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง ตามฐานะของตน แต่ในที่สุดเวลานอนต้องเอนตัว ลงขนานกับพื้นดิน ศีรษะ อยู่ใน ระดับเดียว เท่ากันหมด   คล้ายกับจะสอนว่า เมื่อเวลามีชีวิตอยู่ ใครจะอยู่ในฐานะต่ำต้อย สูงเด่นเพียงไร ในที่สุดถึงเวลาตาย ต้องนอนราบกับพื้นเสมอกัน และไม่มีใครสูงกว่ากันต่อไปอีก

         อีกอย่างหนึ่ง เมื่อเวลาตื่นเรามักแบกเอายศศักดิ์ ตำแหน่งหน้าที่ ความกังวล ความอาฆาตพยาบาท ความระแวง และความกลัว ติดตัวไปในทุกหนทุกแห่ง แม้แต่ในมุ้ง   แต่พอหลับเข้าจริงๆ เราก็ทิ้ง สิ่งเหล่านั้น ได้ชั่วเวลานอน เช่นเดียวกับเวลามีชีวิต เราวิ่งไล่ ไขว่คว้า แบกยศ ตำแหน่ง ความระแวง และอาฆาตอยู่ตลอดมา พอถึงเวลาตาย ไม่เอาอะไรไปกับตัว แม้เพียงดอกบัวที่เขา ยัดเยียดให้ในมือ ก็ยังไม่ยอมกำ แม้ร่างกาย ของเราเอง ที่เคย ตีราคา ไว้สูงลิบ เมื่อถูกเผา เป็นเถ้าถ่าน ถ้าคิดเป็น สารมีราคา ก็จะได้เป็น พวกเกลือ และแคลเซี่ยม ขายได้จริง ไม่กี่สตางค์ แล้วจะเอา อะไรกันนักหนา

       ถ้าเวลานอนคิดได้อย่างนี้ทุกวัน บางทีจะช่วยลดปริมาณความกลัดกลุ้ม ว้าวุ่นใจจนนอนไม่หลับได้บ้าง ไม่มาก

วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ธัมมคารวาทิคาถา


หันทะ มะยัง ธัมมะคาระวาทิคาถาโย ภะณามะ เส
                เชิญเถิด เราทั้งหลาย จงกล่าวคาถาแสดงความเคารพพระธรรมเถิด
.............................................
เย จะ อะตีตา สัมพุทธา เย จะ พุทธา อะนาคะตา
โย เจตะระหิ สัมมพุทโธ ระหุนนัง โสกะนาสะโน
                      พระพุทธเจ้าบรรดาที่ล่วงไปแล้วด้วย ที่ยังไม่ตรัสรู้ด้วย
                      และพระพุทธเจ้าผู้ขจัดโศกของมหาชนในการบัดนี้ด้วย
สัพเพ สัทธัมมะคะรุโน วิหะริงสุ วิหาติ จะ
อะถาปิ วิหะริสสันติ เอสา พุทธานะธัมมะตา
                      พระพุทธเจ้าทั้งปวงนั้น ทุกพระองค์ เคารพพระธรรม ได้เป็นมาแล้วด้วย กำลัง เป็นอยู่ด้วย และจักเป็นด้วย  เพราะธรรมดา ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นเช่นนั้นเอง
ตัสมา หิ อัตตะกาเมนะ มะหัตตะมะภิกังขะตา
สัทธัมโม คะรุกาตัพโพ สะรัง พุทธานะสาสะนัง
                      เพราะฉะนั้น บุคคลผู้รักตน หวังอยู่เฉพาะคุณเบื้องสูง เมื่อระลึกได้ถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอยู่  จงทำความเคารพพระธรรม
นะ หิ ธัมโม อะธัมโม จะ อุโก สะมะวิปากิโน
                      ธรรม และ อธรรมจะมีผลเหมือนกันทั้งสองอย่าง หามิได้
อะธัมโม นิระยัง เนติ ธัมโม ปาเปติ สุคะติง
                      อธรรม ย่อมนำไปนรก ธรรม ย่อมนำให้สุคติ
ธัมโม หะเว รักขะติ ธัมมะจาริง
                      ธรรมแหละ ย่อมรักษา ผู้ประพฤติธรรมเป็นนิจ
ธัมโม สุจิณโณ สุขะมาวะหาติ
                      ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ตน
เอสานิสังโส ธัมเม สุจิณเณ
                      นี่เป็นอานิสงส์ ในธรรมที่ตนประพฤติดีแล้ว
.............................................

ภัทเทกะรัตตะคาถา

หันทะ มะยัง ภัทเทกะรัตตะคาถาโย ภะณามะ เส
เชิญเถิด เราทั้งหลาย จงกล่าวคาถาแสดงผู้มีราตรีเดียวเจริญเถิด
.............................................
อะตีตัง นานวาคะเมยยะ นัปปะฏิกังเข อะนาคะตัง
                      บุคคลไม่ควรตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ด้วยอาลัย และไม่พะวงถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง
ยะทะตีตัมปะหีนันตัง อัปปัตตัญจะ นาคะตัง
                      สิ่งเป็นอดีตก็ละไปแล้ว สิ่งเป็นอนาคตก็ยังไม่มา
ปัจจุปปันนัญจะ โย ธัมมัง ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสะติ
อสังหิรัง อะสังกุปปัง ตัง วิทธา มะนุพรูหะเย
                      ผู้ใดเห็นธรรมอันเกิดขึ้นเฉพาะหน้าในที่นั้นๆ อย่างแจ่มแจ้ง
                      ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้
อัชเชวะกิจจะมาตัปปัง โก ชัญญา มะระณัง สุเว
                      ความเพียรเป็นกิจที่ต้องทำวันนี้ ใครจะรู้ความตายแม้พรุ่งนี้
นะ หิ โน สัคะรันเตะ มะหาเสเนนะ มัจจุนา
                      เพราะความผัดเพี้ยนต่อมัจจุราชซึ่งมีเสนามาก ย่อมไม่มีสำหรับเรา
เอวัง วิหาริมาตาปิง อะโหรัตตะมะตันทิตัง
ตัง เว ภัทเทกะรัตโตติ สันโต จิกขะเต มุนิ
                      มุนีผู้สงบ ย่อมกล่าวเรียก ผู้มีความเพียรอยู่เช่นนั้น ไม่เกียจคร้าน
                      ทั้งกลางวัน กลางคืน ว่า “ผู้เป็นอยู่แม้เพียงราตรีเดียว ก็น่าชม”
.............................................

เจริญอภิณหปัจจเวกขณะ ๕ โดยสังเขป


หันทะ มะยัง อะภิณหะปัจจะเวกขณะปาฐะ ภะณามะ เส
                เชิญเถิด เราทั้งหลาย มาสวดอะภิณหะปัจจะเวกขณะปาฐะ กันเถิด
.............................................
ชะราธัมโมมหิ                                          เรามีความแก่เป็นธรรมดา
ชะรัง อะนะตีโต                                       เราจะล่วงความแก่ไปไม่ได้
พยาธิธัมโมมหิ                                          เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา
พยาธิงอะนะตีโต                                      เราจะล่วงความเจ็บไข้ไปไม่ได้
มะระณะธัมโมมหิ                                   เรามีความตายเป็นธรรมดา
มะระณัง อะนะตีโต                                เราจะล่วงความตายไปไม่ได้
สัพเพหิ เม ปิเยหิ มะนาเปหิ                  เราจะละเว้นเป็นต่างๆ คือว่าจะพลัดพรากจาก
นานาภาโว วินาภาโว                              ของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง
กัมมัสสะโกมหิ                                         เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน
กัมมะทายาโท                                           เป็นผู้รับผลของกรรม
กัมมะโยนิ                                                  เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด
กัมมะพันธุ                                                 เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
กัมมะปะฏิสะระโณ                                 เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
ยัง กัมมัง กะริสสามิ                                เราจักกระทำกรรมอันใดไว้
กัลยาณัง วาปาปะกัง วา                           เป็นบุญหรือเป็นบาป
ตัสสะ ทายาโท ภะวิสสามิ                      เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นๆ
เอวัง อัมเหหิ อะภิณหัง ปัจจะเวกขิตัพพัง   เราทั้งหลายพึงพิจารณาอย่างนี้ทุกๆ วันดังนี้
.............................................

ทวัตติสาการปาฐะ (อาการสามสิบสอง)


หันทะ มะยัง ทวัตติงสาการปาฐะ ภะณามะ เส
                เชิญเถิด เราทั้งหลาย จงกล่าวคาถาแสดงอาการ ๓๒ ในร่างกาย เถิด
.............................................
อะยัง โข เมกาโย                                      กายของเรานี้แล
อุทธัง ปาทะตะลา                                     เบื้องบน แต่พื้นเท้าขึ้นมา
อะโธเกสา มัสสะกา                                เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป
ตะจะปะริยันโต                                        มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ
ปูโร นานัปปะการัสสะ อะสุจิโน          เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ ดังนี้
อัตถิ อิมัสมิง กาเย                 ในร่างกายของเรานี้มี
เกสา                                ผมทั้งหลาย                                      โลมา                               ขนทั้งหลาย
นะขา                              เล็บทั้งหลาย                                     ทันตา                              ฟันทั้งหลาย
ตะโจ                               หนัง                                                   มังสัง                              เนื้อ
นะหารู                           เอ็นทั้งหลาย                                     อัฏฐี                                 กระดูกทั้งหลาย
อัฏฐิมิญชัง                     เยื่อในกระดูก                                   วักกัง                               ม้าม
หะทะยัง                         หัวใจ                                                  ยะกะนัง                         ตับ
กิโลมะกัง                       พังผืด                                                 ปีหะกัง                           ไต
ปัปผาสัง                         ปอด                                                   อันตัง                              น้ำดี
เสมหัง                            น้ำเสลด                                             ปุพโพ                             น้ำหนอง
โลหิตัง                            น้ำเลือด                                             เสโท                               น้ำเหงื่อ
เมโท                               น้ำมันข้น                                          อัสสุ                                น้ำตา
วะสา                               น้ำเหลือง                                          เขโฬ                               น้ำลาย
สิงฆาณิกา                      น้ำมูก                                                 ละสิกา                            น้ำไขข้อ
มุตตัง                              น้ำมูตร                                              มัตถะเก มัตถะลุงคัง    เยื่อสมองในกะโหลกศีรษะ
อิติ                                    ดังนี้
เอวะมะยัง โข เมกาโย                            กายของเรานี้อย่างนี้
อุทธัง ปาทะตะลา                                     เบื้องบน แต่พื้นเท้าขึ้นมา
อะโธเกสา มัสสะกา                                เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป
ตะจะปะริยันโต                                        มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ
ปูโร นานัปปะการัสสะ อสุจิโน            เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ อย่างนี้แล
.............................................

วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อัฏฐสิกขาปทาปาฐะ พร้อมแปล


หันทะ มะยัง อัฏฐะสิกขาปะทะปาฐัง ภะณามะ เส
                เชิญเถิด เราทั้งหลาย จงกล่าวคาถาแสดงสิกขาบท ๘ ประการ เถิด
.............................................
ปาณาติปาตา เวระมะณี                           เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการฆ่า
อะทินนาทานา เวระมะณี                       เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้แล้ว
อะพรัหมะจะริยา เวระมะณี                  เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการกระทำอันมิใช่พรหมจรรย์
มุสาวาทา เวระมะณี                                 เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดไม่จริง
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี                 เจตนเป็นเครื่องเว้นจากการดื่มสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งของความประมาท
วิกาลโภชะนา เวระมะณี                        เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล
นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนา มาลาคันธะวิเลปะนะ ธาระณะ มัณฑะนะ วิภูสะนัฏฐานา เวระมะณี
                                                                     เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการฟ้อนรำ การขับเพลง การดนตรี การดู การเล่นชนิดเป็นข้าศึกต่อกุศล การทัดทรงสวมใส่ การประดับ การตกแต่งตน ด้วยพวงมาลา ด้วยเครื่องกลิ่น และเครื่องผัดทา
อุจจาสะยะนะ มะหาสะยะนา เวระมะณี                      เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการนั่งนอนบนที่นอนสูง และที่นอนใหญ่ ดังนี้แล
.............................................


สรณคมนปาฐะ พร้อมแปล



หันทะ มะยัง ติสะระณะคะมะนะปาฐัง ภะณามะ เส
                เชิญเถิด เราทั้งหลาย จงกล่าวคาถาเพื่อระลึกถึงพระรัตนตรัย เถิด
.............................................
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ                          ข้าพเจ้าถือเอาพระพุทธเจ้า เป็นสรณะ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ                          ข้าพเจ้าถือเอาพระธรรม เป็นสรณะ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ                          ข้าพเจ้าถือเอาพระสงฆ์ เป็นสรณะ
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ          แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าถือเอาพระพุทธเจ้า เป็นสรณะ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ           แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าถือเอาพระธรรม เป็นสรณะ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ           แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าถือเอาพระสงฆ์ เป็นสรณะ
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ        แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าถือเอาพระพุทธเจ้า เป็นสรณะ
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ        แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าถือเอาพระธรรม เป็นสรณะ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ        แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าถือเอาพระสงฆ์ เป็นสรณะ
.............................................

คำบูชาพระรัตนตรัย


                โย โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ
                                พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น พระองค์ใด เป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
                สวากขาโต เยนะ ภะคะวะตา ธัมโม
                                พระธรรมเป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ใด ตรัสไว้ดีแล้ว
                สุปะฏิปันโน ยัสสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
                                พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด ปฏิบัติตนดีแล้ว
                ตัมมะยัง ภะคะวันตัง สะธัมมัง สะสังฆัง อิเมหิ สักกาเรหิ ยะถาระหัง อาโรปิเตหิ อะภิปูชะยามะ
                                ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอบูชาอย่างยิ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ ด้วยเครื่องสักการะทั้งหลายเหล่านี้ อันยกขึ้นตามสมควรแล้วอย่างไร
                สาธุ โน ภันเต ภะคะวา สุจิระปะรินิพพุโตปิ
                                ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ปรินิพพานนานแล้วทรงสร้างคุณอันสำเร็จประโยชน์ไว้แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย
                ปัจฉิมา ชะนะตานุกัมปะมานะสา
                                ทรงมีพระหฤทัยอนุเคราะห์แก่พวกข้าพเจ้า อันเป็นชนรุ่นหลัง
                อิเม สักกาเร ทุคคะตะปัญญาการระภูเต ปะฏิคคันหาตุ
                                ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงรับเครื่องสักการะ อันเป็นบรรณาการของคนยากทั้งหลายเหล่านี้
                อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
                                เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญ
.................................

เวลากับชีวิต


      บรรดาสิ่งมีค่าทั้งหลายในโลก ไม่มีอะไรที่จะมีค่าสูงสุดเท่ากับค่าของเวลา ของอื่นที่มีค่า เมื่อสูญหายไป อาจเอากลับคืนมาได้ แต่เวลานั้นถ้าเสียไปแล้วจะเอาคืนมาไม่ได้เลย  

       นักปราชญ์ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับชีวิตไว้ว่า คนเรานั้นถ้าถึงอายุครบ ๓ รอบ คือ ๓๖ ปี ยังไม่สามารถสร้างอนาคตที่แน่นอนให้กับตนเองแล้ว ก็เป็นการยากที่จะสร้างอนาคตขึ้นได้ อายุ ๓๖ ปีเป็นเกณฑ์แห่งการได้เสียของชีวิต ส่วนความสำเร็จอย่างอื่นในเวลาอื่นนอกจากนี้ท่านให้ถือว่าเป็นเรื่องตามมาภายหลัง ข้อสังเกตของนักปราชญ์นี้ แม้จะไม่ใช่สัจธรรมที่เป็นจริงกับคนทุกคนเสมอไป แต่อย่างน้อยก็ช่วยเตือนสติให้เร่งสร้างชีวิตแข่งกับเวลาได้ โดยพิจารณาหลักการสำคัญ ๒ ประการคือ 

       ๑. เร่งทำกิจ คือรีบเร่งขวนขวายในกิจที่ทำ งานที่รับผิดชอบ เพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัย ๔ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค เพื่อเลี้ยงชีพในโลกนี้อย่างมั่นคงและมีความสุขตามอัตภาพ

       ๒. พินิจความตาย เพราะการมุ่งแสวงหาปัจจัย ๔ ในเบื้องต้นนั้น ถึงจะได้มาอย่างสมบูรณ์พร้อมพรั่ง ก็หาใช่สาระแท้จริงของชีวิตไม่ อีกทั้งเอื้อประโยชน์ได้เฉพาะโลกนี้เท่านั้น จึงต้องพิจารณาให้เห็นว่า “มนุษย์ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ไม่ล่วงพ้นไปได้” แล้วรีบขวนขวายสร้างกุศลคุณงามความดีซึ่งเป็นสาระที่ยั่งยืนกว่า และเพื่อเป็นเสบียงในปรโลก ด้วยการดำรงชีวิตอย่างไม่ประมาท ละเว้นกรรมชั่ว ประกอบกรรมดี และทำจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ 

       เวลาแม้จะเป็นสิ่งมีคุณค่า แต่คุณค่าที่ว่านี้ก็มีเฉพาะผู้ที่รู้จักใช้เวลาเท่านั้น ส่วนผู้ที่ไม่รู้จักใช้เวลา แม้จะมีเวลามากมายเพียงใด ก็ใช้เวลานั้นเผาผลาญชีวิตให้สูญเปล่าโดยมิได้สร้างคุณประโยชน์อันใดให้เกิดขึ้นเลย ฉะนั้น ถ้าชีวิตก่อนหน้านี้ได้สูญเสียเปล่าโดยมิได้ทำประโยชน์แล้ว ก็พึงเร่งรีบทำประโยชน์ทั้งหลายให้ทันกับเวลาที่จะหมดไปโดยเร็วเถิด

วิธีคิดพิชิตทุกข์


      วิธีคิด คือ การทำงานของจิตอย่างหนึ่ง ทั้งนี้สุดแต่ใครจะกำหนดกรอบความคิดของตนไปทางใด กล่าวคือ เมื่อบุคคลประสบกับเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเขาใช้วิธีคิดที่มีโทสะเป็นพื้นฐาน เหตุการณ์นั้น ๆ ก็จะลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่โต นำโทษทุกข์มาให้ แต่ถ้าเขาใช้วิธีคิดอันมีเมตตากรุณาเป็นพื้นฐาน เหตุการณ์นั้น ๆ ก็จะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย สงบเย็น เกิดประโยชน์สุขขึ้นมาแทนที่ ในกรณีนี้มีเรื่องของลุงบุญเป็นอุทาหรณ์

       กาลครั้งหนึ่ง ลุงบุญอุ้มลูกชายวัย ๔ ขวบ ขึ้นรถยนต์โดยสารปรับอากาศเพื่อเดินทางไปทำธุระ ณ ที่แห่งหนึ่ง เมื่อขึ้นไปแล้วได้สังเกตเห็นเบาะว่างอยู่ที่หนึ่งจึงพาลูกไปนั่ง ขณะนั่งลงได้เบียดถูกชายคนหนึ่งซึ่งนั่งอยู่เบาะติดกัน ลุงบุญรีบกล่าวคำขอโทษ พอสิ้นเสียงคำขอโทษ ชายคนนั้นต่อยที่ต้นแขนของลุงบุญพร้อมพูดว่า "นี่น่ะขอโทษ" ลุงบุญทั้งเจ็บและโกรธ พยายามเปลี่ยนความโกรธให้เป็นความเมตตากรุณา คิดว่า "ชายคนนี้คงจะโกรธใครมา หรือมีเรื่องไม่สบายใจอยู่ก่อน พอถูกเราเบียดจึงระบายความโกรธใส่เรา เขาได้ต่อยเราแล้วคงจะสบายใจขึ้น" พอลุงบุญนึกมาถึงตรงนี้ ความโกรธและความเจ็บค่อย ๆ จางหายไป เกิดความสบายใจขึ้นแทนที่ ลุงบุญโดยสารรถคันนั้นไปถึงจุดหมายปลายทางโดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอะไรเกิดขึ้น

        ลุงบุญใช้วิธีคิดอันมีเมตตากรุณาเป็นพื้นฐาน ทำให้สามารถเอาชนะความโกรธและเกิดความสบายใจขึ้นมาแทนที่ สมจริงดังพระพุทธพจน์ว่า "โกธัง ฆัตวา สุขัง เสติ แปลว่า ฆ่าความโกรธได้ ย่อมอยู่เป็นสุข"
................................

วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555

คาถานมัสการพระพุทธสิหิงโค



บทสวดสรภัญญะ
หันทะ มะยัง พุทธะปะสังสา คาถาโย พุทธะสิหิงโค นามะ ภะณามะ เส
...........................................
อิติปะวะระสิหิงโต                         อุตตะมะยะโสปิ เตโช
ยัตถะ กัตถะ จิตโตโส                     สักกาโร อุปาโท
สะกาละพุทธะสาสะนัง                โชตะยันโตวะ ทีโป
สุระนะเรหิ มะหิโต                       ธะระมาโนวะ พุทโธติ
         พุทธะสิหิงคา                         อุบัติมา ณ แดนใด
ประเสริฐ ธ เกริกไกร                     ดุจกายพระศาสดา
         เป็นที่เคารพน้อม                   มนุษย์พร้อมทั้งเทวา
เปรียบเช่นชวาลา                            ศาสนาที่ยืนยง
         เหมือนหนึ่งพระสัมพุทธ    สุวิสุทธิ์พระชนม์คง
แดนใดพระดำรง                             พระศาสน์คงก็จำรูญ
         ด้วยเดชสิทธิศักดิ์                   ธ พิทักษ์อนุกูล
พระศาสน์บ่มีสูญ                            พระเพิ่มพูนมหิทธา
         ข้าฯ ขอเคารพน้อม                วจีค้อมขึ้นบูชา
พิทักษ์ ธ รักษา                                พระศาสน์มาตลอดกาล
         ปวงข้าฯ จะประกาศ              พุทธศาสน์ให้ไพศาล
ขอพระอภิบาล                                 ชินมารนิรันดร์ เทอญฯ
 .............................................

บทระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย


หันทะ มะยัง ระตะนะคุณัง กะโรมะ เส
...........................................
         อิมินา สักกาเรนะ                  ข้าขอน้อมสักการะบูชา
องค์สมเด็จพระศาสดา                   ผู้ทรงปัญญาและบารมี
ทรงสง่าด้วยราศี                              ประเสริฐเลิศดีมีพระคุณ
ทรงมีพระเมตตาเกื้อหนุน            แผ่บุญค้ำจุน ให้พ้นภัย
ท่านเป็นประทีปดวงสดใส            ให้กำเนิดรัตนตรัย ดวงงาม
องค์แห่งรัตนะ มีสาม                    ระบือนามไป ทั่วธานี
องค์พระพุทธชินศรี                       ตรัสรู้ชอบดีในพระธรรม
ชาวพุทธทุกคนจงจดจำ                  ช่วยกันแนะนำ ให้แพรไป
ทุกคนจะเกิดเลื่อมใส                      พระธรรมนำสุขใจ สถาพร
ผู้แนะนำซึ่งคำสอน                        คือศิษย์พระชินวร ทุกพระองค์
มวลหมู่พระภิกษุสงฆ์                    ได้ดำรงพระศาสนามา
ลูกขอก้มกราบวันทา                       พุทธศาสนาจงถาวร เทอญฯ
.............................................

บทระลึกถึงคุณบิดามารดา



หันทะ มะยัง ปิตามาตาคุณัง กะโรมะ เส
...........................................
         อิมินา สักกาเรนะ                  ข้าขอกราบสักการะบูชา
อันพระบิดรมารดา                         ผู้ข้าขอน้อมระลึกคุณ
ท่านมีเมตตาการุณ                          อุปการคุณต่อบุตรธิดา
ได้ให้กำเนิดลูกเกิดมา                    ทั้งการศึกษาและอบรม
ถึงแม้ลำบากสุดขื่นขม                   ทุกข์ระทมสักเพียงใด
ท่านไม่เคยจะหวั่นไหว                  ต่อสิ่งใดที่ได้เลี้ยงมา
พระคุณท่านล้นฟ้า                         ยิ่งกว่าธาราและแผ่นดิน
ลูกขอบูชาเป็นอาจิณ                       ตราบจนสิ้นดวงชีวา
ขอปวงเทพไท้ช่วยรักษา                พระบิดรมารดา ขอข้า เทอญ ฯ 
............................................

วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การยอม


           การยอม คือ การปรับความคิดเห็นให้เข้ากันกับผู้อื่น เป็นการผ่อนสั้นผ่อนยาว เข้าหากัน เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ในการปกครองชีวิต การทำงานร่วมกับผู้อื่นนั้น บางครั้งอาจมีความเห็นไม่ตรงกัน ถ้าต่างคน ต่างแข็ง เข้าหา กันแล้ว ก็ตกลงกันไม่ได้ พระพุทธศาสนา สอนเรื่องทิฐิสามัญญตา คือ ความเป็นผู้มีความคิดเห็นตรงกันไว้ ก็เพื่อจะให้ทุกคนปรับความคิดเห็นของตนให้เข้ากับ ความคิดเห็นของคนอื่นนั่นเอง

           ความเชื่อมั่นในความคิดเห็นของตัวเอง เป็นความคิดเห็นที่ประเสริฐ แต่บางครั้งก็ต้องพิจารณาว่าความเห็นของเรา ถูกต้องดี มีเหตุผลตรงกับความคิดเห็น ของคนส่วนมากหรือไม่ ถ้าพิจารณาดูแล้วเห็นว่า ความคิดเห็น ของเรามีเหตุผล สู้ของคนอื่นไม่ได้ ก็ต้องลดหย่อนผ่อนตาม เพราะคนส่วนมากเขาต้องการเช่นนั้น   ในกรณีเช่นนี้ก็ควรยอม แต่ถ้าเป็นความคิดเห็นที่ดี และถูกต้องก็ควรยับยั้งไว้ก่อน วันนี้ เขาอาจ จะยัง ไม่เห็นด้วย วันข้างหน้าโอกาสเหมาะ จังหวะให้ เขาอาจจะต้องพึ่งความคิดเห็นนั้น ของเราเข้าสักวันหนึ่งจนได้

           การยอมหรือการรู้จักอนุวัตความคิดเห็นตามคนอื่น เท่ากับการผ่อนสั้นผ่อนยาวเข้าหากัน เป็นคุณธรรมที่จะช่วยป้องกันการแตกร้าวขึ้น ในหมู่ผู้ร่วมงาน หากเราอวดดื้อถือรั้น ในขณะนั้น นอกจาก จะไม่ปฏิบัติ ตามคำสอน เรื่อง ทิฐิสามัญญตา ในพุทธศาสนาแล้ว ยังถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย คือ ถือเสียงข้างมาก เป็นประมาณอีกด้วย

...............................

Ten Great Tips For Each Day


1.Stay out of trouble จงหลีกห่างจากความยุ่งยาก เพราะถ้าตกลงไปแร้วมันขึ้นมาได้ยาก


2.Aim for greater heights. มองเป้าหมายให้สูงๆ หน่อย เผื่อเหนียวเอาไว้ พลาดไปเดี๋ยวเดือดร้อน (จะได้เจ็บน้อยหน่อย)


3.Stay focused on your job. ทำความชัดเจนในเป้าหมายของงานที่ทำ ผิดเป้าหมายแล้วจะเหนื่อย


4.Exercise to maintain good health. ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อสุขภาพ เพราะไม่มีใครช่วยเราได้


5.Practice team work. ต้องเล่นกันเป็นทีม เพื่อเสริมพลัง


6.Rely on your trusted partner to watch your back. Take your time trusting others. ให้เพื่อนร่วมงานที่ดีคอยช่วยสังเกตงานเราและเราก็แบ่งเวลาไปช่วยเพื่อนด้วย

วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ทหารหนุ่ม


ทหารหนุ่ม
       ข้อความต่อไปนี้น่าอ่านมาก อาจมีประโยชน์สำหรับหลายๆ คน จงอ่านซะนะ
       ทหารหนุ่มแอบหลงรักเจ้าหญิงเลอโฉม เขาตระหนักถึงความสูงส่งของเธอ เฉกเช่นเดียวกับที่ตระหนักถึงความต่ำต้อยของตน แต่เขายังรวบรวมความกล้า เดินเสี่ยงตายเข้าไปบอกเธอว่า"รัก"และจะอยู่บนโลกต่อไปโดยไม่มีเธอไม่ได้ 
         เจ้าหญิงผู้เป็นดวงใจตอบเขาว่า "ถ้าสามารถรอคอยอยู่ใต้ระเบียงห้องเธอได้ติดต่อกัน 100 วัน 100 คืน เธอจะเป็นของเขาตลอดไป" 
         ณ ใต้ระเบียง ทหารหนุ่มเฝ้ารอคอยอยู่ตรงนั้นวันแล้ววันเล่าคืนแล้วคืนเล่าโดยไม่ยอมขยับเขยื้อนกายไปไหน เขารอคอยในสายลมบาดผิว รอคอยในสายฝนกระหน่ำ รอคอยในความหนาวเหน็บของหิมะ วันแล้ววันเล่าคืนแล้วคืนเล่า โดยมีเจ้าหญิงของเขาเฝ้าดูอยู่  เธอเห็นหยาดน้ำตาของเขาพรูพรายเป็นสาย จนกระทั่งในคืนที่ 99 ทหารหนุ่มหยุดร้องไห้ หยุดรอคอย หยุดทุกอย่างไว้ แล้วหันหลังเดินจากไป...
เรื่องนี้ไม่มีตอนจบ แต่มีบางคำถาม บางคำตอบในใจ
ความรักของเธอกับเขาอาจจะเหมือนนาฬิกาทราย
เมื่อฝ่ายหนึ่งเริ่มหมดรักไปในใจอีกฝ่ายหนึ่งกลับรักขึ้นมาใหม่เต็มเปี่ยม
แต่บางทีทหารหนุ่มอาจตั้งใจแค่แสดงให้เห็นว่าเขารักเธอจริงแท้แค่ไหน
แค่พิสูจน์ให้เห็น แต่ไม่ต้องการ ครอบครองไว้ 
หรือบางทีเขาอาจเสียใจ ต้องตัดใจจากไปเพราะรักเขาถูกทำร้ายย่ำยี
หรือบางทีเป็นเจ้าหญิงเองที่เสียใจ
เพราะไม่เคยมีใครรักเธอได้อีกถึงเพียงนี้...
Created by : ปราย พันแสง
ต้องขออภัยเจ้าของเรื่องที่นำมาเผยแพร่โดยมิได้ขออนุญาติ  


นี่อาจเป็นข้อสรุปก็ได้
ความรัก เป็นสิ่งที่ออกแบบไม่ได้ 
ความรัก เป็นเรื่องที่บังคับใจกันไม่ได้ 
ความรัก ที่บริสุทธิ์ คือ การให้ ให้โดยที่ไม่หวังว่าจะได้อะไรตอบแทน 
แต่ในความเป็นจริงแล้ว 
ผู้ที่ให้มักจะหวังอยู่ลึกๆ ที่จะได้ความรักเป็นสิ่งตอบแทน.. เสมอ
และเมื่อได้ ความรัก กลับมาแล้ว
มีเพียงน้อยคนนักที่จะสามารถให้ในลักษณะนี้ได้ตลอดไป
ความอดทนอยู่คู่กับความรักไม่ได้
แต่ความเข้าใจต่างหากที่ควรเคียงคู่กันไป ถูกต้องที่ "เวลา"
เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะความรัก
การประคองให้รักกันได้ตลอดไป
เป็นสิ่งที่ยากกว่าการจะทำอย่างไรให้รักกัน เจ้าหญิงไม่ผิด และ
ทหารผู้นี้ก็ไม่ผิด เพียงแต่เวลาของ ความรัก ของสองคนนี้...
ไม่เท่ากันเท่านั้นเอง เราจะรู้ค่าของสิ่งของสิ่งหนึ่ง
เมื่อเราได้รู้ว่า เรา...
"ได้เสียมันไปแล้ว"